รองศาสตราจารย์ ดร.ถนอมพร เลาหจรัสแสง รักษาการผู้อำนวยการสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การจัดอันดับเว็บไซต์มหาวิทยาลัยโลก หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Ranking Web of Universities ซึ่งเป็นการจัดอันดับการชี้วัดคุณภาพการเผยแพร่ข้อมูลบนเว็บไซต์ของแต่ละมหาวิทยาลัย โดยมีการจัดอันดับทุกปีและประกาศผลปีละ 2 ครั้ง ในเดือนมกราคมและเดือนกรกฎาคม บนเว็บไซต์ webometrics.info ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดอันดับมากกว่า 20,000 แห่งทั่วโลก ซึ่งจากผลการจัดอันดับครั้งล่าสุดในรอบเดือนมกราคม พ.ศ.2560 นั้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่ที่อันดับ 4 ของประเทศ อันดับที่ 9 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันดับที่ 80 ของเอเชีย และอันดับที่ 609 ของโลก
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาเว็บไซต์ทั้งในทุกคณะและหน่วยงาน โดยได้มีการจัดประชุมหารือร่วมกับผู้พัฒนาเว็บไซต์เพื่อทำการพัฒนาเว็บไซต์ภายใต้ความรับผิดชอบให้ได้ตามมาตรฐานสากล ซึ่งในการจัดอันดับรอบล่าสุดนั้นได้มีเกณฑ์การชี้วัดคุณภาพทั้งหมด 4 ข้อ ได้แก่
Presence: คือการนับจำนวนเพจทั้งหมดบนเว็บไซต์ภายใต้โดเมน โดยอ้างอิงตัวเลขจาก Google ซึ่งรวมถึงไฟล์ PDF และไฟล์เอกสารอื่น ๆ ด้วย โดยคิดคะแนนเป็นร้อยละ 10
Impact: เป็นการใช้วิธีการวัด External Inlinks จากเว็บไซต์ที่ให้บริการข้อมูลการจราจรบนเว็บไซต์คือ ahrefs และ Majestic คิดคะแนนเป็นร้อยละ 50
Openness: ใช้วิธีการนับคะแนนจากบทความทางวิชาการที่มีการอ้างอิงจาก Google Scholar Citations คิดคะแนนเป็นร้อยละ 10
Excellence: คิดคะแนนจากฐานข้อมูล Scimago โดยเลือกเอาจากร้อยละ 10 ของผลงานตีพิมพ์ที่ถูกใช้ในการอ้างอิงผลงานทางวิชาการมากที่สุดโดยเลือกผลงานมาจากปี พ.ศ.2553- พ.ศ.2557 คิดคะแนนเป็นร้อยละ 30
โดยอันดับในแต่ละเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น อันดับ Presence อยู่ที่ 76 ของโลก Impact อยู่ที่ 339 ของโลก Openness อยู่ที่ 1931 ของโลก และ Excellence อยู่ที่ 988 ของโลก ในส่วนของ Presence และ Impact นั้นเป็นส่วนที่เกิดจากนโยบายและความต่อเนื่องในการให้ความสำคัญในการพัฒนาเว็บไซต์ที่ถูกต้องตามมาตรฐานและรองรับการใช้งานจากทุกอุปกรณ์ ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากทุกคณะและหน่วยงานในการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องตามมาตรฐานและมีความเป็นปัจจุบัน เนื่องจากเกณฑ์ของการจัดอันดับนั้นมีการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ รอบ สำหรับ Openness และ Excellence นั้น เกี่ยวข้องโดยตรงกับผลงานทางวิชาการที่ตีพิมพ์และอ้างอิงจากฐานข้อมูลมาตรฐานระดับนานาชาติ ซึ่งจากผลการจัดอันดับแสดงให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้นยังต้องการผลงานทางวิชาการเพื่อเผยแพร่บนฐานข้อมูลระดับนานาชาติอีกจำนวนมาก ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงต้องขอความร่วมมือกับคณาจารย์ทุกท่านในการสร้างผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพ เพื่อตีพิมพ์บนฐานข้อมูลระดับนานาชาติ โดยจะส่งผลให้ถูกนำไปใช้อ้างอิงและยังเป็นการยกระดับงานวิจัยในภาพรวมของมหาวิทยาลัย
รักษาการผู้อำนวยการสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในตอนท้ายว่า ผลจากการพัฒนาเว็บไซต์ตามเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าวทั้งหมด จะเห็นได้ว่าล้วนเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่สู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล แต่ทั้งหมดนี้จะสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้นเอง
*****************
ปชส.สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มช.-ข่าว/ภาพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น