All online

วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ข่าว ; เปิดงานตามรอยพ่อ “กษัตริย์เกษตร” ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้


มหาวิทยาลัยแม่โจ้เปิดงานตามรอยพ่อ “กษัตริย์เกษตร” ให้พสกนิกรได้เรียนรู้ศาสตร์ของพระราชา พร้อมประกาศเจตนารมณ์และมีส่วนร่วมสืบสานพระราชปณิธาน ตามรอยพ่อ กษัตริย์เกษตร กำหนดจัดระหว่างวันที่  19-25 กุมภาพันธ์ 2560 ณ  มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ นับเป็นงานสำคัญที่ให้พสกนิกรได้มีส่วนร่วมสืบสานพระราชปณิธาน น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พ่อหลวงของปวงชนชาวไทยที่ทรงงานเพื่อคนไทยมาตลอดเวลา 70 ปี โดยได้รับเกียรติจาก หม่อมหลวงปนัดดา  ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน  เมื่อวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 17.00  น.

ทั้งนี้ ก่อนประกอบพิธีเปิด ได้มีการขับเสภาถวายความอาลัยโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ต่อด้วยการร่วมกันยืนสงบนิ่งถวายความอาลัยเป็นเวลา 89 วินาที จากนั้น หม่อมหลวงปนัดดา  ดิศกุล ประธานในพิธีได้กล่าวสดุดีถวายพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กษัตริย์เกษตรของปวงชนชาวไทย พร้อมเปิด VTR เจ็ดทศวรรษ ใต้ร่มพระบารมีและเพลงรักพ่อไม่พอเพียง สำหรับกิจกรรมพิเศษในพิธีเปิดงานซึ่งสะกดให้ผู้เข้าร่วมพิธีเปิดงานอยู่ในภวังค์ คือได้รับชม VTR พร้อมรับฟังพระสุรเสียงและพระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล ที่พระองค์ทรงประกาศทฤษฎีใหม่ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตแม่โจ้  เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์  2538 ณ สถานที่ที่กระทำพิธีเปิดงานนั้นเอง

หม่อมหลวงปนัดดา  ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 7 ทศวรรษ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ทรงสร้างผลสัมฤทธิ์ให้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์กว่า 4,000 โครงการ พระองค์ทรงเห็นว่าทุกข์ของราษฎรคือทุกข์ของพระองค์ จึงทรงประกอบพระราชกรณียกิจเป็นอเนกประการ เพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่อาณาประชาราษฎร์ พระองค์ได้พระราชทานทฤษฎีใหม่เพื่อเป็นแนวทางให้แก่ราษฎรในการจัดการพื้นที่ทำกินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการพึ่งตนเองและเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมทั้งมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ และประสานงานกับแหล่งทุนในโอกาสต่อไป การจัดงานตามรอยพ่อ “กษัตริย์เกษตร” จึงถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญยิ่งของมหาวิทยาลัยแม่โจ้และจังหวัดเชียงใหม่ จึงขอชื่นชมคณะกรรมการดำเนินงานทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมส่งเสริมการสืบสานพระราชปณิธานด้วยการน้อมนำ "ทฤษฎีใหม่" อันเป็นศาสตร์พระราชาไปปฏิบัติให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ

ทางด้านนายกฤษณ์ ธนาวนิช  รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่  กล่าวว่า การจัดงาน ตามรอยพ่อ กษัตริย์เกษตร ที่จังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้จัดขึ้นในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่มีคุณค่าและมีความหมายต่อคนไทยทุกคน เนื่องจากเป็นการจัดงานเพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเป็นอเนกประการเป็นที่ประจักษ์แก่ชนทั่วโลก พระองค์จึงทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่รักยิ่งของพสกนิกร ในนามของจังหวัดเชียงใหม่ จึงพร้อมเชิญพสกนิกรทุกคนได้ร่วมกันปฏิบัติตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ในการน้อมนำศาสตร์พระราชา  “เกษตรทฤษฎีใหม่” ไปใช้เป็นแนวทางสร้างชีวิตและสร้างชาติไทยให้ยั่งยืนสืบไป

ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จำเนียร  ยศราช  อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า เป็นที่ประจักษ์กันแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์อย่างยาวนาน พระองค์ทรงตระหนักในเรื่องการเกษตรซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ เพื่อเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้จัดงาน “ตามรอยพ่อ กษัตริย์เกษตร” ทั้งในส่วนพื้นที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้และในส่วนของสำนักฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จำนวน 907 ไร่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยการจัดกิจกรรมที่แสดงถึงการสืบสานพระราชปณิธาน ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนรวมทั้งผู้สนใจทั้งภายในและภายนอกประเทศ ได้ศึกษาเรียนรู้เพื่อเป็นแนวทางนำไปปฏิบัติให้บังเกิดผล ภายในงานมีการจัดกิจกรรมสำคัญ คือ การเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  โดยได้รับการสนับสนุนจากจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมจัดกิจกรรมเพื่อร่วมกันสืบสานพระราชปณิธาน น้อมนำศาสตร์ของพระราชามาปรับใช้เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อภาคการเกษตรไทยอย่างยั่งยืน โดยมีการจัดกิจกรรมเป็น 5 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 การร่วมกันน้อมถวายการสักการะเทิดพระเกียรติและสืบสานพระราชปณิธาน “กษัตริย์เกษตร” ส่วนที่ 2 นิทรรศการ ซึ่งมีทั้งส่วนของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จำนวน 4  กลุ่มนิทรรศการ และนิทรรศการจากหน่วยงานภายนอก 6 กลุ่มนิทรรศการ  ส่วนที่ 3 แปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ที่เปิดให้ผู้สนใจเข้าไปศึกษาเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ มีวิทยากรบรรยายให้ความรู้ตลอดงาน  ส่วนที่ 4 การเสวนาและฝึกอบรม อาทิ การเสวนาเรื่อง “สืบสานพระราชปณิธานกษัตริย์เกษตร”  และส่วนที่ 5 ตลาดนัดสินค้าเกษตรปลอดภัย “กาดแม่โจ้ 2477”  เป็นการจำหน่ายสินค้าที่มีความหลากหลาย  มีคุณภาพและปลอดภัย  มีการกำหนดราคาที่เป็นธรรม เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรและชาวนา

มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีรากฐานทางการเกษตรที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ  ก่อตั้งมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2477 ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณสนองงานด้านต่าง ๆ  นับตั้งแต่ครั้งแรกที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จมายังแม่โจ้ และยังได้สนองงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการหลวง และโครงการในพระองค์อีกหลายโครงการ โดยเฉพาะด้านการเกษตร สืบเนื่องเรื่อยมา รวมถึงการน้อมนำศาสตร์ของพระราชามาใช้ในการเรียนการสอน มีหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาภูมิสังคมอย่างยั่งยืน ผลิตมหาบัณฑิตที่มีความรอบรู้ทั้งในด้านทฤษฎีและปฏิบัติ  เพื่อเผยแพร่ให้สังคมเรียนรู้พระราชปรัชญา แนวพระราชดำริของพระองค์ท่าน  อันนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ถือได้ว่ามหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกและแห่งเดียว ที่เปิดหลักสูตรที่น้อมนำองค์ความรู้ศาสตร์ของพระราชาอย่างเป็นรูปธรรม

*****************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น