All online

วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ข่าว ; เชียงใหม่เตรียมซ้อมใหญ่ รับมือแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม

จังหวัดเชียงใหม่เตรียมซ้อมเต็มรูปแบบเพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม ในพื้นที่ศูนย์กลางแผ่นดินไหว ที่อำเภอจอมทอง วันที่ 9 – 10 มีนาคม 2560 เน้นย้ำระบบบัญชาการ การเผชิญเหตุ และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

นายไพรินทร์ ลิ่มเจริญ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ได้สั่งการให้มีการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเตรียมรับมือแผ่นดินไหวเต็มรูปแบบ ซึ่งถือเป็นการฝึกซ้อมใหญ่ระดับจังหวัด โดยสถานการณ์สมมติความรุนแรง ระดับ 2 ขึ้น ที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม โดยกำหนดการฝึกซ้อมบนโต๊ะ (Table Top Exercises) วันที่ 7 มีนาคม 2560 และการฝึกเต็มรูปแบบ (Full Scale Exercises ) ในวันที่ 9 – 10 มีนาคม 2560 เพื่อเน้นย้ำระบบบัญชาการ การเผชิญเหตุ การบูรณาการหน่วยงาน โรงพยาบาลสนาม จุดอพยพและศูนย์พักพิงชั่วคราว

นายไพรินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะเกิดแผ่นดินไหวขึ้นบ่อยครั้ง การฝึกซ้อมจึงเป็นการเตรียมความพร้อมและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น จากสถิติการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างปี 2557 - 2560 โดยในปี 2557 ตลอดทั้งปี เกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสันทราย แม่วาง ดอยสะเก็ด และเชียงดาว รวมทั้งสิ้น 11 ครั้ง ในปี 2558 มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นทั้งหมด 9 อำเภอ คือ อำเภอพร้าว สันทราย แม่วาง ฝาง เวียงแหง แม่แจ่ม ดอยสะเก็ด สะเมิง และเชียงดาว รวม 22 ครั้ง ในปี 2559 เกิดแผ่นดินไหว ในพื้นที่ 11 อำเภอ ได้แก่ พร้าว สันทราย แม่วาง ฝาง ดอยสะเก็ด สะเมิง ฮอด ไชยปราการ จอมทอง ดอยหล่อ และเชียงดาว จำนวนทั้งสิ้น 39 ครั้ง ส่วนในปี 2560 ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคมเป็นต้นมา มีจำนวนครั้งของแผ่นดินไหวที่สามารถรู้สึกได้ทั้งหมด 101 ครั้ง ในพื้นที่ 8 อำเภอ คือ จอมทอง แม่วาง ดอยหล่อ สันทราย แม่แตง พร้าว ดอยสะเก็ด และ อำเภอเชียงดาว สำหรับพื้นที่อำเภอจอมทองมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น 43 ครั้ง อำเภอแม่วาง มีการสั่นไหว 40 ครั้ง ตรวจวัดได้สูงสุดอยู่ที่ระดับ 4.2 ซึ่งเกิดในพื้นที่อำเภอจอมทอง จึงเป็นที่มาของการฝึกซ้อมเตรียมแผน ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแผ่นดินไหวและอาคารถล่มระดับจังหวัดในครั้งนี้

ทางด้านนายอดิศร ฟุ้งขจร ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีกลุ่มรอยเลื่อนในบัญชีรอยเลื่อนหลักในประเทศไทย 14 กลุ่ม มีเพียง 2 รอยเลื่อนหลักที่วางตัวผ่านจังหวัดเชียงใหม่ คือ รอยเลื่อนแม่จัน และรอยเลื่อนแม่ทา ที่มีความเชื่อมโยงกันโดยกลุ่มรอยเลื่อนแม่วางและจอมทอง ไม่อยู่ในบัญชีของรอยเลื่อนหลัก เป็นเพียงบริวารของกลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา เป็นกลุ่มรอยเลื่อนย่อยที่มีพลังแต่ไม่ถึงขนาดทำลายล้างรุนแรงเหมือนแผ่นดินไหวที่เกิดจากรอยเลื่อนหลัก ส่วนใหญ่จะไม่เกินระดับ 3 ปรากฏการณ์ที่ผ่านมา 2-3 เดือน เป็นการปลดปล่อยระบายพลังงานของรอยเลื่อนบริวารออกมาในลักษณะของแผ่นดินไหวขนาดเล็ก เพื่อผ่อนคลายพลังที่เก็บไว้นานครั้งละเล็กละน้อย ผลกระทบจะไม่รุนแรงเหมือนรอยเลื่อนหลัก

“อย่างไรก็ตาม ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงแผ่นดินไหวมากที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากมีอยู่ 9 กลุ่มรอยเลื่อนจากบัญชี 14 กลุ่มรอยเลื่อนหลักในประเทศไทย โดยเกินกว่าร้อยละ 60 กระจายอยู่ในพื้นที่ จึงควรได้รับการสนับสนุนอย่างยิ่งในการที่จะรับมือแผ่นดินไหว เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่” นายอดิศรกล่าว

********************
ส.ปชส.เชียงใหม่-ข่าว/ภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น