นายทนงศักดิ์
กัลยา ไวยาวัจกรวัดพระนอนหนองผึ้ง ต.หนองผึ้ง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ แจ้งว่า ในวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2559 นี้ พระครูพุทธไสยาภิรักษ์ เจ้าอาวาสพร้อมคณะสงฆ์ คณะศรัทธาประชาชน กำหนดจัดงานประเพณีสรงน้ำพระพุทธไสยาสน์
(พระพุทธป้านปิง) เนื่องจากวัดพระนอนหนองผึ้งเป็นวัดเก่าแก่มาแต่โบราณกาล
มีปูชนียสถานเป็นที่เคารพบูชาของพุทธศาสนิกชนมายาวนาน คือองค์พระนอน
ที่มีความสวยงามมากที่สุดของภาคเหนือ และมีองค์พระเจ้าทันใจ (ปางมารวิชัย)
ที่สร้างคู่กับพระนอน ซึ่งเมื่อถึงเดือน 8 เป็งเหนือ (ขึ้น 15
ค่ำเดือน 8 เหนือ หรือเดือน 6 ของทั่วไป) ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา
สาธุชนก็จะได้ร่วมกันทำบุญสรงน้ำพระนอน องค์พระเจดีย์ และพระเจ้าทันใจเช่นนี้เป็นประจำและต่อเนื่องมาช้านาน
สำหรับกำหนดการจัดงานประกอบด้วย วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม 2559 จัดเตรียมอาคารสถานที่ เจริญทักษิณานุปทาน ถวายสักการะพระนอน
และพระเจ้าทันใจ วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2559 เวลา 06.00 น. พระภิกษุสามเณร ออกรับบิณฑบาต เวลา 09.29 น. เริ่มประกอบพิธี พระสงฆ์ 99 รูป เจริญพระพุทธมนต์สืบชาตาหลวง ถวายน้ำสรงพระนอน
พระเจดีย์ และพระเจ้าทันใจ เวลา 11.30 น.ถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ และเปิดโรงทาน เวลา 19.00 น. พิธีเวียนเทียนรอบพระวิหารพระนอน-รอบพระเจดีย์ และรอบซุ้มพระเจ้าทันใจ เวลา 20.00 น. ฟังการสวดเบิก
เสร็จแล้วมีการแสดงวัฒนธรรมฟ้อนย้อนยุคสมโภช ทั้งนี้ ตลอดทั้งวันเปิดให้พุทธบริษัท
สาธุชนได้สักการะและสรงน้ำพระนอน
และแจกน้ำพระพุทธมนต์-น้ำสรงพระนอนกลับไปสักการบูชาที่บ้านอีกด้วย
นอกจากพระนอนหนองผึ้ง และพระเจ้าทันใจศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างใน
พ.ศ.1200 ที่มีอายุกว่าพันปีแล้ว ที่วัดนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น “ชัยศีลพุทธภิรักษ์” อยู่ในอาคารชั้นเดียว เนื้อที่จัดแสดง 120 ตารางเมตร
ภายในมีตู้เก่าโบราณจัดแสดงวัตถุ 5 ตู้
จัดแสดงเศษชิ้นส่วนพระพิมพ์ดินเผาที่ได้จากเวียงกุมกาม นอกอาคารเป็นศาลาโถงจัดวางของชิ้นใหญ่
ๆ เช่น รูปจำลองเจดีย์ทำด้วยหินทราย เศียรพระพุทธรูป ฐาน-ชิ้นส่วนองค์พระพุทธรูปหินทราย
ครกหิน ไหหิน ไม้แกะสลัก สัตตภัณฑ์รูปพญานาค ไม้แกะสลักประดับประดากระจกจีน
รวมทั้งเครื่องปั้นดินเผาโบราณ ขันโตกไม้ แผ่นทองจังโก เป็นต้น
โดยโบราณวัตถุส่วนใหญ่ได้มาจากเวียงกุมกาม
เนื่องจากบ้านหนองผึ้งอยู่ติดกับเวียงกุมกาม ซึ่งพระครูชัยศีลวิมล
อดีตเจ้าอาวาสได้รับมอบจากชาวบ้านมาตั้งแต่เมื่อประมาณ 60 ปีที่ผ่านมา
และได้เก็บรักษาไว้อย่างดี เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ชมและศึกษาค้นคว้า
******************
บุญญฤทธิ์ ตุลาพันธ์พงศ์ - ข่าว/ภาพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น