All online

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ข่าว ; ความเข้าใจผิด 10 ประการ ยับยั้งการเลิกสูบบุหรี่

เนื่องในโอกาสวันรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ประจำปี 2559 กำลังจะเวียนมาถึงอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ได้เผยแพร่ข้อมูลเรื่อง 10 ความเข้าใจผิด ที่ทำให้ไม่เลิกสูบบุหรี่ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ
            ผศ.กรองจิต วาทีสาธกกิจ ที่ปรึกษาด้านการเลิกสูบบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า จากการเดินสายให้คำแนะนำช่วยเลิกสูบบุหรี่ให้แก่ผู้สูบบุหรี่ที่ผ่านมากว่ายี่สิบปี พบว่าผู้สูบบุหรี่จำนวนมากมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการที่ไม่ตัดสินใจเลิกสูบบุหรี่ที่พบบ่อย 10 ประการ ประกอบด้วย
            ประการแรกเข้าใจผิดว่าสูบวันละไม่กี่มวน คงไม่เป็นไร แต่ความจริง แม้แต่สูบวันละ 1 ถึง 4 มวน ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคร้ายแรง เช่น โอกาสเกิดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 2.79 เท่า โอกาสเกิดโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 2.74 เท่า
            ความเข้าใจผิดว่า สูบมานานแล้ว หากเลิกสูบจะเป็นอันตราย ความจริงคือ ไม่ว่าจะสูบบุหรี่มานานเท่าไรแล้วก็ตาม การเลิกสูบจะทำให้สุขภาพดีขึ้น และไม่มีอันตรายใด ๆ
            ความเข้าใจผิดว่า สูบมานานแล้ว การเลิกสูบทันที โดยการหักดิบร่างกายจะช็อคและเป็นอันตรายถึงตายได้ ความจริง การเลิกทันที หรือที่เรียกว่าเลิกโดยการหักดิบ อาจจะทำให้เกิดอาการอยากบุหรี่ หรือเสี้ยนบุหรี่มากในบางคน แต่จะไม่มีอันตรายต่อร่างกาย และอาการเสี้ยนบุหรี่จะค่อย ๆ หายไปในแต่ละวันที่ผ่านไป จนหมดไปในเวลาไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ในผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่
            ความเข้าใจผิดว่า สูบมานานแล้ว อายุมากแล้ว คงช้าเกินไปที่จะเลิกสูบ ความจริงคือ ไม่มีคำว่าช้าเกินไปที่จะเลิกสูบ เพราะหากสามารถเลิกสูบเมื่อไร ร่างกายก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น ไม่ว่าจะสูบมาแล้วนานเท่าไรก็ตาม
            ความเข้าใจผิดว่า สูบมานานแล้ว อวัยวะต่างๆภายในคงเสียหายไปมากแล้ว เลิกสูบไปก็ไม่มีประโยชน์ ความจริงคือ ทันทีที่คุณเลิกสูบ ร่างกายจะเริ่มซ่อมแซมตัวเอง แม้คุณจะเริ่มเป็นโรคแล้วการเลิกสูบบุหรี่ก็จะทำให้อาการของโรคทุเลาลงเรื่อยๆ
            ความเข้าใจผิด คิดว่าสูบบุหรี่ยาเส้นมวนเอง อันตรายน้อยกว่า คงไม่เป็นไร ความจริงคือ การสูบยาเส้นก็มีอันตรายไม่น้อยกว่าการสูบยาซองหรือบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงาน เนื่องจากสารก่อมะเร็งมีอยู่ตามธรรมชาติในใบยาสูบ
            ความเข้าใจผิดว่า การสูบบุหรี่ก้นกรอง คงจะเป็นอันตรายไม่มาก ความจริง ก้นกรองของบุหรี่นั้นกรองได้เพียงเขม่า แต่ไม่สามารถกรองสารพิษและสารก่อมะเร็งที่เป็นควันได้
            ความเข้าใจผิดว่า แม้จะสูบบุหรี่แต่ก็ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และระวังเรื่องอาหาร คงจะช่วยลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ลงได้บ้าง ความจริง เป็นคนละเรื่องกัน ไม่มีอะไรที่จะลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ได้
            เข้าใจว่า ถ้าหากไม่มียาที่ช่วยในการเลิก คงจะไม่ประสบความสำเร็จในการเลิกสูบบุหรี่ ความจริงคือ คนไทยที่เลิกสูบบุหรี่ได้แล้ว 4.6 ล้านคน ประมาณ 90 % ใช้วิธีเลิกด้วยตนเองโดยไม่ต้องใช้ยาช่วย
            ความเข้าใจผิด กลัวว่าเลิกสูบบุหรี่แล้วจะน้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้น ความจริงแล้วใช่ว่าคนที่เลิกสูบบุหรี่จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเสมอไป หากควบคุมอาหารและออกกำลังกาย ก็จะสามารถควบคุมน้ำหนักได้
ทั้งนี้ หลักฐานการวิจัยพบว่าครึ่งหนึ่งของผู้สูบบุหรี่ระยะยาวในประเทศรายได้สูง และหนึ่งในสามของผู้สูบบุหรี่ในประเทศรายได้ปานกลาง จะป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลาจากการสูบบุหรี่ ขณะที่การเลิกสูบบุหรี่จะเกิดผลดีต่อสุขภาพในเวลาอันสั้น โดยโอกาสหัวใจวายและเกิดโรคเส้นเลือดสมองเฉียบพลันหรือโรคลมปัจจุบันจะลดลงครึ่งหนึ่งหลังจากเลิกบุหรี่ได้หนึ่งปี และการติดตามศึกษาระยะยาวยังพบว่า ผู้สูบบุหรี่ที่เลิกสูบเมื่ออายุ 30 ปี จะได้กำไรจากการมีอายุยืนขึ้นสิบปีในอนาคตเทียบกับการไม่เลิกสูบ ผู้ที่เลิกสูบบุหรี่เมื่ออายุ 40 ปี จะมีอายุยืนขึ้นเก้าปี ผู้ที่เลิกสูบเมื่ออายุ 50 ปี อายุยืนขึ้นหกปี และแม้แต่เลิกเมื่ออายุ 60 ปี อายุก็ยังจะยืนขึ้นถึงสามปี ดังนั้นจึงขอให้กำลังใจให้ผู้สูบบุหรี่ทุกคนลงมือเลิกบุหรี่ในโอกาสวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ นอกจากนั้น ข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อ พ.ศ.2554 ยังพบว่า ร้อยละ 90 ของคนไทย 4.6 ล้านคนที่เลิกสูบบุหรี่ได้ ใช้วิธีเลิกด้วยตนเอง ดังนั้นเชื่อว่าหากมีความตั้งใจที่จะเลิกจริง ๆ แล้ว ทุกคนก็จะประสบความสำเร็จในการเลิกสูบบุหรี่ได้
**********************

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ – ข่าว/ภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น