All online

วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ข่าว ; มช. ส่งออกงานวิจัยพลังงานทดแทนสู่อาเซียน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและเป็นผู้นำด้านพลังงานทดแทนในภูมิภาคอาเซียน ที่นอกจากจะวิจัยคิดค้นผลงานด้านพลังงานทดแทนเพื่อใช้ในประเทศแล้ว  ยังส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน และกลุ่มอาเซียน+3 อีกด้วย เพื่อเป็นการต่อยอดและขยายนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีพลังงานทดแทนของไทยให้ก้าวไกลและเป็นประโยชน์ต่อประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับโครงการด้านพลังงานทดแทนที่ดำเนินการในระดับภูมิภาคอาเซียนของสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วย
โครงการความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการผลิตก๊าซชีวภาพในประเทศฟิลิปปินส์ เป็นโครงการที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมมือกับ Alternaverde Corp. บริษัทตัวแทนจากประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งดำเนินกิจการเกี่ยวกับเทคโนโลยีปศุสัตว์ ทั้งเรื่องอาหารสัตว์ และยารักษาโรค โดย Alternaverde Corp. เลือกใช้เทคโนโลยีก๊าซชีวภาพแบบ CMU-CD (Chiangmai University Channel Digester) ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ออกแบบคิดค้นและเข้าไปสำรวจ ออกแบบ และคอยตรวจสอบความถูกต้องของการก่อสร้าง พร้อมติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพ รวมถึงมีการอบรมการปฏิบัติงานเกี่ยวกับระบบก๊าซชีวภาพ เพื่อให้เทคโนโลยีก๊าซชีวภาพเป็นที่แพร่หลายในประเทศฟิลิปปินส์ต่อไป
โครงการความร่วมมือกับคณะกรรมการองค์การพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน (SEDA) ประเทศมาเลเซีย เป็นเรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านก๊าซชีวภาพในโซนภาคตะวันออกของประเทศมาเลเซีย โดยให้สถาบันฯ นำเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพเข้าไปติดตั้งและเป็นที่ปรึกษาให้ จำนวน 2 แห่ง ที่รัฐ Jahor และ Kuala Lumpur ซึ่งคาดว่าปีนี้จะดำเนินการติดตั้งระบบเพิ่มเติมอีก 4 แห่ง มีกำลังการผลิตรวม 5 เมกกะวัตต์
โครงการความร่วมมือกับกระทรวงพลังงานลาวและธนาคารโลก (WORLD BANK) สร้าง ไบโอแก๊สแห่งแรก ของสปป.ลาว ซึ่งจากนโยบายการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากธนาคารโลก (WORLD BANK) ให้การดำเนินงานโครงการสร้างไบโอแก๊สต้นแบบแห่งแรกของประเทศ ภายใต้ชื่อโครงการ Detailed Project Reports for implementation of Biogas based Power Generation Units at selected large pig farms  โดย UD ฟาร์ม ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ให้เข้าร่วมโครงการสร้างระบบก๊าซชีวภาพ โดยมี สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่ปรึกษาและให้ความรู้ในการสร้างระบบก๊าซชีวภาพ แบบ CMU-CD (Chiangmai University Channel Digester) ขนาด 2,500 ลูกบาศก์เมตร สามารถรองรับสุกรขุนได้ 20,000 ตัว หรือ 5,000 แม่ รองรับน้ำเสียได้ 500 ลูกบาศก์เมตร สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้สูงสุด 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ช่วยให้ฟาร์มแห่งนี้สามารถลดต้นทุนด้านพลังงาน ช่วยให้การบำบัดน้ำเสียของฟาร์มมีประสิทธิภาพ ลดปัญหากลิ่นเหม็นจากระบบบำบัดน้ำเสียแบบเดิม ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อน ตอบโจทก์ความต้องการการนำกระแสไฟฟ้าที่ผลิตไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม และสร้างมูลค่าอย่างมหาศาลตลอดการประกอบกิจการ และฟาร์มแห่งนี้จะเป็นฟาร์มต้นแบบแห่งแรกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในการเผยแพร่องค์ความรู้ระบบก๊าชชีวภาพให้แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ ได้อย่างยั่งยืน
โครงการความร่วมมือการส่งเสริมพลังงานทดแทนในประเทศพม่า ระหว่าง บริษัท RED HORSE DAIRY INDUSTRIES LIMITED, MYANMAR และสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกี่ยวกับการดำเนินงานด้านพลังงานทดแทน โดยการออกแบบระบบก๊าซชีวภาพขนาด 1,000 ลูกบาศก์เมตร พร้อมติดตั้งเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพจากมูลโคให้กับทางบริษัทฯ สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ปริมาณ 140,250 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ณ เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า และมีแนวทางที่จะพัฒนาพลังงานทดแทนอื่นๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกันต่อไป
*********************

ปชส.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ – ข่าว/ภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น