จากสภาพอากาศในช่วงฤดูฝนที่มีความเย็นและชื้น เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เร่งประชาสัมพันธ์ให้คำแนะนำ ความรู้
และวิธีการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก โดยเฉพาะสถานศึกษาหรือศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งมีเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก
หากสงสัย ให้รีบพาไปพบแพทย์และให้หยุดเรียน พร้อมแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่เพื่อควบคุมป้องกัน
นายแพทย์ไพศาล ธัญญาวินิชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า
โรคมือ เท้า ปาก มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส ซึ่งสามารถติดต่อกันได้จากการสัมผัสกับน้ำมูก
น้ำลาย น้ำในตุ่มพองหรือแผลของผู้ป่วย และอุจจาระของผู้ป่วย โดยอาการป่วยจะเริ่มจากมีไข้
มีตุ่มแดงขึ้นในปาก มักพบที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ทำให้เจ็บปาก ไม่อยากรับประทานอาหาร
ทั้งนี้ยังอาจพบตุ่มขึ้นที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า ที่ก้นหรือหัวเข่าได้เช่นกัน
อาการของตุ่มมักไม่คันแต่ถ้ากดจะเจ็บ ต่อมาตุ่มจะแตกเป็นหลุมตื้นๆ แล้วอาการจะดีขึ้นและแผลหายไปภายใน
7-10 วัน
สำหรับเด็กที่มีโอกาสป่วยโรคนี้มักพบในกลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ปี และมักพบในสถานที่เด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น
สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาล โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่ถูกสุขลักษณะและอยู่กันอย่างแออัด
ซึ่งโรคนี้ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีนป้องกัน เมื่อป่วยแล้วส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 99
อาการจะหายได้เองภายใน 7-10 วัน การรักษาจะเน้นเพื่อบรรเทาอาการอื่น
เช่น การให้ยาลดไข้ ยาทาแก้ปวดแผลที่ลิ้น และกระพุ้งแก้ม
ผู้ดูแลเด็กควรเช็ดตัวลดไข้เป็นระยะ และให้เด็กรับประทานอาหารอ่อน รสไม่จัด ดื่มน้ำ
น้ำผลไม้หรือไอศครีมเย็นๆ แล้วให้นอนพักผ่อนมากๆ ถ้าเป็นเด็กอ่อนอาจต้องป้อนนมแทนการดูดนมเพื่อลดการปวดแผลในปาก
ที่สำคัญคือการป้องกันอาการแทรกซ้อนที่อาจรุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกไปจนถึงเสียชีวิต
ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังของงานระบาดวิทยาฝ่ายควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ รายงานผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ในปี 2558 พบจำนวน 1,536 ราย และในปี
2559 ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2559 พบจำนวน 478 ราย มีผู้ป่วยเสียชีวิต 1 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ
0-4 ปี รองลงมาคือ 5-9 ปี และ 10-14
ปี โดย 3 อำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอสันทราย
และอำเภอแม่ริม ตามลำดับ
ส่วนวิธีที่ลดการเจ็บป่วยจากโรคนี้ดีที่สุดคือการป้องกัน
โดยการรักษาความสะอาดร่างกาย ตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือด้วยน้ำสบู่บ่อย ๆ
โดยเฉพาะหลังการขับถ่ายและก่อนรับประทานอาหาร รวมทั้งใช้ช้อนกลาง และไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน
หากพบเด็กในโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก ป่วยด้วยโรคมือเท้าปาก
ต้องแยกออกจากกลุ่มเพื่อน ให้พักที่บ้านเป็นเวลา 1 สัปดาห์ และให้ทำความสะอาดพื้นห้องน้ำ สุขา เครื่องใช้ ของเล่น
สนามเด็กเล่น ตลอดจนเสื้อผ้าที่อาจปนเปื้อนเชื้อ โดยขอรับการสนับสนุนน้ำยาฆ่าเชื้อไวรัสได้จากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
ส่วนกรณีพบเด็กป่วยในห้องเรียนเดียวกันมากกว่า 2 คน ทางโรงเรียนสามารถพิจารณาปิดเรียนในชั้นดังกล่าวเป็นเวลา
5 วัน หรือหากพบเด็กป่วยที่ไม่ใช่ห้องเรียนเดียวกันก็พิจารณาปิดโรงเรียนหรือสถานศึกษาเป็นเวลา
5 วัน และทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคดังกล่าว หากผู้ปกครองสังเกตเห็นลูกที่ป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก
อาการไม่ดีขึ้น ยังมีไข้สูง ซึม อาเจียนบ่อย ๆ หายใจหอบ แขนขาอ่อนแรง
ไม่รับประทานอาหารและดื่มน้ำ ขอให้รีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่กล่าวในที่สุด
*******************
ประชาสัมพันธ์ สสจ.เชียงใหม่ – ข่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น