สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจัดประชุมระดมความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน
เพื่อนำไปสู่การพัฒนายกระดับคุณภาพการศึกษาเขตพื้นที่สูงจังหวัดชายแดนภาคเหนือ
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการยกระดับคุณภาพการศึกษาเขตพื้นที่สูงจังหวัดชายแดนภาคเหนือ
ที่โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 17-20 มิถุนายน 2559 โดยผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วยผู้อำนวยการ
รองผู้อำนวยการเขตด้านศึกษานิเทศก์ จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ทั้ง 6
เขต เชียงรายเขต 2 แม่ฮ่องสอนเขต 1 และเขต 2 ตากเขต 2
และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 34 รวม 11 เขตการศึกษา จำนวน 600 คน
สืบเนื่องมาจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งมีนโยบายพัฒนาการอ่านออกเขียนได้ตามนโยบายของรัฐบาล
ให้นักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 สามารถอ่านออกเขียนได้ จึงกำหนดให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาติดตามช่วยเหลือดูแลโรงเรียนอย่างใกล้ชิด
พร้อมประเมินการอ่านการเขียนอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ในปีการศึกษา
2558 ที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาไทย เร่งรัดให้ผู้บริหารโรงเรียนกำกับนิเทศการเรียนการสอนของครู
ส่วนครูผู้สอนภาษาไทยก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีสอน โดยเสนอแนวทางการสอนแบบแจกลูกสะกดคำ
การจัดการเรียนรู้ตามหลักพัฒนาการทางสมอง ดำเนินโครงการพลิกโฉมโรงเรียน ป.1
อ่านออกเขียนได้ใน 1 ปี
แต่จากผลการประเมินการอ่านการเขียนภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่
1 ปีการศึกษาที่ผ่านมา มีนักเรียนผ่านการประเมินทั่วประเทศ ร้อยละ 96.06
อยู่ในระดับปรับปรุงร้อยละ 3.94 ประกอบกับผลการประเมินการทดสอบระดับชาติ O-NET มีคะแนนอยู่ในระดับต่ำเช่นเดียวกัน
โดยเฉพาะนักเรียนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และภาคเหนือ สพฐ.จึงเล็งเห็นว่าควรที่จะได้แสวงหาความร่วมมือในการพัฒนาจากทุกภาคส่วนคือครอบครัว
ชุมชนทิ้งถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและในระดับจังหวัด รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
เข้ามาสนับสนุน ช่วยเหลือ และร่วมจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับสภาพของผู้เรียนในพื้นที่ของตนเองได้อย่างแท้จริง
จริงจังและจริงใจต่อการแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่
การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อร่วมกันวิเคราะห์ผลการประเมินดังกล่าว
นำไปสู่การกำหนดแผนงานโครงการพัฒนายกระดับคุณภาพการศึกษาชายแดนภาคเหนือตามแนวพระราชดำริ
เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา โดยเฉพาะการเข้าใจภาษาไทยเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
เพราะเมื่อนักเรียนสามารถอ่านออกเขียนได้และเข้าใจภาษาไทยแล้ว
จะนำไปสู่การเรียนการสอนวิชาอื่นได้ผลเป็นอย่างดี เพราะจะสามารถอ่าน เขียน และทำความเข้าใจเนื้อหาสาระของแต่ละวิชา
นำไปสู่การคิด วิเคราะห์ หาเหตุหาผล
และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในทุกๆเรื่องทุกวิชาได้
ทั้งนี้
นอกจากแนวทางการพัฒนาภาษาไทยแล้ว การประชุมครั้งนี้ยังเป็นการทำความเข้าใจกับแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา
เพื่อนำไปสู่การร่วมกันศึกษาข้อมูลเชิงลึกเพื่อหาแนวทางพัฒนาโรงเรียนแต่ละแห่งอย่างหลากหลายรูปแบบ
โดยเฉพาะการพัฒนาการเรียนการสอนในพื้นที่สูงของจังหวัดชายแดนภาคเหนือ
เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความสามารถที่เข้มแข็ง
เป็นหลักสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองสืบไป
***********************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น