มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รณรงค์งดใช้โฟมบรรจุอาหารต่อเนื่อง โดยส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติ เพื่อสุขภาพดีและรักษาสิ่งแวดล้อมตามนโยบาย Green and Clean
Campus
รองศาสตราจารย์ ดร. ธนารักษ์ สุวรรณประพิศ
รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เพื่อป้องกันผลกระทบจากการใช้โฟมบรรจุอาหาร
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้จัดทำโครงการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปลอดโฟม 100 % ขึ้น โดยการกำหนดไม่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากโฟมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เริ่มตั้งแต่แผนพัฒนาของมหาวิทยาลัย ระยะที่ 11 คือ ปี 2555
จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ที่ 4 ว่าด้วยการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมประเพณีไทย ท้องถิ่นล้านนาและกลุ่มชาติพันธุ์
และอีกเรื่องที่สำคัญที่สุดคือ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ซึ่งเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตระหนักและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในขณะเดียวกันยุทธศาสตร์นี้ก็มีตัวชี้วัดและเป้าหมายที่ชัดเจน
อีกทั้งยังมีกลยุทธ์หนึ่งที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดำเนินงาน คือ
การรณรงค์จัดกิจกรรมสร้างจิตสำนึกแก่ประชากรของมหาวิทยาลัย
ในการรักษาภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อม
เพื่อมุ่งหวังให้สิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็น Green and Clean
Campus
ทั้งนี้
ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้อธิบายถึงพิษภัยจากกล่องโฟมไว้ว่า
โฟมเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกประเภทโพลีสไตรีน (Polystyrene: PS) ถ้านำไปใช้บรรจุอาหารที่ร้อนจัดและอาหารทอดที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบ
จะเกิดปฏิกิริยาที่ทำให้สารอันตรายแตกตัวออกมาปนเปื้อนกับอาหาร ได้แก่ สารเบนซีน (Benzene)
ที่จะทำให้เกิดอาการปวดท้องเนื่องจากกระเพาะถูกกัดกร่อน เวียนศีรษะ
คลื่นไส้และอาจเสียชีวิตได้ แต่ที่เป็นอันตรายที่สุดคือ สารสไตรีน (Styrene)
ที่มีพิษทำลายไขกระดูก ตับ และไต ทำให้ความจำเสื่อม
มีผลต่อการเต้นของหัวใจ และเป็นสารก่อมะเร็ง โดยอาจก่อให้เกิดมะเร็งเส้นเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
นอกจากนี้โฟมยังต้องใช้เวลาเป็นร้อยปีในการย่อยสลายซึ่งส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
นอกจากนี้
เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด
เพื่อขอความร่วมมือในการหาแนวทางการลดใช้โฟมบรรจุอาหาร โดยในการดำเนินงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปลอดโฟม
100 % นั้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รณรงค์ให้ร้านอาหารในมหาวิทยาลัยกว่า
300 ร้าน ทั้งในส่วนของคณะ หอพัก และส่วนกลาง ไม่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟม
โดยเริ่มจากกลุ่มนักศึกษาในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ หรือทางฝั่งสวนดอก เช่น
คณะพยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์
เพราะกลุ่มนี้จะตระหนักถึงพิษภัยของโฟมที่มีต่อสุขภาพ หลังจากนั้นจึงได้ขยายการรณรงค์มาฝั่งสวนสัก
ยังคณะและหน่วยงานต่างๆ และได้ดำเนินงานมาจนถึงปัจจุบัน
หลังจากที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รณรงค์ไม่ใช้โฟมบรรจุอาหาร
โดยให้ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากธรรมชาติแทน
ได้มีบริษัทมาเสนอบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากชานอ้อยซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติ
และไม่มีโพลิสไตรีน แต่มีราคาแพงกว่าโฟมประมาณ
2 บาท ซึ่งชานอ้อยไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ
อีกทั้งยังสามารถย่อยสลายได้ภายใน 45 วัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้ประสานกับนักศึกษาและผู้บริโภคเพื่อสร้างความเข้าใจว่า
การยอมเสียเงินเพิ่ม 2 บาท แต่ได้สุขภาพที่ดี ไม่ได้รับสารก่อมะเร็งเข้าสู่ร่างกาย
เป็นประเด็นที่มหาวิทยาลัยพยายามให้ความรู้กับนักศึกษา
แม้ในช่วงแรกจะมีปัญหาบ้างในเรื่องราคา
แต่มหาวิทยาลัยอนุญาตให้ร้านค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยบรรจุอาหารสามารถเพิ่มราคาอาหารได้
2 บาท เพื่อสุขภาพที่ดีของนักศึกษาในระยะยาว นอกจากนั้น ยังได้มีมาตรการควบคุมผู้ประกอบการร้านอาหาร
โดยในปี 2556 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ประกาศงดใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟมจำหน่ายในมหาวิทยาลัย
ดังนั้นร้านค้าที่จะขายในมหาวิทยาลัยต้องมีการทำสัญญาว่าจะไม่ใช้โฟมในการบรรจุอาหารด้วย
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะส่งผลให้โครงการนี้บรรลุเป้าหมายคือนักศึกษา
เนื่องจากเป็นผู้บริโภคและมีอำนาจในการต่อรองในการซื้ออาหาร เช่น
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีโครงการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปลอดโฟม 100 % ในรอบรั้วมหาวิทยาลัย ตลอดจนร้านค้าภายนอกมหาวิทยาลัยที่รับทำอาหารกล่องให้นักศึกษา
ก็จะใช้นโยบายนี้เข้าไปดูแล เพราะนักศึกษาสามารถนำกฎระเบียบเรื่องการไม่ใช้บรรจุภัณฑ์จากโฟมไปต่อรองกับร้านค้าได้
ทำให้การรณรงค์โครงการนี้ได้ขยายผลสู่ภายนอก โดยจะเห็นได้จากในประเพณีรับน้องขึ้นดอย
ที่ทุกคณะซื้ออาหารจากร้านค้าภายนอกมหาวิทยาลัย บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ก็จะทำจากชานอ้อย หรือห่อด้วยใบตอง
การรณรงค์งดใช้โฟมในการบรรจุอาหารของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงเป็นการกระตุ้นให้ร้านค้ารอบมหาวิทยาลัยหันมาใช้ชานอ้อยแทนการใช้โฟมอีกทางหนึ่ง
เพราะหากใช้โฟมก็จะไม่สามารถจำหน่ายให้กับนักศึกษาได้
รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษา
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวในตอนท้ายว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีเป้าหมายชัดเจน ที่จะมุ่งพัฒนาใน
3 ด้านหลักคือ
พลังงานและสิ่งแวดล้อม อาหารและสุขภาพ
และการอนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนา ดังนั้น ประเด็นด้านอาหารและสุขภาพรวมไปถึงโครงการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปลอดโฟม
100 % ถือเป็นส่วนสำคัญที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กำหนดเป็นยุทธศาสตร์
โดยจะปลูกจิตสำนึกให้กับทุกฝ่าย ทั้งร้านค้าในและนอกมหาวิทยาลัย ให้สอดคล้องกับนโยบายของประเทศเรื่องการงดใช้โฟมบรรจุอาหารร้อนและอาหารมัน
เพื่อสุขภาพทีดีอย่างยั่งยืน
************************
ปชส.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
– ข่าว/ภาพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น