วันที่ 12 เมษายน 2560 เวลา 08.00น. ที่บริเวณลานข่วงหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธียอสวย ไหว้สา พญามังราย ผู้ก่อตั้งเมืองเชียงใหม่ในแบบล้านนา ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกวันที่ 12 เมษายนของทุกปี ถือว่าวันนี้เป็นวันสถาปนาเมืองเชียงใหม่ และลงข่วงฟ้อนเจิง ฟ้อนดาบ เพื่อแสดงต่อบรรพกษัตริย์ ในวันครบรอบการสถาปนาเมืองเชียงใหม่ 721 ปี โดยมีประชาชนทั้งเด็ก ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ พาครอบครัวแต่งกายในชุดพื้นเมืองพร้อมทั้งถือข้าวตอกดอกไม้ ตุง เข้าร่วมพิธี ทั้งนี้ในขบวนยังได้มีการแสดงตีกลองสะบัดชัย กลองไชยมงคล กลองตึงนง กลองก้นยาว พร้อมด้วยขบวนฟ้อนรำอย่างสวยงาม ร่วมกันเดินขบวนตามแบบวัฒนธรรมล้านนา เพื่อร่วมกันประกอบพิธียอสวย ไหว้สาพญามังราย หรือการสักการะพญามังราย เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและบ้านเมือง เนื่องในโอกาสประเพณีสงกรานต์ โดยมีประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศให้ความสนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก
นอกจากนี้ที่บริเวณหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ได้มีการจัดถวายอาหาร 9 อย่าง ผลไม้ 9 อย่าง และเครื่องสักการะบูชาแบบล้านนา โดยมีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่เมื่อวานนี้ ทั้งเครื่องถวายดอกไม้กลิ่นหอมที่ทำจากใบเตย หมากสุ่ม หมากเบ่ง หมากผึ้ง หมากเทียน ที่ทำโดยการนำหมาก ธูป เทียน ขี้ผึ้ง มาประดิษฐ์ให้มีความสวยงามและปักไว้ที่ต้นกล้วย ที่บ่งบอกถึงความเป็นล้านนาซึ่งจะมีปฏิบัติกันเพียงบางจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือเท่านั้น จากนั้นชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ก็ได้มีการช่วยกันทำขนมปาด ที่เป็นขนมโบราณซึ่งมีความเชื่อว่าในช่วงยุคสมัยพญามังราย ขนมปาดนั้นเป็นขนมที่ใช้ในการถวายเพื่อสักการะตามวันสำคัญต่าง ๆ โดยขนมนี้จะมีเพียงผู้ที่ค่อนข้างมีฐานะร่ำรวยหรือเจ้าขุนมูลนายเท่านั้นที่จะสามารถทำได้เนื่องจากต้องใช้คนในการทำค่อนข้างมาก และใช้เวลานานกว่าจะแล้วเสร็จ ทั้งนี้ สำหรับพิธียอสวย ไหว้สา พญามังราย ยังมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อที่จะให้ประชาชนลูกหลานในยุคปัจจุบันได้รับรู้ประวัติการก่อตั้งเมืองเชียงใหม่ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 721 ปี เพื่อจะได้ระลึกถึงคุณงามความดีของผู้ก่อตั้งเมืองเชียงใหม่ อีกทั้งยังเพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับตนเองและครอบครัว ที่ได้เข้ามาสักการะให้มีความปลอดภัยมีความสุขในช่วงเทศกาลสงกรานต์อีกด้วย
*************
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่-ข่าว/ภาพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น