งานฉลองชัยหนังสือพิมพ์ "ไทยนิวส์" รายวันอายุยาวนานของภาคเหนือ ก้าวสู่ปีที่ 48 เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2560 ซึ่งนางอุบลนัดดา สุภาวรรณ กรรมการผู้จัดการใหญ่งดจัดงานรื่นเริง เพียงทำบุญที่สำนักงานในภาคเช้าและรับน้ำใจจากทุกภาคส่วนที่ไปร่วมแสดงความยินดีที่สำนักงาน โดยมีพระเทพโกศล ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 7 เป็นประธานสงฆ์ และพระเถระสมณศักดิ์เจริญพระพุทธมนต์ สำหรับภาคบ่าย เวลา 17.00 น. คณะผู้บริหารหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์รายวัน ได้เชิญกัลยาณมิตร มิตรมวลชน ร่วมงาน “สื่อของพ่อ สานต่อปณิธาน” ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผ่านนิทรรศการภาพถ่าย “ตามเสด็จฯ” เมื่อครั้งที่พระองค์และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจในภาคเหนือโดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่
สำหรับภาพนิทรรศการที่จัดแสดงเป็นฝีมือของสื่อมวลชนในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ตามเสด็จฯ ตั้งแต่ช่วง พ.ศ.2519 เป็นต้นมา อาทิ สมัคร เทพจินดา รังสรรค์ จรัสสิทธิกุล อำนาจ จงยศยิ่ง และประเสริฐ สิงห์แก้วฟู ที่ได้บันทึกภาพไว้เป็นอันมาก ซึ่งหลายภาพที่ไม่เคยมีใครเห็นและไม่เคยจัดแสดงที่ใดมาก่อนก็ได้นำมาเสนอให้ได้ชมในงานนี้อย่างจุใจ พร้อมกับร่วมฟังเสวนาหัวข้อที่สังคมยุคใหม่กำลังสับสนหรืออาจตกเป็นเหยื่อ “ข่าวลวง ข่าวจริง ข่าวลอก แยกแยะอย่างไรในสื่อดิจิทัล” โดยนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ดร.มานะ ตีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ รศ.สดศรี เผ่าอินจันทร์ อดีตคณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มี น.ส.นัทฤทัย ทวีฤทธิ์กุล นิยมไทย ประธานชมรมผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียงเขต 9 เชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินรายการ มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่รายการเสวนา นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานกล่าวเปิดงานและแสดงความยินดีกับการก้าวเข้าสู่ปีที่ 48 ของไทยนิวส์ว่า ไม่ใช่ธรรมดาที่หนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่ง ได้ปฏิบัติหน้าที่มาอย่างต่อเนื่องและยาวนานถึงเกือบครึ่งศตวรรษ นับตั้งแต่ ผอ.บรรจบ ลิ้มจรูญ ผู้ก่อตั้งมาจนถึงยุคของนางอุบลนัดดา สุภาวรรณ ในวันนี้ ถือว่ามีความเป็นมาที่ผ่านประสบการณ์อันยาวนาน และนั่นคือความเป็นหนังสือพิมพ์ที่อยู่เคียงข้างประชาชน รายงานข่าวด้วยความจริง ทั้งยืนอยู่บนความจริงที่เกิดเป็นศรัทธาให้มีความมั่นคงขึ้นมาดังกล่าว จึงขออำนวยพรให้ไทยนิวส์ยืนหยัดอยู่คู่ชาวเชียงใหม่และภาคเหนือตลอดไป
จากนั้น พิธีกรได้นำเข้าสู่การเสวนาเรื่อง “ข่าวลวง ข่าวจริง ข่าวลอก แยกแยะอย่างไรในสื่อดิจิทัล” ซึ่งระหว่างการเสวนานั้นปรากฏว่าผู้เข้าร่วมรับฟังต่างก็นิ่งเงียบตั้งใจฟังอย่างสงบ เนื่องจากหัวข้อมีความน่าสนใจเพราะเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ของสังคมปัจจุบันเป็นอย่างมาก ซึ่งสรุปได้พอสังเขปคือ รศ.สมศรี เผ่าอินจันทร์ กล่าวว่า สังคมโซเซียลมีเดียในปัจจุบันไม่น่าเชื่อถือ เพราะเป็นข่วงลวง ข่าวหลอก ข่วงลอก มากกว่าข่าวจริง มีหลายเหตุการณ์ที่ดูแล้วไม่เชื่อ จึงตรวจสอบก็พบว่าเป็นการนำเหตุการณ์เก่าๆมาเผยแพร่ และคนก็กดไลค์หรือแชร์ต่อโดยขาดการกลั่นกรอง ซึ่งที่ผ่านมาแม้แต่สื่อหลักเองก็ยังตกเป็นเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟไหม้ นำมาเผยแพร่เหมือนจะให้เชื่อว่าเพิ่งเกิดขึ้น แต่จริงๆแล้วเป็นของเก่าก็มี ตัดต่อแต่งเติมขึ้นมาก็มี ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างถึงความเสื่อมศรัทธาต่อวงการสื่อมวลชน สื่อหลัก และวิชาชีพสื่อสารมวลชน อาจถึงขั้นกระทบความน่าเชื่อถือในกระบวนการเรียนการสอนด้านการสื่อสารมวลชนหรือนิเทศศาสตร์อีกด้วย
เช่นเดียวกับ ดร.มานะ ตีรยาภิวัฒน์ กล่าวว่า เพราะใครๆก็เป็นสื่อได้ และใช้การนำเสนอง่ายๆ ผ่านโซเซียลมีเดียที่มีอย่างหลากหลาย จึงก่อให้เกิดความเสียหายและส่งผลกระทบไปหมด โดยเฉพาะสื่อหลักที่เป็นสำนักข่าวและหนังสือพิมพ์ ยิ่งจะต้องตรวจสอบก่อนรายงานข่าว แต่กลับไปตก “หลุมควาย” เสียเอง พร้อมกับยกตัวอย่างของสำนักข่าวและหนังสือพิมพ์หลักที่ตกเป็นเหยื่อของการแชร์ข่าวลวง ข่าวหลอก และข่าวลอก ซึ่งต่อไปจะต้องปรับตัวใหม่ กรณีการลอกข่าวก็เช่นกัน นอกจากผิดกฎหมายและไม่มีที่มาที่ถูกต้องแล้ว ยังทำให้ผู้รับสื่อต่อๆกันไปสร้างความสับสน ที่สุดก็เกิดความเสื่อมศรัทธาต่อวงการสื่อมวลชน
ด้าน นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ยอมรับว่า สถานการณ์โลกสื่อออนไลน์ปัจจุบันส่งผลกระทบไปทั่ว แม้แต่สื่อหลักก็ต้องยอมรับความผิดพลาดที่มีการนำภาพข่าวที่ไม่เป็นความจริงมาเสนอโดยอ้างความรวดเร็วที่ขาดการตรวจสอบ มีการนำภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตจากต่างประเทศมาเสนอว่าเกิดขึ้นในเมืองไทยก็มี ซึ่งต่อไปนี้กองบรรณาธิการต่างๆ ต้องระมัดระวังไม่ตกเป็นเหยื่อ รวมทั้งเรื่องการรับผลประโยชน์ต่างๆ ก็จะต้องระมัดระวังไปด้วย ทั้งนี้ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้ประชุมร่วมกับภาคีสื่อออนไลน์พร้อมทั้งสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งจะมีการสร้างแอพลิเคชั่นสำหรับตรวจสอบข่าวสารต่างๆว่าเป็นความจริงหรือไม่ จะได้ไม่ตก “หลุมควาย” นอกจากนั้น ประชาชนและผู้เสพสื่อทั่วไปก็สามารถตรวจสอบ และร้องเรียนได้ หากเป็นกรณีหนังสือพิมพ์ก็ร้องที่สภาการหนังสือพิมพ์ เป็นสื่อออนไลน์ก็ร้องที่สมาคมสื่อออนไลน์ และสื่อวิทยุโทรทัศน์ก็ร้องตามช่องทางนั้นได้ เช่นเดียวกับกรณีการลอกข่าว ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดจริยธรรม และผิดกฎหมายก็สามารถจะฟ้องร้องได้ สภาการหนังสือพิมพ์ก็พร้อมที่จะจัดหาทนายความมาให้ความช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง.
****************
บุญญฤทธิ์ ตุลาพันธ์พงศ์-ข่าว/ภาพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น