ทั้งนี้ อบต.ห้วยแก้ว ได้มีคำสั่งให้สถานประกอบการดำเนินการแก้ไขอาคาร ตามมาตรา 46 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 โดยให้สถานประกอบการแก้ไขภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง คือวันที่ 17 ธันวาคม 2559 และมีคำสั่งห้ามใช้อาคารหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้อาคารที่อาจเป็นภยันตรายตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง และมาตรา 41 วรรค หนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ห้ามมิให้สถานประกอบการใช้หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารทั้งหมดหรือบางส่วนของอาคารดังต่อไปนี้คือ เครื่องเล่นโหนสลิง (Zipline) จำนวน 28 ฐาน จนกว่าจะได้จัดการแก้ไขให้ถูกต้องตามที่ได้รับอนุญาต และได้นำคำสั่งไปปิดประกาศไว้ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2559 ซึ่ง ตามกฎกระทรวงฯ ข้อ 2 ได้กำหนดให้เครื่องเล่นเป็นอาคารควบคุมการใช้ตามมาตรา 32(2) และขณะนี้สถานประกอบการได้ปิดการให้บริการตามคำสั่ง อบต.ห้วยแก้ว โดยอำเภอแม่ออนก็ได้มีการตรวจติดตามทุกวัน
และในวันที่ 19 ธันวาคม 2559 เวลา 15.30 น. ได้มีการประชุมติดตามความคืบหน้าเรื่องดังกล่าวนี้ โดยมีนายประจวบ กันธิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธาน พร้อมกันนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าพร้อมให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ประกอบด้วย นายอำเภอแม่ออน ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรแม่ออน ตำรวจท่องเที่ยว ท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 เชียงใหม่ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่สาขาสันกำแพง นายก ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ และอบต.ห้วยแก้ว
หลังเสร็จสิ้นการประชุมแล้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประธานการประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ประสานความคืบหน้าในการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกหน่วยงาน แล้วสรุปผลนำเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และมอบหมายให้ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ ตรวจสอบเรื่องการประกอบธุรกิจนำเที่ยวของผู้ประกอบการว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ พร้อมให้เสนอมาตรการแนวทางแก้ไขปัญหาในอนาคต สรุปเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่พิจารณาต่อไป
******************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น