มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับสำนักงานพัฒนาพิงนคร (องค์กรมหาชน) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การจัดประชุมวิชาการนานาชาติ
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 ณ ห้องประชุมพระยาศรีวิสารวาจา สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีนายปวิน ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนคร และรองศาสตราจารย์โรม จิรานุกรม รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และนักศึกษาเก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนางเนตรนภา สุทธิธรรมดำรง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) โดยทั้งสองหน่วยงานได้มีความตกลงที่จะร่วมมือกันจัดโครงการ "งานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ครั้งที่ 13 " (International Conference on Thai Studies) ในระหว่างวันที่ 15 -18 กรกฎาคม 2560 และการประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 10 (10th International Convention of Asia Scholars – ICAS10) ระหว่างวันที่ 20 - 23 กรกฎาคม 2560 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่
สำหรับการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาครั้งที่ 13 ในหัวข้อ “Globalized Thailand: Connectivity, Conflict and Conundrums of Thai Studies” กำหนดจัดระหว่างวันที่ 15-18 กรกฎาคม 2560 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ จะเป็นเวทีให้ทั้งคณาจารย์ นักวิชาการ นักศึกษา ทั้งไทยและต่างประเทศที่สนใจเกี่ยวกับประเทศไทย ได้นำเสนอบทความและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางวิชาการเพื่อทำความเข้าใจสังคมไทยในมิติต่างๆ รวมทั้งทบทวนและพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับสังคมไทยท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและความเชื่อมโยง (Connectivity) ในระดับภูมิภาคโดยเฉพาะยิ่งอาเซียน การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบใหม่นี้ได้ซ้อนทับกับโครงสร้างการเศรษฐกิจและการเมืองแบบเดิมซึ่งยังคงมีความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้ง นำมาซึ่งปัญหาใหม่ๆที่สลับซับซ้อนในสังคมไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุมมาแล้ว 12 ครั้ง โดยครั้งแรกจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2524 ณ กรุงเดลี ประเทศอินเดีย หลังจากนั้น มีการจัดการประชุมขึ้นในต่างประเทศสลับกับประเทศไทยทุก 3 ปี ครั้งล่าสุดจัดที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียเมื่อปี พ.ศ. 2557 และสำหรับในปี ที่จะจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่โดยมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมการประชุมประมาณ 600 คน
การจัดประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาครั้งที่ 13 นี้ นอกจากจะมีการปาฐกถานำโดยนักวิชาการที่ชื่อเสียง อาทิ Prof. Michael Herzfeld, Harvard University Prof. Duncan McCargo, University of Leeds และ Prof. Katherine A. Bowie, University of Wisconsin และการนำเสนอบทความทางวิชาการแล้ว ยังมีการจัดเวทีอภิปรายโต๊ะกลม (Roundtable) ในหัวข้อที่หลากหลาย เช่น มรดกทางวัฒนธรรม ชายแดนและประเด็นข้ามชาติ การเมือง การเมืองทางวัฒนธรรม การศึกษาและความเหลื่อมล้ำทางสังคม สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศและภัยพิบัติ ชาติพันธุ์ ล้านนาศึกษา ประเด็นหญิงชายและเพศสภาพ ประวัติศาสตร์ การจัดการความรู้ สื่อ ความเป็นเมือง ศาสนา ประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความสัมพันธ์ไทย-จีน-อินเดีย ตลอดจนการจัดกิจกรรมพิเศษ เช่น นิทรรศการ การฉายภาพยนตร์ การออกร้านจำหน่ายหนังสือ เป็นต้น โดยกิจกรรมพิเศษเหล่านี้ จะเปิดโอกาสให้ผู้สนใจทั่วไปได้เข้าร่วมด้วย
ส่วนการประชุมวิชาการนานาชาติ 10th International Convention of Asia Scholars (ICAS 10) ระหว่างวันที่ 20-23 กรกฎาคม 2560 เป็นการประชุมที่รวมนักวิชาการด้านเอเชียศึกษาที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่งในระดับโลก มีผู้เข้าร่วมจากกว่า 60 ประเทศ มาร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเอเชียศึกษาในหลากหลายสาขาวิชาและครอบคลุมทุกภูมิภาคในเอเชีย การจัดประชุม ICAS นี้ สำนักเลขาธิการ ICAS (ICAS Secretariat) องค์กรภายใต้ International Institute of Asian Studies – IIAS ประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นผู้จัดการประชุม โดยในครั้งที่ 10 นี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพร่วม (local host) ในจัดการประชุม ซึ่งนอกจากจะมีกิจกรรมการนำเสนอผลงานทางวิชาการด้านเอเชียศึกษาในมิติต่างๆ เช่น สังคม วัฒนธรรม การเมือง สิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีพิธีการมอบรางวัล ICAS Book Prize โดยเปิดรับผลงานที่เป็นหนังสือและวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวกับเอเชียจากทั่วโลก ซึ่งในปีนี้ เป็นปีแรกที่เปิดโอกาสให้หนังสือภาษาต่างๆ เช่น จีน ฝรั่งเศส เยอรมัน เกาหลี ญี่ปุ่น นอกเหนือจากภาษาอังกฤษสามารถส่งเข้าร่วมประกวดด้วย นอกจากนี้ยังมีการออกร้านจำหน่ายหนังสือเกี่ยวกับเอเชียโดยสำนักพิมพ์ชื่อดังจากต่างประเทศกว่า 30 แห่ง รวมทั้งการออกร้านของกลุ่มองค์กรต่างๆ นิทรรศการเกี่ยวกับอาเซียนและวิถีชีวิตผู้คน และจัดฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับเอเชีย
ทั้งนี้ ในจัดการประชุมแต่ละครั้ง ผู้จัดการประชุม ICAS มีความพยายามที่จะสร้างการมีส่วนร่วมกับท้องถิ่น ผ่านสถาบันการศึกษา หน่วยงานและองค์กรท้องถิ่น ภาคประชาสังคม รวมทั้งการจัดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับท้องถิ่น คาดว่าการประชุมดังกล่าวจะมีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,500 คน ซึ่งกลุ่มนักวิชาการเหล่านี้มีความสนใจที่จะสร้างความเข้าใจและสัมผัสวิถีชีวิตผู้คน ศิลปะ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และความเป็นเมืองของเมืองเชียงใหม่
ทั้งนี้ สำหรับการประชุมทั้ง 2 รายการที่กำหนดจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ครั้งนี้ จะคำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Conference) ในทุกขั้นตอน นับตั้งแต่ระบบสารสนเทศที่ลดการใช้กระดาษ ใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ ลดปริมาณขยะ รวมทั้งการรณรงค์ให้ใช้พลังงานทดแทน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรในรูปแบบชองการลดปริมาณการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และลดภาวะโลกร้อน
********************
งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่-ข่าว/ภาพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น