All online

วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ข่าว ; เครือข่ายแรงงานข้ามชาติยื่นข้อเรียกร้อง เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล


วันที่ 19 ธันวาคม 2559 เวลา 14.30 น. ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายประจวบ กันธิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้แทนรับข้อเรียกร้องเนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล 2016 โดยมีสาระสำคัญประกอบด้วย ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งให้ศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวจังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการแก้ไขปัญหาของแรงงานข้ามชาติอย่างมีส่วนร่วมและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆที่ควรจะได้รับตามที่กฏหมายแรงงานกำหนด เช่น การไม่ได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เวลาทำงาน วันทำงาน วันหยุด วันลา การทำงานล่วงเวลา และการทำงานในวันหยุด พร้อมทั้ง ให้รายงานผลการดำเนินงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ทุกสามเดือน และการดำเนินคดีการละเมิดสิทธิแรงงาน ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการ โดยมุ่งคุ้มครองสิทธิแรงงานอย่างไม่คำนึงถึงสถานะการเข้าเมืองของแรงงาน

ทั้งนี้ เครือข่ายแรงงานภาคเหนือประกอบด้วย องค์กรที่ทำงานส่งเสริมสิทธิด้านแรงงานกว่า 15 องค์กร นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ และตัวแทนคนงานในพื้นที่ ได้จัดการประชุมร่วมระหว่างวันที่ 18 - 19 ธันวาคม 2559 ณ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อประเมินและพิจารณาถึงสถานการณ์ด้านแรงงานข้ามชาติภายในพื้นที่ภาคเหนือ และพบว่ายังมีปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานและการเข้าถึงสิทธิตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด เช่น แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เวลาทำงาน วันทำงาน วันหยุด วันลา การทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด และมีปัญหาด้านสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน การเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคมเนื่องจากนายจ้างไม่ได้นำลูกจ้างขึ้นทะเบียนประกันสังคม และบางส่วนมีปัญหาการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ เช่น กรณีรับเงินชราภาพที่ยังไม่มีมาตรการชัดเจนในการรับสิทธิ นอกจากนี้ยังพบว่าแรงงานข้ามชาติถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการเดินทางและถูกเรียกรับผลประโยชน์

สำหรับวันที่ 18 ธันวาคมของทุกปี ถือเป็น "วันแรงงานข้ามชาติสากล" (International Migrants Day) เป็นวันที่องค์การสหประชาชาติได้จัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ.1999 เพื่อให้แรงงานข้ามชาติในประเทศต่างๆ ได้รับการคุ้มครองสิทธิทั้งสิทธิมนุษย์ชนและสิทธิเป็นแรงงาน ด้วยหลักการที่จะให้ทุกประเทศและทุกฝ่ายตระหนักถึงสิทธิของแรงงานข้ามชาติ ที่ต้องอพยพจากประเทศต้นทางไปทำงานยังประเทศปลายทาง ให้ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมจากรัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติด้วยความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว และเพศสภาพใด ๆ

******************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น