ในการแข่งขันครั้งนี้เป็นการแข่งขันเซปักตะกร้อประเภททีมเดี่ยว ทั้งทีมชายและทีมหญิง โดยมีสโมสรสมาชิกสมาคมตะกร้อแห่งประเทศไทย และทีมจากต่างประเทศเข้าร่วมการแข่งขันรวมทั้งสิ้น 14 ทีม แบ่งเป็นทีมชาย 8 ทีม แบ่งสายการแข่งขันออกเป็น 2 สายๆ ละ 4 ทีม สายที่ 1 ได้แก่ ทีมราชนาวี ทีมเชียงใหม่ ทีมกองทัพบก-ยูเรก้า และทีมกองบิน 41 สายที่ 2 ได้แก่ ทีม MALAYSIA ทีมทหารบก-ช้างบิน ทีมกองทัพอากาศ และทีมกองทัพเรือ ทีมหญิง 6 ทีมแบ่งสายการแข่งขันออกเป็น 2 สายๆละ 3 ทีม สายที่ 1 ได้แก่ ทีม PEA ทีม MALAYSIA และทีมโตโยต้าพารากอน สายที่ 2 ได้แก่ ทีมบุญรอดบริวเวรี่ ทีมเชียงใหม่ และทีมการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
ส่วนพิธีเปิดการแข่งขันกำหนดขึ้นในวันที่ 14 มีนาคม 2560 เวลา 18.30 น. ณ สนามโรงเรียนเมตตาศึกษา ในพระราชูปถัมภ์ฯ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี และพิธีปิดการแข่งขันกำหนดจัดในวันที่ 18 มีนาคม 2560 เวลา 19.00 น. มีพลตรีจารึก อารีราชการัณย์ เป็นประธานในพิธี โดยก่อนพิธีเป็นการแข่งขันเซปักตะกร้อคู่ชิงชนะเลิศทั้งประเภททีมชายและประเภททีมหญิง และทีมชนะเลิศจะได้รับการเบิกตัวเข้ารับถ้วยพระราชทาน หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมเงินบำรุงทีมตามกำหนดด้วย
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถเข้าชมการแข่งขันได้โดยไม่เสียค่าบัตรผ่านประตู และผู้ที่เดินทางไปชมโดยรถยนต์ส่วนตัว หากบริเวณไหล่ทางด้านหน้าโรงเรียนเต็ม คณะกรรมการจัดการแข่งขันได้ประสานงาน ให้สามารถนำรถไปจอดที่โรงเรียนพุทธิโสภณได้โดยไม่เสียค่าจอดอต่อย่างใด
สำหรับความเป็นมาของการแข่งขันเซปักตะกร้อชิงถ้วยพระราชทาน "ควีนส์คัพ" เริ่มจากในปี พ.ศ. 2530 โรงเรียนเมตตาศึกษา ร่วมกับฝ่ายตะกร้อ สมาคมกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดการแข่งขันเซปักตะกร้อประชาชนประเภททีมเดี่ยว ภายใต้ชื่อ "เมตตาคัพ" เพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายวันเกิดพระเดชพระคุณหลวงพ่อธรรมดิลก (จันทร์ กุสโล) ผู้ก่อตั้งโรงเรียน และได้จัดการแข่งขันต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี จนถึงปี พ.ศ. 2534 คณะกรรมการจัดการแข่งขันได้เชิญสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเชียงใหม่ และการกีฬาแห่งประเทศไทย สาขาจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมเป็นกรรมการจัดการแข่งขันด้วย
ครั้นเมื่อปี พ.ศ.2535 เมื่อครั้ง วิมล ธิเวกานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเชียงใหม่ ได้กราบบังคมทูลขอถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อมอบให้ทีมชนะเลิศ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัลโดยมีพระปรมาภิไธยย่อ “สก” จารึกบนถ้วยรางวัล โดยพระราชทานเป็นถ้วยถาวร เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2536 และขยายการรับสมัครทีมแข่งขันครอบคลุม 17 จังหวัดภาคเหนือ และเปลี่ยนชื่อเป็น “ เชียงใหม่ เมตตา คัพ”
ในปี พ.ศ. 2537 คณะกรรมการจัดการแข่งขันได้มีมติให้เชิญทีมสโมสรชั้นนำจากกรุงเทพมหานครเข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจาก พลตรี จารึก อารีราชการันต์ นายกสมาคมตะกร้อแห่งประเทศไทย และต่อมาได้บรรจุการแข่งขันในปฏิทินการแข่งขันของสมาคมด้วย และในวันที่ 23 มกราคม 2538 สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเชียงใหม่ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูล ขอเปลี่ยนชื่อการแข่งขันเป็น “ ควีนส์คัพ ” และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชานุญาต เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2538
ดังนั้น ในปี พ.ศ.2539 จึงได้จัดการแข่งขันกีฬาเซปักตะกร้อชิงถ้วยพระราชทาน “ควีนส์คัพ” เป็นครั้งแรก ทำการแข่งขัน ณ สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งขณะนั้นมี นางกิ่งกาญจน์ ณ เชียงใหม่ เป็นนายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเชียงใหม่ ต่อด้วยปี พ.ศ. 2542 จัดการแข่งขันกีฬาเซปักตะกร้อชิงถ้วยพระราชทาน “ควีนส์คัพ” เป็นครั้งที่ 2 จัดการแข่งขัน ณ สนามโรงเรียนเมตตาศึกษา ระหว่างวันที่ 15-20 กุมภาพันธ์ 2542 ซึ่งเป็นยุคที่มี นายชรินรัตน์ พุทธปวน เป็นนายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเชียงใหม่
จากนั้น การแข่งขันได้ว่างเว้นไปหลายปี จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2555 ยุคที่มี นายวัลลภ แซ่เตี๋ยว เป็นนายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้จัดการแข่งขันกีฬาเซปักตะกร้อชิงถ้วยพระราชทาน “ควีนส์คัพ” ครั้งที่ 3 ทำการแข่งขัน ณ สนามกาแลไนท์บาร์ซ่า ปี 2557 จัดการแข่งขันครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 3-7 กุมภาพันธ์ 2557 ณ สนามโรงเรียนเมตตาศึกษา ในพระราชูปถัมภ์ฯ
ล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2558 ก็ได้มีการจัดการแข่งขันเซปักตะกร้อชิงถ้วยพระราชทาน ควีนส์คัพ ครั้งที่ 5 ระหว่าง วันที่ 17-21 มีนาคม 2558 ณ สนามโรงเรียนเมตตาศึกษา ในพระราชูปถัมภ์ฯ และปีต่อมาก็มีการจัดการแข่งขันครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 16-20 กุมภาพันธ์ 2559 ณ สนามโรงเรียนเมตตาศึกษา ในพระราชูปถัมภ์ฯ ซึ่ง 2 ครั้งล่าสุดมี พ.ต.อ. บัญชา เศรษฐกร เป็นนายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเชียงใหม่
*****************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น