All online

วันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ข่าว ; พระสงฆ์ภาค 7 ประกาศร่วมปฏิรูปพระพุทธศาสนา

พระสงฆ์ภาค 7 รวม 3 จังหวัด เชียงใหม่-ลำพูน-แม่ฮ่องสอน ชุมนุมส่งท้ายปีที่วัดท่าตอน อ.แม่อาย ประกาศเจตนารมณ์ร่วมปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ระยะ 5 ปี เริ่มจากปีนี้ เจ้าคณะภาค “พระพรหมเสนาบดี” กำชับจริยา และวัตรปฏิบัติพระสงฆ์ต้องสำรวม ขณะเดียวกันทุกจังหวัดพร้อมจะร่วมกันปกป้องพระพุทธศาสนา

เมื่อวันที่ 8-9 ธันวาคม 2560 ที่วัดท่าตอน พระอารามหลวง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ พระเทพมังคลาจารย์ รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ และเจ้าอาวาส พร้อมคณะสงฆ์ และศรัทธาเจ้าภาพ คุณหญิงสมทรง จันทราภากุล ให้การต้อนรับคณะพระเถระ และพระสังฆาธิการในมณฑลคณะสงฆ์ภาค 7 มีพระพรหมเสนาบดี เจ้าคณะภาค 7 พระธรรมเสนาบดี พระราชวิสุทธิเวที รองเจ้าคณะภาค 7 พระสังฆาธิการประกอบด้วย พระเทพปริยัติ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ พระเทพรัตนนายก เจ้าคณะจังหวัดลำพูน พระสุมณศาสนกิตติ์ เจ้าคณะจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วยเจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ และพระเลขานุการพระสังฆาธิการจาก 3 จังหวัดดังกล่าว รวมประมาณ 350 รูป เดินทางมาร่วมประชุมสัมมนา และอบรมพระสังฆาธิการ ประจำปีงบประมาณ 2561 ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค 7

ก่อนที่พระพรหมเสนาบดี จะเดินทางมาถึง พระธรรมเสนาบดี รองเจ้าคณะภาค 7 เป็นประธานเปิดการสัมมนา โดยมีพระราชวิสุทธิเวที และพระวิมลมุนี เจ้าคณะอำเภอกัลยาณิวัฒนา ดำเนินรายการ โดยกล่าวถึงภารกิจของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อปต.)ว่ามีความสำคัญยิ่งทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือ และขอให้เจ้าคณะอำเภอสนับสนุนอุปถัมภ์อย่างเต็มที่ ส่วนเรื่องการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ตามแผน 5 ปีเริ่มจากปีนี้ถึง พ.ศ.2564 ก็จะต้องเดินหน้า เพราะกิจการพระพุทธศาสนาในยุคใหม่นี้ ต้องช่วยเผยแผ่ให้เกิดความคล่องตัวทันเหตุการณ์บ้านเมือง ทันกระแสต่างๆ จึงจะช่วยให้สังคมเข้าถึงธรรมะ และบรรลุถึงความสุขสงบสันติ ตามหลักการของพระพุทธศาสนา

พระราชสารเวที รองเจ้าคณะภาค 7 รูปที่ 2 กล่าวว่า อปต.ในเขตปกครองบางแห่งก็ดำเนินการตามปกติ เหมือนสมัยสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือฟื้นฟู เมื่อพระวิสุทธิวงศาจารย์ มารับหน้าที่ก็ดำเนินการต่อเนื่องไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดิม โดยเฉพาะปัจจุบันมีแผนปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา อปต.ต้องเร่งดำเนินการรณรงค์เรื่องการรักษาศีล 5 เป็นหลัก เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคระอำเภอ ขอให้ช่วยดูแลแนะนำสนับสนุนส่งเสริม ซึ่งต้นปีหน้าจะมีการออกตรวจ อย่างไรก็ตามขอย้ำว่าจุดมุ่งหมายในการจัดตั้ง อปต. 3 เรื่องคือ 1.เพื่อปกป้องพระพุทธศาสนา 2.เพื่อรักษาสังฆมณฑล และ 3 เพื่อป้องกันความอบจนของวัดวาอารามนั้น จะต้องทำให้ได้ดูแลให้ทั่วถึง กรณีกระแสสังคมในโซเซียลมีเดียต่างๆ ที่มักจะนำภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของพระสงฆ์ไปเผยแพร่จะต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น และชี้แจงให้ชัดเจน เพื่อป้องกันความเสื่อมเสียมาสู่หมู่คณะ

ต่อมา พระพรหมเสนาบดี เจ้าคณะภาค 7 เดินทางมาถึง ได้กล่าวเปิดการสัมมนาว่า ตามที่คณะมหาเถรสมาคมได้รับทราบกระแสพระราชดำรัส ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ผ่าน ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย ได้เข้าเฝ้ารับพระราชกระแส เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2560 ความว่า “พัฒนาความรู้และคุณภาพของพระสงฆ์ให้เป็นหลักทางใจของประชาชน ให้พระมีความสำนึกและเป็นประโยชน์ในสังคมไทย” ซึ่งที่ประชุม มส. น้อมรับกระแสพระราชดำรัส พร้อมแจ้งยังพระสังฆาธิการน้อมรับมาสู่การปฏิบัติให้เป็นหลักทางใจของประชาชนแล้ว เรื่องนี้สำคัญมากในหลวงทรงห่วงใยทั้งการศึกษาของพระสงฆ์ และการปฏิบัติของพระที่ต้องมีวัตรปฏิบัติงดงาม และสำรวม แม้บทสวดมนต์ก็ต้องสมบูรณ์ พระองค์ทรงท้วงติงไว้แล้วในงานพระราชพิธีฯพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ผ่านมา

เจ้าคณะภาค 7 ได้กล่าวคำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่องอาจาระพระภิกษุสามเณรและการบริหารวัดในเขตปกครอง ขอให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด อาทิ การที่พระภิกษุสามเณรทำผิดกฎหมาย การแสดงออกไม่เหมาะสมขัดต่อความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความสงบสุขของประชาชนหรือส่อไปในทางยั่วยุ ปลุกปั่น ทำลาย ก้าวร้าวรุนแรงและไม่สร้างสรรค์ ซึ่งส่วนใหญ่มักแสดงออกทางสื่อดิจิทัลต่างๆ ขอให้งดอย่างเด็ดขาด จากนั้นได้กล่าวถึงโครงการยกระดับหมู่บ้านรักษาศีล 5 สู่ยุทธศาสตร์ชาติ และการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนตอนหนึ่งว่า ชุมชนถือเป็นสังคมฐานรากที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีวิถีชีวิต วัฒนธรรมที่แตกต่างและหลากหลายตามภุมินิเวศน์ การพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆมากมาย ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่กำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน สาเหตุสำคัญเพราะคนไทยไม่สามารถพึ่งตนเองในทางเศรษฐกิจได้ ชุมชนมีความอ่อนแอประสบปัญหาด้านหนี้สินสูญเสียวัฒนธรรมในการพึ่งพาอาศัยกันและกัน การพัฒนาที่ยั่งยืนจึงเป็นแนวความคิดหลังจากเกิดความล้มเหลว เพื่อทำให้คนในประเทศอยู่ดีมีสุข โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ การพัฒนาคนให้มีคุณภาพ คุณธรรม และความสุข ซึ่งจะนำมาสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นส่งผลให้คนมีความสุขอย่างแท้จริง

“การพัฒนาที่ยั่งยืนที่สุด ต้องเริ่มต้นที่การพัฒนาจิตใจ เพราะจิตใจเป็นรากฐานการกระทำและคำพูด มนุษย์แสดงออกดีหรือไม่ดี ล้วนมาจากพื้นฐานของคุณธรรม และศีลธรรมที่มีอยู่ในจิตใจ หากเป็นคนได้รับการศึกษาอบรมดีก็จะแสดงออกทางกาย วาจา ใจในทางที่ดี ที่เหมาะสม แต่หากจิตใจแห้งแล้ง ขาดคุณธรรม จะนำไปสู่การแสดงพฤติกรรมที่ไม่น่าพอใจ” พระพรหมเสนาบดี กล่าวในตอนท้ายว่าการพัฒนามี 3 ระดับตามลักษณะของบุญกิริยาวัตถุคือ 1.ทานมัย 2.ศีลมัย 3.ภาวนามัย เบื้องต้นมุ่งหวังให้ชาวพุทธเป็นคนมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารี ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว รู้จักสละปันในสิ่งจำเป็นและขาดแคลน เป็นการสร้างความสุขให้เกิดมีในสังคม นี่เป็นทานมัย การมุ่งหวังให้คนมีกาย วาจา ใจที่ดี สุภาพ เรียบร้อย ดีงาม ขัดเกลากิริยามารยาทให้อ่อนโยน ยอมรับกฎกติกาสังคม นี่เป็นการรักษาศีล และสุดท้ายมุ่งหวังให้ทุกคนหมั่นพัฒนาจิตใจให้สูงยิ่งขึ้นไป มีปัญหาเป็นเครื่องพิจารณาดำเนินชีวิต ด้วยการหมั่นเจริญภาวนา

ผู้สื่อข่าวรายงาน ก่อนปิดการสัมมนาและอบรมมีการบรรยายพิเศษเรื่องการถวายความอุปถัมภ์และความสะดวกในการนัดประชุมจากเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และเรื่องการดำเนินโครงการแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา พ.ศ.2560-2564 โดยอาจารย์สายพิรุณ เพิ่มพูน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการประสานงาน ศปพ.จากส่วนกลาง ซึ่งคณะสงฆ์ภาค 7 ได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์ในการดำเนินภารกิจตามแผนปฏิรูปฯดังกล่าวไว้แล้ว ตั้งแต่การจัดส่งแผนดำเนินการ ทั้งนี้ ในการประชุมวันที่สอง พระพรหมเสนาบดี เป็นประธานประชุมคณะสงฆ์ผู้ตรวจข้อสอบนักธรรมชั้นตรีของภาค 7 การแจ้งคำสั่งของเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ การเตรียมประชุมสัมมนา อปต.ดีเด่นหนเหนือ การเข้าสอบความรู้พระอุปัชฌาย์การอบรมเจ้าอาวาสใหม่ และการแต่งตั้งเจ้าอาวาสใหม่ เป็นต้น.

******************
บุญญฤทธิ์ ตุลาพันธ์พงศ์ - ข่าว/ภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น