เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2560 เวลา 09.00 น. ที่ โรงแรมคุ้มภูคำ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง พร้อมด้วยนายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ พลตรีจิตติวัศร์ ศรสุวรรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก เพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในช่วงฤดูแล้ง ปี 2561 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , กระทรวงคมนาคม , กระทรวงกลาโหม , กองทัพภาคที่ 3 , สำนักงานตำรวจแห่งชาติ , กระทรวงสาธารณสุข , กรมอุตุนิยมวิทยา , สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน) และผู้แทนจาก 22 จังหวัดจากทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมกว่า 100 คน
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยโดยกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้สั่งการให้ 65 จังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า ได้เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ปี 2561 โดยให้จังหวัดจัดประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อซักซ้อมการปฏิบัติในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่จังหวัด ซึ่งจะนำผลการถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันของปีที่ผ่านมา มาทบทวนและปรับปรุงเผชิญเหตุของจังหวัด แนวทางปฏิบัติในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในปีต่อไป
สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ได้สรุปข้อสั่งการของการประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางไว้ว่า การจัดการไฟป่าและหมอกควันแบบบูรณาการ ขอให้จังหวัดดำเนินการตามแนวทางการปฏิบัติ ซึ่งได้กำหนดพื้นที่รับผิดชอบให้แต่ละหน่วยงานดูแลในพื้นที่ป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ , พื้นที่เกษตรกรรม , พื้นที่ชุมชน เมือง และพื้นที่ริมทาง โดยให้จังหวัดประสานและบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน ขณะเดียวกัน ได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดและอำเภอเพื่ออำนวยการ สั่งการป้องกันแก้ไขปัญหา ระดมสรรพกำลัง ในการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเป็นผู้บัญชาการ เพื่อสร้างความตระหนักและประชาสัมพันธ์ รวมทั้งจัดชุดปฏิบัติการประจำตำบลประชุมชี้แจง ปลูกฝัง และสร้างจิตสำนึกให้ความรู้แก่ประชาชน นักเรียน และเยาวชน ลดปริมาณเชื้อเพลิง ให้จัดทำแนวกันไฟ ควบคุมการเผา ตลอดจน ส่งเสริมการใช้สารหมักชีวภาพเพื่อย่อยสลายตอซัง การนำเศษวัสดุทางการเกษตรมาทำอาหารสัตว์ โดยให้บูรณาการทุกภาคส่วนร่วมสนับสนุนและกำหนดแนวทางมาตรการลดการเผา กำหนดกติกาหมู่บ้านห้ามการเผา การตั้งกองทุนสนับสนุนการป้องกันแก้ไขปัญหา โดยขอให้จังหวัดกำชับเจ้าพนักงานให้บังคับใช้กฎหมาย หากมีผู้กระทำผิดก็ต้องทำการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ที่ลักลอบเผาอย่างเคร่งครัด
******************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น