วันที่ 4 กรกฎาคม 2560 ที่ ห้องประชุม 4 ชั้น 4 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายวรพงษ์ บุญเคลือบ นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มการพัฒนาสังคมและสวัสดิการ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดต้นทาง ทางผ่าน และปลายทางของปัญหาการค้ามนุษย์ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่ง และมีพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มีผู้คนเข้ามาอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่จำนวนมาก ทั้งเข้ามาอยู่และทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ส่งผลกระทบต่อการเกิดปัญหาสังคม โดยเฉพาะปัญหาการค้ามนุษย์พบว่า จังหวัดเชียงใหม่จับกุมผู้กระทำผิดจากการค้าประเวณีโดยเป็นเด็กและสตรีที่มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่กระบวนการให้บริการเพศมากที่สุด ซึ่งมีลักษณะการแอบแฝงขายบริการทางเพศในสถานบริการ
ทั้งนี้ ปัญหาที่พบบ่อยและมีความซ้ำซ้อนมากขึ้น คือ การค้าประเวณีซึ่งพบว่าเด็กที่เข้าสู่ขบวนการมีแนวโน้มอายุน้อยลง (อายุ 12 ปี) นอกจากนี้ยังมีลักษณะเป็นการบังคับค้าประเวณีในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยผ่านจากชักชวนจากเพื่อนหรือรุ่นพี่ที่รู้จักผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งในปัจจุบันนิยมใช้ช่องทางสื่อออนไลน์เข้ามาเป็นเครื่องมือในการพูดคุยตกลงกัน พร้อมนัดหมายค้าประเวณีตามโรงแรมหรือที่พักของผู้ซื้อบริการ จึงเป็นอุปสรรคที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะสืบหาได้อย่างครบถ้วน ทำได้เพียงเข้มงวดการตรวจตราสถานบริการ สถานประกอบการ ร้านอาหาร ร้านคาราโอเกะที่เป็นกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะการค้าประเวณีเด็ก และป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ให้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง
สำหรับ ผลการดำเนินงานการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของจังหวัดเชียงใหม่ ปะจำปี 2560 ตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน ได้มีมาตรการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ได้มีจัดตั้งคณะอนุกรรมการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรายงานสถานการณ์และปรับแผนงานสกัดกั้นขบวนการค้ามนุษย์ โดยการตรวจสอบคัดกรองคนต่างด้าวทั้งผู้ที่มีพฤติการณ์เกี่ยวข้อง และบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่อาจตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญแห่งชาติ ยึดถือปฏิบัติและบูรณาการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเป็นระบบ และเป็นตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ขณะนี้พบคดีการค้ามนุษย์ จำนวน 22 คดี เป็นรูปแบบการค้าประเวณีจำนวน 20 คดี รูปแบบการบังคับใช้แรงงานและบริการและการกระทำการอื่นใดอันเป็นการขูดรีดบุคคล จำนวน 1 คดี และรูปแบบแสวงหาประโยชน์ทางเพศรูปแบบอื่น จำนวน 1 คดี พร้อมกันนี้ ได้อบรมให้ความรู้แก่ประชาชนและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายในพื้นที่ ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถร่วมเป็นเครือข่ายในการหยุดปัญหาการค้ามนุษย์ได้ โดยเมื่อพบเห็นเหตุที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง
***************
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่-ข่าว/ภาพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น