ความเป็นมาของศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“หริภุญชัย” จังหวัดลำพูน เมื่อเดือนตุลาคม 2529 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อเลือกหาพื้นที่ที่จะรองรับการขยายตัวของการพัฒนาการศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เพื่อสนองตอบนโยบายของรัฐบาลตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6
(พ.ศ. 2530-2534) ในการผลิตบัณฑิต
การวิจัย การบริการวิชาการแก่สังคม
และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมอย่างมีคุณภาพและมีปริสิทธิภาพ
ตลอดจนมีการส่งเสริมการวิจัยเพื่อการพัฒนาชนบทในเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งหากจะมองไปในอนาคตแล้ว
จะเห็นว่าปริมาณความต้องการใช้พื้นที่สำหรับการขยายงานทางวิชาการ เพื่อรองรับการพัฒนาไปสู่เป้าหมายตามแผนที่กำหนดไว้นั้นคงไม่เพียงพอ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พิจารณาเห็นว่าพื้นที่บริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ธิ-แม่ตีบ-แม่สาร
ท้องที่ตำบลศรีบัวบาน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน มีความเหมาะสม จึงได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้
เพื่อใช้ประโยชน์ในการขยายงานทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมด ประมาณ 4,726 ไร่ และต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2543
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีการดำเนินการเพิ่มเติมให้เกิดความพร้อม
เพื่อประโยชน์ในการขยายงานทางวิชาการต่อไปอีก ทั้งจากนโยบายการเปลี่ยนสถานะให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
ทำให้ต้องมีการจัดการเตรียมความพร้อมเพื่อบริหารงานของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อโครงการออกแบบวางผังแม่บท
30 ปี ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “หริภุญไชย” จังหวัดลำพูนขึ้น โดยมอบหมายให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ร่วมกับคณาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาจากภายนอกรับผิดชอบทำการศึกษาออกแบบวางผังให้สามารถนำไปใช้ในการดำเนินการจัดตั้งศูนย์การ
ศึกษาฯแห่งนี้ โดยออกแบบวางผังแม่บท 30 ปี เพื่อให้สามารถสนองนโยบายของมหาวิทยาลัยได้อย่างสมบูรณ์พร้อมทั้งสอดคล้องและเอื้อประโยชน์ให้ได้ทั้งในระดับชุมชน
ระดับท้องถิ่นระดับภูมิภาคและในระดับมหภาค ซึ่งมหาวิทยาลัยได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างอาคารและให้บริการด้านการเรียนการสอน
ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา
ขณะที่พระพุทธศาสนาถือได้ว่าเป็นศาสนาประจำชาติ
ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมิได้ระบุไว้ก็ตาม แต่ประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ ร้อยละ 95 นับถือพระพุทธศาสนา และชาติบ้านเมืองของเราก็นับถือพระพุทธศาสนามาโดยตลอด ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงมีความสำคัญต่อสังคมไทย
ในการใช้หลักธรรมมาประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
และลักษณะนิสัยของคนไทยมีจิตใจที่ดีงามในทุก ๆ ด้าน มีความเป็นมิตรกับทุกคน ที่สำคัญคือพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ของไทยได้นำเอาหลักธรรมในพระพุทธศาสนาไปใช้ในการปกครองประเทศ
เช่น ทศพิธราชธรรม ตลอดมา หรือใช้หลัก “ธรรมาธิปไตย” เป็นหลักในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้แล้ว พระพุทธศาสนายังเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนในประเทศ
เนื่องจากหลักธรรมในพระพุทธศาสนามุ่งเน้นให้เกิดความรักความสามัคคีกัน
มีความเมตตากรุณาต่อกัน จึงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชนชาวไทยให้มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
ตลอดจนเป็นที่มาของวัฒนธรรมและประเพณีต่าง ๆ มากมาย ด้วยวิถีชีวิตของคนไทยผูกพันกับพระพุทธศาสนา
จึงเป็นกรอบในการปฏิบัติตนตามหลักพิธีกรรมในพระพุทธศาสนาต่าง ๆ เช่น การบวชในพระพุทธศาสนาของชายไทย
พิธีมงคลสมรส การทำบุญเนื่องในพิธีการต่าง ๆ
การปฏิบัติตนตามประเพณีในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา อาทิ วันมาฆบูชา วิสาขบูชา
อาสาฬหบูชา วันเข้าและออกพรรษา ซึ่งเป็นส่วนที่ก่อให้เกิดวัฒนธรรมและประเพณีไทยมาจวบจนถึงปัจจุบัน
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน 2559 รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อำนาจ อยู่สุข รองอธิการบดีฝ่ายบริการ
พัฒนาสังคม ศิลปวัฒนธรรม และกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เรียนเชิญคณะอนุกรรมการฝ่ายพิธีการการจัดสร้างพระพุทธรูปประจำศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
"หริภุญไชย" ประชุมปรึกษาหารือ ศึกษาหาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดยมีรองศาสตราจารย์
ดร.ประโยชน์ อุนจะนำ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “หริภุญชัย”
จังหวัดลำพูน เป็นประธานอนุกรรมการฝ่ายพิธีการ และผู้ช่วยศาสตราจารย์อาคม
ตันตระกูล ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัย เชียงใหม่ เข้าร่วมประชุมด้วย และครั้งนี้ถือว่าเป็นการประชุมครั้งแรก
ณ ห้องประเสริฐ รุจิรวงศ์ อาคารยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รศ. ดร.ประโยชน์ อุนจะนำ
ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “หริภุญชัย” จังหวัดลำพูน
ได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบถึงการสร้างพระพุทธรูปเพื่อประดิษฐานไว้ ณ
ศูนย์การศึกษาฯ ว่า ปัจจุบันศูนย์การศึกษาฯ ได้ดำเนินงานมานานร่วม 30 ปี
ยังไม่มีศูนย์รวมทางจิตใจของผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งหากมองย้อนมายังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
จะเห็นว่ามีศาลาธรรมและมีพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัยประดิษฐานอยู่คือ
“พระพุทธพิงคนคราภิมงคล” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลปล้านนาไทย สิงห์ 3
สร้างขึ้นในโอกาสที่เมืองเชียงใหม่ มีอายุครบ 700 ปี ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันพุธที่ 27 มีนาคม 2539 เป็นวันขึ้น 9 ค่ำ
เดือน 6 ฤกษ์ 12.19 น. ราชาฤกษ์
โดยสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ วัดปากน้ำ กรุงเทพมหานคร
องค์ประธานในขณะนั้น และมีพิธีพุทธาภิเษก ณ วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันพุธที่
29 พฤษภาคม 2539 ตั้งแต่เวลา 09.00
น. ตรงกับวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 7 โดยสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
ทรงเป็นองค์ประธาน และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อคูณ
ปริสุทฺโธ ปลุกเสกเดี่ยว
สำหรับศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“หริภุญชัย” ได้มีคณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรปฏิบัติอยู่เป็นจำนวนมาก
กรอบกับช่วงเวลานี้อยู่ในระหว่างของการก่อตั้งมหาวิทยาลัย เชียงใหม่ มีอายุครบ 50
ปี จึงได้เตรียมการณ์ประสานงานจัดสร้างพระพุทธรูปประดิษฐาน เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจ
และเป็นที่เคารพสักการะ บูชา ของบุคลากร ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมาได้มีการออกแบบพระพุทธรูป
โดยอาจารย์อำนวย กันทะอินทร์ คณะวิจิตรศิลป์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน
สิงห์หนึ่ง ความกว้าง 126 เซนติเมตร ความสูง 168 เซนติเมตร ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างประสานงานกับ
คุณวีณา ภัทรประสิทธิ์ ประธานกรรมการส่งเสริมมหาวิทยาลัย เชียงใหม่
เป็นผู้ที่ให้การสนับสนุนการจัดสร้างพระพุทธรูปในครั้งนี้ ซึ่งได้ตอบตกลงเรียบร้อยแล้ว
ต่อมาเมื่อวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม 2559
เวลา 13.00 น. ได้มีการประชุมคณะกรรมการจัดสร้างพระพุทธรูปประจำศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
"หริภุญไชย" จังหวัดลำพูน ครั้งที่ 2/2559 ณ ห้องประชุมประเสริฐ
รุจิรวงค์ อาคารยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โดยมี คุณวีณา ภัทรประสิทธิ์ ประธานกรรมการส่งเสริมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ซึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุนการจัดสร้างพระพุทธรูปครั้งนี้ เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการฝ่ายพิธีการจัดสร้างพระพุทธรูป
มีรองศาสตราจารย์ นายแพทย์อำนาจ อยู่สุข รองอธิการบดีฝ่ายบริการ พัฒนาสังคม
ศิลปวัฒนธรรม และกิจการพิเศษ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการฯ และรองศาสตราจารย์
ดร.ประโยชน์ อุนจะนำ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาฯ และผู้ช่วยศาสตราจารย์อาคม
ตันตระกูล ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าร่วมประชุมด้วย
การประชุมครั้งนี้
ได้มีมติเห็นชอบให้มีการเททองหล่อพระพุทธรูปในวันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 สำหรับสีขององค์พระพุทธรูปออกสีดำหรือรมดำ
ทั้งนี้ เพื่อให้องค์พระพุทธรูปเด่นเป็นสง่า
เพราะฉากด้านหลังหรือผนังได้ออกแบบเป็นพื้นสีทอง
เมื่อประดิษฐานพระพุทธรูปแล้วจะทำให้มองดูสวยงามมากยิ่งขึ้น ส่วนแบบพระพุทธรูปนั้นควรมีการปรับแก้เล็กน้อย
สำหรับพระนามหรือชื่อและฤกษ์เททองพระพุทธรูปนั้น
ที่ประชุมมีความคิดเห็นว่ามีความเกี่ยวข้องในหลาย ๆ ส่วน อาทิ พระนามหรือชื่ออย่างน้อยต้องมีอักษรที่เป็นชื่อนามสกุลของผู้ให้การสนับสนุนการสร้างเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
และฤกษ์ก็มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต้องยึดโยงไปตามหลักโหราศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องยากและเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะตัดสินใจในที่ประชุม
จึงได้มอบหมายให้ รศ.ดร.ประโยชน์ อุนจะนำ
รับไปปรึกษาหารือเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัตน (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร และในโอกาสเดียวกันนี้ก็จะได้อาราธนาเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต
ได้มาเป็นประธานพุทธาภิเษกด้วย ส่วนความคืบหน้าการจัดสร้างพระพุทธรูปประจำศูนย์การศึกษาฯ
“หริภุญชัย” มีความก้าวหน้าเป็นอย่างไร จะได้แจ้งให้ทุกท่านได้รับทราบในโอกาสต่อ ๆ
ไป
********************
เขียนโดย ดร.สมทบ
พาจรทิศ คณะเทคนิคการแพทย์ มช.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น