กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสาน 5 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แม่ฮ่องสอน และตาก เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักในช่วง 11 – 12 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัย ดินถล่มและดินเลื่อนไหล โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพิ่มความถี่ในการตรวจวัดระดับน้ำและปริมาณน้ำฝน พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็วพร้อมเครื่องมืออุปกรณ์และเครื่องจักรกลพร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า จากการประสานข้อมูลกับกรมทรัพยากรธรณี พบว่า ภาคเหนือเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำวัง และลุ่มน้ำสาละวิน วัดปริมาณน้ำฝนได้มากกว่า 100 มิลลิเมตร อาจทำให้เกิดดินโคลนถล่มและดินเลื่อนไหลในช่วงวันที่ 11 – 12 พฤศจิกายน 2559 จึงได้ประสานกับ 5 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ รวม 21 อำเภอ ประกอบด้วย เชียงใหม่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่แตง อำเภอพร้าว อำเภอแม่เชียงดาว และอำเภอดอยสะเก็ด เชียงราย 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพาน อำเภอเวียงแก่น และอำเภอเชียงของ ลำปาง 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปาน อำเภอแม่พริก อำเภอแม่ทะ อำเภอเถิน อำเภองาว และอำเภอแจ้ห่ม แม่ฮ่องสอน 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอขุนยวม อำเภอปางมะผ้า อำเภอสบเมย อำเภอแม่ลาน้อย และอำเภอแม่สะเรียง ตาก 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอ แม่ระมาด และอำเภอท่าสองยาง
นอกจากนั้น ยังได้ประสานงานกับศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มจากภาวะฝนตกหนัก โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศและการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ สังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง เพิ่มความถี่ในการตรวจวัดระดับน้ำและปริมาณน้ำฝน พร้อมจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที
นอกจากนั้น ยังได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัด ให้เตรียมการป้องกันและระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนัก โดยการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ทั้งวิทยุกระจายเสียงประจำท้องถิ่น เสียงตามสาย หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน เครือข่ายวิทยุสมัครเล่น สถานีโทรทัศน์และเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่น และอาสาสมัคร รวมถึงตรวจสอบเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ คันกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง กรณีที่มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ให้พิจารณาอพยพประชาชนไปยังสถานที่ปลอดภัยหรือจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว พร้อมดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และแผนปฏิบัติการฯ แผนเผชิญเหตุของอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแนวทางการจัดการสาธารณภัยในสถานการณ์ฉุกเฉิน หากสถานการณ์รุนแรงเกินศักยภาพให้รายงานกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางทราบทันที เพื่อประสานการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยขอให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด รวมถึงหมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติ เพื่อจะได้อพยพหนีภัยได้ทันท่วงที ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบสาธารณภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
********************
ปชส.ปภ.-ข่าว/ภาพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น