โดย ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์การบริโภคยาสูบของประเทศไทย ปี พ.ศ.2552 พบว่าประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปสูบบุหรี่ 10.90 ล้านคน (ร้อยละ 20.70) อัตราการสูบบุหรี่ของเพศชายร้อยละ 40.47 เพศหญิงร้อยละ 2 โดยจำนวนผู้สูบบุหรี่ทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 10.86 ล้านคน (ร้อยละ 21.22) เป็น 10.90 ล้านคน (ร้อยละ 20.70) ระหว่างปี พ.ศ.2550 ถึงปี พ.ศ.2552 (อัตราการสูบบุหรี่ในภาพรวม) ในขณะที่อัตราการสูบบุหรี่ในภาพรวมยังไม่ค่อยเพิ่มขึ้น แต่กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษเนื่องจากมีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นคือกลุ่มอายุ 15-18 ปี อยู่ที่ร้อยละ 7.62 และกลุ่มอายุ 19-24 ปีอยู่ที่ร้อยละ 22.19 และน่าสังเกตว่าอัตราการสูบบุหรี่ในเพศหญิงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี พ.ศ.2552 เป็นร้อยละ 2 จากที่เคยลดลงต่ำสุดในปี พ.ศ.2550 ที่ร้อยละ 1.94 ซึ่งการควบคุมยาสูบของประเทศไทยที่ผ่านมาได้ผลในเขตเทศบาลมากกว่านอกเขตเทศบาล และได้ผลดีในกรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคเหนือ ตามลำดับ ดังนั้นควรให้ความสำคัญกับมาตรการที่มีผลนอกเขตเทศบาลด้วย และมุ่งแก้ปัญหาระดับพื้นที่ในภาคใต้และภาคอีสานให้มากขี้น โดยเจาะจงวัยรุ่นเพศชาย ส่วนในวัยรุ่นเพศหญิงให้เจาะจงพื้นที่ กทม. ซึ่งมีอัตราการสูบบุหรี่สูงขึ้นในกลุ่มอายุ 15-18 ปี จาก 737 คน เป็น 3,235 คน (ระหว่างปี พ.ศ.2550 ถึงปี พ.ศ.2552) และกลุ่มอายุ 19-24 ปี จาก 1,350 คน เป็น 2,124 คน (ระหว่างปี พ.ศ.2550 ถึงปี พ.ศ.2552)
ในขณะที่ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยข้อมูลล่าสุดจากการศึกษาของคณะทำงานภาระโรคและการบาดเจ็บที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพและปัจจัยเสี่ยง กระทรวงสาธารณะสุข พบว่า มีคนไทย 48,244 คนเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ในปี พ.ศ.2552 เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2547 ที่มี 41,183 คน โดยในจำนวนนี้เป็นเพศชาย 40,995 คนและเพศหญิง 7,249 คน ในจำนวนผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่นี้ 29.45% หรือ 14,204 คนเสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี เมื่อเทียบสัดส่วนผู้ที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่กับจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดซึ่งเท่ากับ 415,900 คนของปี พ.ศ.2552 จะเท่ากับ 1: 8.6 หรือในทุก 8.6 คนไทยที่เสียชีวิต หนึ่งคนจะมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ โดยหากคิดแยกตามเพศ เพศชายสัดส่วน 1 : 5.7 และเพศหญิง 1 : 2.4 และหากรวมจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่จากการวิเคราะห์ครั้งแรกที่พบว่ามีจำนวน 41,000 คนในปี พ.ศ.2536 จนถึงการศึกษาล่าสุดปี พ.ศ.2552 เป็นระยะเวลา 16 ปี จะมีคนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่กว่า 640,000 คน ทั้งนี้จำนวนคนไทยเสียชีวิตยังไม่นับรวมผู้ที่เสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง ซึ่งยังไม่มีข้อมูลการวิจัยสำหรับประเทศไทย
ด้าน นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้จัดการประชุมร่างกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบ หรือ กฎหมายการควบคุมยาสูบโลก (FCTC) ขึ้นมา โดยดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2543 จนสำเร็จเมื่อกุมภาพันธ์ 2546 ซึ่งความสัมฤทธิผลของกรอบอนุสัญญาฯ นี้เป็นคุณูปการต่อการควบคุมยาสูบโลก สรุปได้ ดังนี้
1) มาตรา 11 คำเตือนเรื่องสุขภาพบนหีบห่อ โดย 19 ประเทศ ซึ่งประชากรรวม 1 พันล้านคน มีกฎหมายระดับสูงสุดที่กำหนดให้มีคำเตือนบนซองบุหรี่ 2) มาตรา 12 การให้ความรู้, การติดต่อสื่อสาร, การฝึกอบรม โดย 23 ประเทศซึ่งมีประชากรรวม 1.9 พันล้านคน มีการรณรงค์อันเข้มแข็งทางสื่อมวลชน 3) มาตรา 8 การปกป้องประชาชนให้พ้นภัยจากพิษควันบุหรี่ โดยระหว่างปี 2551 ถึง 2553 ได้มี 16 ประเทศใหม่ที่ได้ออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ เป็นผลให้มี 31 ประเทศที่มีกฎหมายนี้แล้วประชาชนมากกว่า 739 ล้านคนหรือ 11% ของประชากรโลกได้รับการปกป้องให้พ้นจากภัยนี้ และ 4) มาตรา 13 การห้ามโฆษณา, การส่งเสริมและการอุปถัมภ์ โดยประชาชน 425 ล้านคนใน 19 ประเทศซึ่งประกอบเป็น 6% ของประชากรโลกได้รับการปกป้องจากกลยุทธ์การตลาดของอุตสาหกรรมยาสูบ
สุดท้าย ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวถึงหลายประเทศที่มีการนำหลักการตามคำแนะนำของของอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (FCTC) ไปออกกฎกติกาภายในประเทศ แต่มักได้รับการโต้แย้งคัดค้านจากธุรกิจยาสูบทั้งภายในประเทศและบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ สิ่งที่มักจะถูกยกขึ้นมาอ้างจากธุรกิจยาสูบข้ามชาติ เพื่อให้รัฐผ่อนปรนนโยบายการควบคุมยาสูบที่จะมีขึ้นใหม่ คือเงื่อนไขในข้อตกลงทางการค้า เช่น ข้อตกลงคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน โดยเฉพาะการให้สิทธิ์ผู้ลงทุนแต่ละรายสามารถฟ้องร้องประเทศที่ผูกพันในข้อตกลงนั้นๆได้ ที่มีอยู่ในข้อตกลงการค้าเสรีบางกลุ่มประเทศเช่น NAFTA และข้อตกลงทวิภาคีของบางประเทศเช่น ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์และอุรุกวัย หรือความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างประเทศออสเตรเลียและฮ่องกง เป็นต้น โดยการให้สิทธิ์ทางการค้ากับผู้ลงทุน ในข้อตกลงทางการค้าใดๆ ก็อาจก่อให้เกิดผลเสียและขัดขวางการควบคุมยาสูบของแต่ละประเทศ รวมไปถึงสุขภาพของประชากรก็จะได้รับการคุ้มครองน้อยลง ซึ่งหลักฐานที่ปรากฏในประเทศไทยคือ หลังจากได้ทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนซึ่งมีผลให้ลดภาษีนำเข้าเป็นร้อยละศูนย์แล้ว อัตราการสูบบุหรี่ปัจจุบันในกลุ่มวัยรุ่นเพิ่มขึ้นเช่น กลุ่มอายุ 19-24 ปีเพิ่มจากร้อยละ 19.66 ในปีพ.ศ.2549 เป็นร้อยละ 22.19 ในปีพ.ศ.2552 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 140,000 คน
ผู้สนใจต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ผู้ประสานงาน คุณหริสร์ ทวีพัฒนา นักวิชาการ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบ มหาวิทยาลัยมหิดล (ศจย.) โทรศัพท์ 0-2354-5346, 0-89662-7917 โทรสาร 0-2354-5347 E-mail: beer_manububu@windowslive.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น