All online

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ข่าว ; ชาวอมก๋อยยังประสบปัญหาหลังน้ำท่วมอันเนื่องมาจากจากพายุพัดกระหน่ำหลายระลอก


ภาคเหนือตอนบนฝนเริ่มซา แล้วแต่ชาวอมก๋อยยังประสบปัญหาการดำรงชีวิต สะพานคอนกรีตขาดถึง 3 แห่ง ทำให้การคมนาคมสัญจรเป็นไปด้วยความยากลำบากมานับเดือน ทางหลวงชนบทเร่งสร้างทางเบี่ยงให้สัญจรไปมาได้ ส่วนชาวบ้าน นักเรียน และพระเณรต้องเดินข้ามสะพานไม้ขัดแตะไปมาระหว่างบ้านแม่ตื่น-ม่อนจอง

ผลกระทบจากพายุนกเตนและพายุฝนที่ตกมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายกรกฎาคมจนถึงกลางสิงหาคม สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ทั้ง 25 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งขณะนี้มีการสำรวจความเสียหายและเสนอรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือเยียวยา ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2554 นายพีรพัฒน์ ภู่ตันติกุล ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดเชียงใหม่เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับนายอภินันท์ โปราณานนท์ ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงชนบทที่ 10 เชียงใหม่ นำเครื่องจักรกลเข้าไปสร้างทางเบี่ยงในพื้นที่ประสบอุทกภัยที่ ต.ม่อนจอง อ.อมก๋อย เนื่องจากสะพานคอนกรีตเชื่อมทางเข้าสู่ตัวอำเภอ 3 แห่งถูกกระแสน้ำ ท่อนซุง ต้นไม้กิ่งไม้พุ่งเข้าชนจนขาดเสียหาย โดยเบื้องต้นได้สร้างทางเดินเป็นสะพานไม้ขัดแตะให้แก่ชาวบ้าน นักเรียน และภิกษุสามเณรใช้เดินข้ามไปมาระหว่างบ้านแม่ตื่นกับบ้านม่อนจองเป็นการชั่วคราวไปก่อนแล้ว

ผอ.สำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ฤทธิ์พายุนกเตนที่เข้ามาสู่เชียงใหม่ ในช่วงระหว่างวันที่  30 กรกฎาคม–4 สิงหาคม 2554 มีความรุนแรงมาก หลายอำเภอได้รับผลกระทบ โดยในส่วนความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท มีถนนหลายสายและสะพานเสียหายเป็นอันมาก นอกจากที่ อ.อมก๋อยแล้ว ยังมีเส้นทางสายบ้านถ้ำ-เมืองคอง อ.เชียงดาว ด้านหลังดอยหลวงเชียงดาว ก็ได้รับความเสียหาย รถยนต์ธรรมดาไม่สามารถผ่านไปได้ ขณะนี้กำลังเร่งสำรวจและปรับปรุงอย่างเร่งด่วน

ส่วนที่ อ.อมก๋อย สะพานเชื่อมชุมชนและเข้าสู่ตัวอำเภอที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบน  ได้รับความเสียหาย 3 แห่ง และสะพานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 1 แห่ง ไม่สามารถวางสะพานเหล็กชั่วคราวได้ เนื่องจากสะพานขาดยาวถึง 50 เมตร และ 80 เมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการสร้างเส้นทางลำลองหรือทางเบี่ยงชั่วคราวเพื่อให้ประชาชนสัญจรได้ไปก่อน โดยเส้นทางลำลองดังกล่าวเป็นเส้นทางที่ใช้สัญจรในการขนแร่ธาตุเดิม ซึ่งสำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดร่วมกับสำนักทางหลวงชนบทที่ 10 (เชียงใหม่) สร้างทางลำลองชั่วคราว 3 เส้นทาง คือ สายดอยนางนอน–บ้านห้วยไม้หก ต.ม่อนจอง ระยะทาง 7 กม. สายบ้านดง–บ้านแพะ ต.ม่อนจอง ระยะทาง 5 กม. และสายบ้านห้วยดินหม้อ หมู่ 2–บ้านแม่ตื่นน้อย หมู่ 3 ต.ม่อนจอง  ระยะทาง 7 กม. เพื่อให้ประชาชนในเขต ต.ม่อนจอง ได้ใช้เดินทางและขนส่งสินค้าทางการเกษตรได้ชั่วคราว  สำหรับการก่อสร้างสะพานใหม่ได้เร่งเสนอไปยังส่วนกลางเพื่อจัดหางบประมาณแล้ว

(ข่าว/ภาพ โดย บุญญฤทธิ์ ตุลาพันธ์พงศ์)

ข่าว ; มหาวิทยาลัยพายัพ จัดกิจกรรม สื่ออย่างไรให้สังคมไทยเข้าใจเรื่องคนพิการ


คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ จัดกิจกรรม สื่ออย่างไรให้สังคมไทยเข้าใจเรื่องคนพิการ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับคนพิการแก่สังคมให้มากขึ้น

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยพายัพ แจ้งว่า คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ร่วมกับมูลนิธิพระมหาไถ่ เพื่อการพัฒนาคนพิการ กำหนัดจัดงานสร้างความรู้ความเข้าใจด้านคนพิการแก่สังคม สื่ออย่างไรให้สังคมไทยเข้าใจเรื่องคนพิการระหว่างวันที่ 5 - 7 กันยายน 2554 เวลา 9.00-15.00 น. ณ ห้องสัมมนาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ เชียงใหม่

กิจกรรมภายในงานมีการแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับสื่อเพื่อคนพิการ และจัดแสดงตัวอย่างรายการโทรทัศน์เพื่อคนพิการ เช่น รายการโลกใบเดียวกัน ยิ้มสู้ และในวันพุธที่ 7 กันยายน 2554 กำหนัดจัดการเสวนาในหัวข้อ สื่ออย่างไรให้สังคมไทยเข้าใจเรื่องคนพิการโดยมีวิทยากรร่วมเสวนา 5 คน ประกอบด้วยผู้ผลิตรายการล้อเล่นโลก ตัวแทนคนพิการ ตัวแทนผู้ชมรายการ ตัวแทนนักศึกษา และ นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและสำรองที่นั่งได้ที่โทรศัพท์ 053 – 851478 ต่อ 7515

วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ข่าว ; สภาความมั่นคงแห่งชาติประชุมทบทวนนโยบายการเตรียมพร้อมแห่งชาติ พื้นที่ภาคเหนือตอนบน

สภาความมั่นคงแห่งชาติจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อทบทวนนโยบายการเตรียมพร้อมแห่งชาติพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เพื่อหารือ ทบทวน และพิจารณาแนวทางการจัดทำแผนรองรับนโยบายการเตรียมพร้อมแห่งชาติ ที่จังหวัดเชียงใหม่

นายอนุสิษฐ คุณากร รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อทบทวนนโยบายการเตรียมพร้อมแห่งชาติในส่วนของพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ณ โรงแรมเชียงใหม่ออคิด จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงและนำไปสู่เหตุวิกฤติในระยะ 5 ปีข้างหน้า เพื่อตรวจสอบการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเผชิญกับสถานการณ์วิกฤติทั้งก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ เพื่อศึกษาและถอดบทเรียนการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ของส่วนกลางและจังหวัด ในด้านสาธารณภัยและด้านความมั่นคง และเพื่อนำข้อมูลไปประกอบการจัดทำร่างยุทธศาสตร์การเตรียมพร้อมแห่งชาติ

ที่ประชุมได้รับทราบนโยบายความมั่นคงแห่งรัฐของรัฐบาล ความสำคัญและนโยบายการเตรียมพร้อมแห่งชาติ การจัดทำแผนรองรับนโยบายการเตรียมพร้อมแห่งชาติ การพัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติตามมติคณะรัฐมนตรี การทบทวนนโยบายการเตรียมพร้อมแห่งชาติ จากการถอดบทเรียนการบริหารสถานการณ์ในภาวะภัยพิบัติจากการสู้รบตามแนวชายแดนที่จังหวัดศรีสะเกษ และจากการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อทบทวนนโยบายการเตรียมพร้อมแห่งชาติในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2554 ณ จังหวัดอุบลราชธานี

ประเด็นการพิจารณาในการประชุมครั้งนี้ประกอบด้วย สถานการณ์ที่มีความเสี่ยงและนำไปสู่เหตุวิกฤติในระยะ 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2555-2559) ประเด็นกรอบแนวคิดข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดทำยุทธศาสตร์การเตรียมพร้อมแห่งชาติจากนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ นโยบายรัฐบาล นโยบายการป้องก้นและบรรเทาสาธารณภัยและนโยบายการป้องกันประเทศ

ประเด็นการเตรียมความพร้อมในการเผชิญและจัดการกับสถานการณ์วิกฤติทั้งก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ ในระดับกระทรวง กรม จังหวัด และระดับท้องถิ่น ทั้งกรณีสาธารณภัยและภัยความมั่นคง การสร้างการตระหนักรู้ ทัศนคติ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ปัญหาข้อจำกัดของกฎหมาย การแจ้งเตือนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การอพยพประชาชน การประชาสัมพันธ์และการจัดการข่าวสารในภาวะไม่ปกติ การประกาศพื้นที่เขตภัยพิบัติของจังหวัด การประกาศพิทักษ์พื้นที่เขตหลังโดยฝ่ายทหาร การเตรียมระบบการสื่อสารหลัก สำรองและเลขหมายฉุกเฉิน ระบบบัญชาการเหตุการณ์ การเตรียมทีมเฉพาะกิจทั้งทางการแพทย์ ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤติ และชุด SAR (Search and Rescue) โดยเหล่าทัพ การให้เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทั้งการรับบริจาคสิ่งของ เงิน การส่งต่อความช่วยเหลือให้ถึงผู้ประสบภัย การเตรียมความพร้อมของกลุ่มอาสาสมัคร การรักษาความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน การควบคุมเส้นทางจราจร การพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลกรณีมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก การประสานแผนงานระหว่างหน่วยงานในจังหวัด และการช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบหลังเกิดเหตุทั้งทางกายภาพและทางจิตใจ

ประเด็นบทบาทขององค์กรและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต องค์กรชุมชนและองค์กรภาคประชาชน โดยการจัดทำแผนรองรับ จัดตั้งศูนย์อำนวยการของจังหวัดตั้งแต่ยามปกติ การฝึกซ้อมสาธารณภัยและภัยความมั่นคง การเตรียมความพร้อมก่อนเกิดเหตุ การจัดการขณะเกิดเหตุ การดำเนินการฟื้นฟูเยียวยาหลังเกิดเหตุ การประสานงานกับหน่วยงานพลเรือนและข้อจำกัดในการปฏิบัติงานของศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย และระดับกองทัพต่างๆ

นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้รับทราบและร่วมกันให้ข้อเสนอจากหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุม ที่ต้องการให้หน่วยงานส่วนกลางดำเนินการในเชิงนโยบายทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาวอีกด้วย

วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ข่าว ; น้ำท่วมพื้นที่ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ อีกครั้งหนึ่ง มีราษฎรถูกน้ำพัดสูญหายไป 1 คน


อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ประสบปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากฝนตกหนักเมื่อคืนก่อน โดยมีราษฎรที่กำลังกันช่วยดึงเศษไม้ออกจากสะพานถูกน้ำพัดหายไป 1 คน สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเร่งระดมประดาน้ำเข้าช่วยค้นหาขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรม

จากเหตุฝนตกหนักติดต่อกันเมื่อคืนวันที่ 27 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา ส่งผลให้น้ำจากภูเขาไหลบ่าเข้าสู่พื้นที่ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ทำให้ลำน้ำแม่โป่งและลำน้ำสาขาไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง คาดว่ามีบ้านเรือนราษฎรถูกน้ำท่วมกว่า 1,000 หลังคาเรือน หน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายหน่วยงานได้ระดมกำลังเข้าให้ความช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วนแล้ว มีรายงานว่าราษฎรชาวตำบลตลาดใหญ่ อ.ดอยสะเก็ด ถูกน้ำพัดหายไปขณะกำลังช่วยเพื่อนบ้านดึงเศษขยะและกิ่งไม้ออกจากหน้าสะพาน คือนายเอกศิลา ยกคำจู อายุ 36 ปี ขณะนี้ยังไม่สามารถตามหาได้เนื่องจากกระแสน้ำไหลเชี่ยวมาก

ทางด้านนายคมสัน สุวรรณอัมพา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า ทางจังหวัดเชียงใหม่ได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำประดาน้ำเข้าไปค้นหา เพื่อให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ถูกน้ำพัดหายไปเป็นการเร่งด่วนแล้ว

หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่กล่าวถึงสภาพโดยรวมขณะนี้ว่า พื้นที่ อ.ดอยสะเก็ด ที่ได้รับผลกระทบประกอบด้วยตำบลแม่โป่ง ตำบลแม่ฮ้อยเงิน ตำบลตลาดใหญ่ และตำบลแม่คือ ซึ่งขณะนี้ไม่มีฝนตกซ้ำลงมาจึงคาดว่าน่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีในไม่ช้า ซึ่งพื้นที่ อ.ดอยสะเก็ดนี้ประสบปัญหาน้ำท่วมแล้วเป็นรอบที่ 4 นับจากพายุนกเตน จึงขอแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ตามที่ราบเชิงเขาหรือที่ลุ่มริมน้ำทั้งหลาย ขอให้ติดตามพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด รวมทั้งรับฟังการแจ้งเตือนจากทางจังหวัดซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและได้ผลดี สามารถลดความสูญเสียโดยเฉพาะต่อชีวิตและร่างกายลงได้เป็นอย่างมาก ทั้งการแจ้งเตือนผ่านทางหอกระจายข่าว มิสเตอร์เตือนภัย อปพร. และทางสื่อสารมวลชน

ข่าว ; มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาภาคเหนือตอนบน “สำรวจทุนเดิม เติมเต็มหลักคิด วางแผนใกล้ชิด ครูลิขิตสู่อุปนิสัยพอเพียง”

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ มูลนิธิสยามกัมมาจล จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้รับผิดชอบโครงการเสริมศักยภาพ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาภาคเหนือตอนบน “สำรวจทุนเดิม เติมเต็มหลักคิด วางแผนใกล้ชิด ครูลิขิตสู่อุปนิสัยพอเพียง” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของสถานศึกษา เพื่อสร้างทักษะชีวิตให้เด็กรักการเรียนรู้ รู้จักคิดวิเคราะห์ สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และสามารถใช้สติปัญญาก่อนการตัดสินใจได้ มีผู้ทรงคุณวุฒิและโรงเรียนที่ผ่านการประเมินให้เป็นศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษาภาคเหนือตอนบน จากมูลนิธิสยามกัมมาจล ร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้วย

โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการมาจาก 7 จังหวัดภาคเหนือตอนบน 22 โรงเรียน ได้แก่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่ โรงเรียนดาราวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงเรียนบ้านร้องขี้เหล็ก โรงเรียนห้วยคอกหมู โรงเรียนทาขุมวิทยาการ โรงเรียนน้ำดิบวิทยาคม โรงเรียนแม่สรวยวิทยาคม โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ โรงเรียนบ้านหนองบัวแดง โรงเรียนบ้านห้วยผึ้ง โรงเรียนดอยหลวงรัชมังคลาภิเษก โรงเรียนเสริมงามวิทยาคม โรงเรียนเขลางค์นคร โรงเรียนบ้านนาแก้วประชารัฐ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติพะเยา โรงเรียนเชียงม่วนวิทยาคม โรงเรียนราชานุเคราะห์ โรงเรียนราชานุบาล โรงเรียนน่านนคร โรงเรียนร่มเกล้าปางตอง และโรงเรียนบ้านนาหลวง

สำหรับหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือ การปฏิบัติซ้ำๆ จนเกิดเป็นอุปนิสัย      โดยเริ่มจากการเรียนรู้ จากการลงมือปฏิบัติ ให้เข้าถึงแก่นสาระทำให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าและนำไปใช้อย่างต่อเนื่อง

ข่าว ; งานศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อบรมหลักสูตรจัดดอกไม้สด

งานศิษย์เก่าสัมพันธ์ กองแนะแนวสหกิจศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์  มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดอบรมหลักสูตรจัดดอกไม้สดเพื่อช่วยเสริมอาชีพให้กับศิษย์เก่าและผู้สนใจทั่วไป

นายพงษ์พิพัฒน์ ราชจันทร์ หัวหน้างานศิษย์เก่าสัมพันธ์ กล่าวว่า งานศิษย์เก่าสัมพันธ์ กองแนะแนวสหกิจศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดอบรมหลักสูตรจัดดอกไม้สดซึ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้นที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาเติมเต็มความรู้ทางวิชาการ วิชาชีพ ให้กับศิษย์เก่าและผู้ที่สนใจ มุ่งหวังให้ศิษย์เก่าที่เข้ารับการฝึกอบรมสามารถนำความรู้และเทคนิคต่างๆไปใช้ให้เกิดประโยชน์ หรือนำไปประกอบเป็นอาชีพเสริมได้ นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างมหาวิทยาลัย ศิษย์เก่า และประชาชนทั่วไปอีกทางหนึ่ง

การอบรมมีทั้งรูปแบบการบรรยาย การสาธิต และฝึกปฏิบัติจริง เกี่ยวกับการจัดดอกไม้สดทุกรูปแบบ ทั้งแจกัน กระเช้า  ช่อดอกไม้ ซุ้มตกแต่งนอกสถานที่ รวมถึงการจัดพวงหรีด พวงมาลา โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ ได้แก่อาจารย์ธนวัฒน์ รอดขาว จากฝ่ายปรับปรุงและพัฒนาพันธุกรรมพืชและสัตว์ อาจารย์สมบูรณ์ ระดม จากฝ่ายฝึกอบรม สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ อาจารย์สุระพงษ์ เตชะ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยมีผู้มีสนใจเข้ารับการอบรมเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมต่างให้ความเห็นว่า จะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดในการประกอบอาชีพเชิงธุรกิจ ซึ่งจะทำให้มีรายได้เสริมจากอาชีพเดิมอีกทางหนึ่ง

ข่าว ; ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดสมุทรสาคร ก้าวหน้าเป็นลำดับ

ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดสมุทรสาครก้าวหน้าเป็นลำดับ สามารถจัดการเรียนการสอนสนองความต้องการของผู้บริหารโดยเฉพาะด้านธุรกิจอย่างได้ผล

ตามที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีนโยบายขยายโอกาสทางการศึกษาให้มีการจัดการศึกษานอกสถานที่ โดยมี ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัย สังกัดสำนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งได้ให้บริการวิชาการมาเป็นเวลาหนึ่งแล้วสองแห่งคือ ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่หริภุญไชย จ.ลำพูน และ ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.สมุทรสาคร นั้น

สำหรับศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.สมุทรสาคร ได้รับความอนุเคราะห์ที่ดิน 5 ไร่ มูลค่า 38,000,000 บาท จากนายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ และทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้อนุมัติงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนและปฏิบัติการ 1 หลัง ส่วนปีงบประมาณ 2554 นี้ ทางมหาวิทยาลัยได้อนุมัติงบประมาณก่อสร้างอาคารสำนักงาน ครุภัณฑ์ และระบบสาธารณูปโภค รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบเพื่อรองรับการขยายตัวด้านวิชาการ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน กกอ. และมาตรฐานสากล

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สำหรับผู้บริหาร (Executive MBA) จังหวัดสมุทรสาคร เริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2544 ขณะนี้มีนักศึกษาทั้งศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่าจำนวน 400 คน หากรวมนักศึกษาและศิษย์เก่าของหลักสูตรเดียวกันจะมีกว่า 1,300 คน  ซึ่งนับเป็นเครือข่ายธุรกิจที่มีศักยภาพอย่างยิ่ง โดยหลักสูตรนี้จัดทำขึ้นเพื่อกระจายความรู้และขยายโอกาสทางการศึกษาแก่ชุมชน โดยเฉพาะผู้บริหารในบริเวณภาคกลางและภาคตะวันตก ได้แก่กรุงเทพฝั่งตะวันตกและด้านใต้ นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ ราชบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี  เป็นการพัฒนาศักยภาพของผู้บริหารในการจัดการธุรกิจให้สอดคล้องกับภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในเวทีธุรกิจทั้งภายในและต่างประเทศ ให้ผู้บริหารมีความรู้ ความสามารถ มีคุณธรรม จริยธรรม สามารถนำพาองค์กรให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ เพื่อยังประโยชน์แก่องค์กร นอกจากนั้น ปัจจุบันได้มีการเปิดสอนหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชา Knowledge  Management  โดยวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อีกด้วย

วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ข่าว ; สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย จัดสัมมนาภูมิภาคครั้งที่ 3 จังหวัดเชียงใหม่

สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดสัมมนาภูมิภาคครั้งที่ 3 พร้อมให้ข้อมูลความรู้ทั้งด้านนวัตกรรม เศรษฐกิจ กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

นายพลพัฒ กรรณสูต นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานเปิดการสัมมนาภูมิภาค ครั้งที่ 3 หัวข้อ ก่อสร้างไทย ร่วมใจพัฒนา ปีที่ 2 ณ โรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับผู้ประกอบการก่อสร้างและที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่เป็นและยังไม่เป็นสมาชิกของสมาคม เป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของสมาคมให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น รวมทั้งการรับฟังปัญหาอุปสรรคและข้อขัดข้องในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีรายละเอียดแตกต่างกัน จะได้รวบรวมไปประมวลและแก้ไขได้ตรงจุด


กิจกรรมสำคัญประกอบด้วยการสัมมนาหัวข้อ แนวโน้มเศรษฐกิจและแนวโน้มธุรกิจก่อสร้าง 2554 โดยธีรสิทธิ์ เศวตศิลา ผู้อำนวยการฝ่ายประสานงานและบริการ บริษัท SCG Network Management จำกัด การสัมมนาเรื่อง นวัตกรรมโครงสร้างเหล็ก โดยสรรพสิทธิ์ นาคเกษม บริษัท แปซิฟิค ไพพ์ จำกัด และการสัมมนากฎหมายใหม่ ปปช. ไม่ส่ง ไม่มีสิทธิ์ประกวดราคา โดยมีนักกฎหมายทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งนักวิชาการด้านการคลังจากกรมบัญชีกลางเป็นวิทยากร

สำหรับสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2471 โดยใช้ชื่อว่า สมาคมนายช่างแห่งกรุงสยาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำนุบำรุงกิจการก่อสร้างให้เจริญก้าวหน้า ภายใต้มาตรฐานหนึ่งเดียว มีพลเอกพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นนายกสมาคม และได้กราบบังคมทูลอัญเชิญ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2472 โดยได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมนายช่างเหมาไทย เมื่อปี 2509 และเป็นสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2544 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเข้าไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งนับเป็นสิริมงคลสูงสุดแก่สมาคมและผู้ประกอบอาชีพก่อสร้างจนถึงปัจจุบัน

ข่าว ; มหาวิทยาลัยแม่โจ้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับเครือเจริญโภคภัณฑ์

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับกลุ่มธุรกิจเครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการเรียนการสอน การวิจัย และเป็นสถานที่ฝึกประสบการณ์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จำเนียร ยศราช อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และนายเอี่ยม งามดำรงค์ รองประธานกรรมการกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นตัวแทนของแต่ละหน่วยงานลงนามในบันทึกความเข้าใจในความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแม่โจ้กับเครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อความก้าวหน้าด้านวิทยาการทางการเกษตร 4 ด้านคือ การสนับสนุนงบประมาณด้านวิชาการ การวิจัยและที่เกี่ยวข้อง การแลกเปลี่ยนบุคลากรและนักศึกษาของทั้งสองหน่วยงาน การพัฒนาและร่วมมือของโครงการวิจัยด้านต่างๆ และการสนับสนุนทั้งด้านสถานที่ งบประมาณและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานทุกด้าน ในระยะเวลา 5 ปีต่อจากนี้

อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้กล่าวภายหลังพิธีลงนามว่า สิ่งที่ทั้งสองหน่วยงานร่วมมือกันดำเนินการครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอน ต่อนักศึกษา ต่อองค์กรและสังคมโดยรวม โดยเฉพาะการเสริมสร้างความรู้และประสบการณ์ด้านการปฏิบัติงานสำหรับนักศึกษาให้กว้างขวางไม่เฉพาะภายในประเทศเท่านั้น
สำหรับความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแม่โจ้กับเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ดำเนินมาก่อนหน้านี้แล้วกว่า 50 ปี ทั้งร่วมกันผลักดันด้านสัตวบาล การจัดการธุรกิจเกษตรและการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร จนเมื่อปี 2544 เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ให้ความสนใจการผลิตพืชหลายชนิดและแหล่งพันธุกรรมพืชของประเทศไทย จึงเชื่อว่าด้วยศักยภาพและความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงาน จะสามารถขับเคลื่อนการเกษตรของไทยซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรได้เป็นอย่างดี

ข่าว ; ททท.นำผู้ประกอบการและสื่อมวลชนเอเชียตะวันออกดูสถานที่ท่องเที่ยวและสนามกอล์ฟเชียงใหม่

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยนำนักผู้ประกอบการนำเที่ยวและสื่อมวลชนด้านกอล์ฟจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกศึกษาสถานที่ท่องเที่ยวพร้อมพบผู้ประกอบการพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียง

เมื่อค่ำวันที่ 25 สิงหาคม 2554 ณ โรงแรมรติล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดงานสังสรรค์ต้อนรับผู้ประกอบการนำเที่ยวและสื่อมวลชนจากประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง จีน เกาหลี และไต้หวัน ประมาณ 100 คน ตามโครงการ Asian Golf FAM Trip 2011 ซึ่งเดินทางมาร่วมทดสอบสนามกอล์ฟ 6 สนามในจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ อัลไพน์ กอล์ฟ รีสอร์ท เชียงใหม่ เชียงใหม่อินทนนท์ กอล์ฟ รีสอร์ท เชียงใหม่ ไฮแลนด์ กอล์ฟ แอนด์ สปารีสอร์ท รอยัลเชียงใหม่ กอล์ฟรีสอร์ท แม่โจ้กอล์ฟคลับ แอนด์ รีสอร์ท และซัมมิท กรีนวัลเลย์ เชียงใหม่ ระหว่าง 25-28 สิงหาคม 2554 โดยในวันที่ 27 สิงหาคม 2554 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจะจัดการเจรจาธุรกิจ กับผู้ประกอบการสนามกอล์ฟและธุรกิจท่องเที่ยวของไทย ณ โรงแรมเลอ เมอริเดียน เชียงใหม่

นางจำนงค์ จุณณะปิยะ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ตลาดกอล์ฟในเอเชียตะวันออกเป็นตลาดที่มีการใช้จ่ายต่อหัวสูง นับเป็นตลาดคุณภาพที่เป็นเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย ในขณะที่ประเทศไทยมีสนามกอล์ฟระดับมาตรฐานกว่า 100 สนาม จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ได้นำผู้ประกอบการและสื่อมวลชนมารับข้อมูลนำไปเผยแพร่ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

สำหรับความคาดหวังของ ททท. จากการจัดโครงการ Asian Golf FAM Trip 2011 คือการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มกอล์ฟจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกให้เดินทางมาประเทศไทยมากขึ้น สามารถกระตุ้นยอดขายแพคเกจท่องเที่ยวที่ผนวกการเล่นกอล์ฟ รวมทั้งกระตุ้นกลุ่มแฟนคลับของนักกีฬากอล์ฟชื่อดังที่จะเดินทางเข้ามาชมและเชียร์ในช่วงที่มีการจัดการแข่งขันระดับนานาชาติ นอกจากนั้น ยังเป็นการช่วยสร้างการรับรู้ว่า ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสนามกอล์ฟชั้นนำของภูมิภาค และมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถรองรับทุกความต้องการของนักท่องเที่ยวและนักกอล์ฟได้เป็นอย่างดี