ศูนย์ข่าวจิ๊บจิ๊บ ; รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่สำหรับพระภิกษุสามเณรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมระบุถึงผลการตรวจสุขภาพพระภิกษุสามเณรทั่วประเทศว่า มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคร้ายแรงถึงร้อยละ 45 ซึ่งแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยเฉพาะเรื่องการบริโภคซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่สำหรับพระภิกษุสามเณรจังหวัดเชียงใหม่ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา ซึ่งมูลนิธิโรงพยาบาล 50 พรรษามหาวชิราลงกรณ และโรงพยาบาล 50 พรรษามหาวชิราลงกรณ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานพระพุทธศาสนา และองค์กรต่างๆ จัดขึ้นเมื่อเช้าวันนี้ (4 มีนาคม 2554) ณ วัดศรีโสดา พระอารามหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ตามโครงการหน่วยแพทย์พระราชทานเคลื่อนที่สำหรับพระภิกษุ สามเณร ในพระราชูปถัมภ์ และในพระสังฆราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นการถวายบริการด้านการแพทย์ ทันตแพทย์ และความรู้ด้านสุขภาพแด่พระภิกษุสามเณรทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2553 ถึง 10 ธันวาคม 2554
จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ดำเนินโครงการดังกล่าวพร้อมให้บริการตรวจคัดกรองและบำบัดรักษาสุขภาพอนามัยแก่พระภิกษุสามเณร และให้ความรู้ด้านสุขภาพ เพื่อพระภิกษุสามเณรในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 12,189 รูป โดยให้บริการที่ครอบคลุมทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสภาพที่ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้มีสุขภาพอนามัยที่ดี และสามารถปฏิบัติศาสนกิจในการเผยแพร่ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม สงเคราะห์็ อนุเคราะห์ประชาชน จรรโลงประพุทธศาสนาให้เจริญยั่งยืน มั่นคง เป็นที่พึ่งทางใจของประชาชนสืบต่อไป
สำหรับกิจกรรมในวันนี้ได้มีการนิมนต์พระภิกษุสามเณร จำนวน 500 รูป มาทำการตรวจคัดกรองและรักษาโรคเบื้องต้น บริการทัตนกรรม ตรวจวัดสายตา X-ray ปอด ตลอดจนถวายความรู้ด้านสุขภาพโดยการจัดนิทรรศการ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า จากการที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้ตรวจสุขภาพพระภิกษุสามเณร 100,000 รูปทั่วประเทศ พบว่ามีอัตราเสี่ยงต่อโรคที่เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต 5 โรค คือโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูล และมะเร็ง มากถึง 45 % ในจำนวนนี้อยู่ในอาการป่วยต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที 5 % กับอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยอีก 40 % ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารหวานหรือเค็มจัด นอกจากนั้น ยังพบว่าพระภิกษูสามเณรสูบบุหรี่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคถึง 40 % การจะป้องกันปัญหาต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จากการบริโภคอาหารหวานหรือเค็มจัดมาเป็นผักผลไม้ให้มากขึ้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวด้วยว่า การจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารในพระภิกษุสามเณรนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้กำหนดอาหารเอง แต่ศรัทธาสาธุชนเป็นผู้ปรุงมาถวาย ซึ่งจากการสำรวจพบว่าส่วนใหญ่ล้วนเป็นอาหารที่มีไขมันและมีน้ำตาลมาก เช่น แกงเขียวหวาน ไข่พะโล้ หมูทอด ไก่ทอด ส่วนของหวานก็มีทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง หรือขนมชั้น เนื่องจากผู้นำมาถวายมีความเชื่อว่าผู้ที่ล่วงลับไปแล้วจะได้รับประทานอาหารดังกล่าวที่ตนเองนำมาถวายพระ ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับผู้ที่ทำอาหารมาทำบุญถวายอีกทางหนึ่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น