ศูนย์ข่าวจิ๊บจิ๊บ ; คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เตรียมจัดงานวันต้อหินโลก ณ ลานชั้น 1 อาคารเฉลิมพระบารมี และงานวันไตโลก ณ ลานใต้ถุน ชั้น 1 อาคารสุจิณโณ ในวันที่ 10 มีนาคมนี้ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว
ผศ.พญ.ศิวาพร จันทร์กระจ่าง ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงการจัดงานทั้ง 2 งานคือวันต้อหินโลกและวันไตโลก ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดขึ้น เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคต้อหินและโรคไต ให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งทั้ง 2 งานจะจัดในวันเดียวกันคือ วันที่ 10 มีนาคม 2554 โดยงานวันต้อหินโลกจัดที่ชั้น 1 อาคารเฉลิมพระบารมี ส่วนงานวันไตโลกจัดที่ลานใต้ถุนชั้น 1 อาคารสุจิณโณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เวลา 08.30 – 12.00 น. ภายในงานมีกิจกรรมมากมาย เช่น บริการการตรวจสุขภาพตาและสุขภาพไต ชมนิทรรศการความรู้เกี่ยวกับโรคต้อหินและโรคไต รายการหมอเล่าให้ฟัง การให้คำแนะนำเกี่ยวกับโรคดังกล่าว การตอบปัญหาชิงรางวัล และการแสดงดนตรี ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
สำหรับวันต้อหินโลกตรงกับวันที่ 6 มีนาคมของทุกปี ต้อหิน เป็นโรคของดวงตาที่เกิดจากการไหลเวียนของน้ำหล่อเลี้ยงตา (aqueous humor) อุดตัน ทำให้ความดันในลูกตาสูงผิดปกติ จนทำลายขั้วประสาทตา และมีการสูญเสียลานสายตาอย่างถาวร โดยการสูญเสียลานสายตานั้นจะเริ่มที่ขอบด้านนอกก่อน หากไม่รักษาจะทำให้ลานสายตาค่อยๆ แคบลงจนตาบอดได้ในที่สุด
ต้อหินแบ่งตามสาเหตุได้เป็น ต้อหิน (primary glaucoma) เป็นต้อหินชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ และต้อหินจากสาเหตุอื่น (secondary glaucoma) เป็นต้อหินชนิดที่ทราบสาเหตุแน่นอน คือต้อหินที่เกิดจากโรคตาอื่นๆ เช่น ตาอักเสบ หรือเนื้องอกในลูกตา การใช้ยาบางชนิด เช่น การใช้ยาที่มีสารสเตอรอยด์ เป็นส่วนประกอบหยอดตาเป็นเวลานานๆ
ต้อหินแบ่งตามลักษณะทางกายวิภาคได้เป็น ต้อหินชนิดมุมเปิด (open angle glaucoma) เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากการที่แรงดันในลูกตาเพิ่มขึ้นทีละน้อย เป็นเวลานานๆ ผู้ป่วยจะไม่มีอาการ ต้อหินชนิดมุมปิด (angle closure glaucoma) เกิดจากมุมระหว่างม่านตาและกระจกตาดำแคบทำให้เกิดการอุดตันทางระบายของน้ำเลี้ยงลูกตา เป็นผลให้ความดันในลูกตาเพิ่มขึ้น ถ้าเป็นแบบเรื้อรังโดยมากมักไม่มีอาการผิดปกติ แต่หากเป็นแบบเฉียบพลันจะมีอาการรุนแรง เช่น ปวดศีรษะ ปวดตา คลื่นไส้อาเจียน เห็นแสงสีรุ้งรอบดวงไฟ
ส่วนผู้ที่มีโอกาสเป็นโรคต้อหินมากจะมีองค์ประกอบมาจาก อายุ โดยคนที่มีอายุมากจะมีโอกาสเป็นต้อหินมากกว่าคนอายุน้อย ต้อหินบางชนิดเกิดในเด็กแรกเกิดหรือกลุ่มเด็กเล็กได้เช่นกัน แต่พบไม่บ่อยเท่าผู้สูงอายุ ความดันในลูกตา คนที่มีความดันในลูกตาสูงก็จะมีโอกาสเกิดโรคต้อหินได้สูง ในบางกรณี อาจเป็นเพียงภาวะความดันในลูกตาสูงโดยไม่มีการทำลายของขั้วประสาทตา ผู้ป่วยเหล่านี้แพทย์อาจพิจารณาติดตามการรักษาโดยไม่ต้องใช้ยาลดความดันตา อย่างไรก็ดีผู้ป่วยจำเป็นต้องตรวจหรือพบแพทย์เป็นระยะเพื่อป้องกันไม่ให้ เกิดโรคต้อหินในอนาคต ประวัติครอบครัว หากมีสมาชิกภายในครอบครัวหรือญาติพี่น้องเป็นต้อหินก็จะมีโอกาสเป็นต้อหินมากขึ้นและควรได้รับการตรวจเป็นระยะ สายตาสั้นมากหรือยาวมาก คนที่มีสายตาสั้นมากๆ จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคต้อหินชนิดมุมเปิดมากกว่าคนปกติ และในคนที่สายตายาวมากๆ โดยมีขนาดของลูกตาเล็กกว่าปกติจะมีโอกาสเป็นต้อหินชนิดมุมปิด โรคเบาหวาน มีความเสี่ยงต่อการเกิดต้อหินมากขึ้น คนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานจะมีอันตราย การเกิดเป็นโรคต้อหินสูงกว่าปกติ โรคหัวใจและความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะที่เคยช็อคหรือมีหัวใจวายมาก่อนมีความเสี่ยงในการเกิดโรคต้อหินสูงขึ้น ความผิดปกติทางเลือดและเส้นเลือด มีหลักฐานชี้บ่งว่าความดันเข้มข้นของเลือดที่ผิดปกติอาจสัมพันธ์กับโรค ต้อหิน และโรคของเส้นเลือดที่เกี่ยวข้องกับภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น โรคลูปัส เป็นต้น ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะมีความผิดปกติของเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงขั่วประสาท ตาและทำให้เกิดเป็นโรคต้อหินได้ ปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดต้อหินได้เช่น ผู้ปวยที่ใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ทั้งในรูปแบบยาหยอด ยากิน ยาฉีด ยาทา หรือยาพ่น (โดยไม่อยู่ใต้ความควบคุมของแพทย์) ผู้ป่วยที่เคยได้รับอุบัติเหตุที่ตาอย่างรุนแรง อาชีพหรือกิจกรรมบางประเภท ที่เพิ่มความดันตรงบริเวณคอและใบหน้าอาจทำให้ผู้ป่วยมีความดันตาสูงขึ้น และทำให้ต้อหินควบคุมได้ยาก เช่น นักดนตรีประเภทเป่า ขลุ่ย และแซกโซโฟน นักร้องโอเปอร่า นักดำน้ำ ยกน้ำหนัก หรือผู้ที่เล่นกีฬาที่ต้องมีการวางตำแหน่งของศรีษะอยู่ต่ำกว่าตัว เช่น โยคะท่าศรีษะหรือท่าใหล่
ทางด้านการรักษาต้อหิน อาจใช้การใช้ยาหยอดตารักษาเป็นการรักษาเบื้องต้นที่ดีที่สุด เพราะสะดวก ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ แต่ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยาหยอดตาทุกวันตลอดชีวิต ปัจจุบันมียาหยอดตารักษาโรคต้องหินหลายชนิดแตกต่างกันที่กลไกการออกฤทธิ์ ประสิทธิภาพและอาการข้างเคียง ผู้ป่วยอาจเริ่มใช้ยาเพียงชนิดเดียวก่อน หากยังไม่สามารถควบคุมโรคไว้ได้ ก็จะต้องใช้ยาหยอดตาหลายชนิดร่วมกัน การพิจารณาใช้ยารักษาต้อหินชนิดกินหรือฉีดนั้น จะใช้ในระยะสั้นเพื่อเตรียมผ่าตัดเนื่องจากมีผลข้างเคียงสูง
การรักษาโดยการใช้แสงเลเซอร์ สามารถลดความดันตาหรือใช้ป้องกันภาวะต้อหินเฉียบพลันได้ การใช้เลเซอร์เพื่อลดความดันตานั้นมักใช้ร่วมกับการใช้ยาสำหรับผู้ป่วยที่มีมุมตาแคบหรือมีภาวะต้อหินเฉียบพลัน อาจต้องได้รับการยิงเลเซอร์ที่ม่านตาเพื่อป้องกันหรือควบคุมโรคได้ การทำเลเซอร์ในโรคต้อหินนั้นทำไม่ยากและไม่ค่อยพบภาวะแทรกซ้อน โดยทั่วไปจะพิจารณาทำในตาทั้ง 2 ข้าง ใช้เวลาทำข้่างละประมาณ 10 - 15 นาที โดยไม่ต้องนอนพักในโรงพยาบาล
การรักษาโดยการผ่าตัด การรักษาต้อหินโดยการผ่าตัดมุ่งเน้นที่การทำช่องเพื่อระบายน้ำภายในลูกตา (Aqueous) จากช่องลูกตาส่วนหน้า (anterior chamber) ออกมาสู่ภายนอกเพื่อลดความดันตา ความสำเร็จของการผ่าตัดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ที่สำคัญที่สุ คือการหายของบาดแผลบริเวณที่ได้รับการผ่าตัด ซึ่งหากเกิดขึ้นมากก็จะนำไปสู่ความลัมเหลวของการผ่าตัด และหากเกิดขึ้นน้อยเกินไป ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดได้ การผ่าตัดต้อหินต้องทำในห้องผ่าตัด โดยทั่วไปใช้เพียงการฉีดยาชาเฉพาะที่ก็เพียงพอ ส่วนกรณีในผู้ป่วยที่ไม่ร่วมมือ เช่น เด็กเล็ก อาจต้องผ่าตัดภายใต้การดมยาสลบ
(ข้อมูลวันต้อหินโลก จากเว็บไซต์ ชมรมต้อหินแห่งประเทศไทย www.thaiglaucoma.org)
ส่วนวันไตโลกกำหนดให้เป็นวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมีนาคม โดยทางองค์กรสากล สมาพันธ์มูลนิธิโรคไตนานาชาติและสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย และสำนักงานประกันหลักสุขภาพแห่งชาติจึงได้ร่วมกันกำหนดในวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมีนาคมทุกปี เป็น“วันไตโลก (World Kidney Day)” ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม 2554 โดยเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2549 เป็นวันไตโลกครั้งแรก เพื่อสร้างความตื่นตัวในการป้องกันโรคไตแก่ประชาชน ให้คนไทยได้ตระหนักถึงภัยของโรคไต การดูแลตนเองเพื่อให้ปลอดจากโรคและสุขภาพดี และสร้างทัศนคติที่ดีในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไตด้วยการบริจาคไตในผู้ป่วยอุบัติเหตุสมองตาย รวมทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไตแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศในรูปแบบของกิจกรรมต่างๆ ทั่วประเทศ
(ข้อมูลวันไตโลกจากเว็บไซต์ สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย http://www.nephrothai.org และเว็บไซต์ บริษัท อ้วยอันโอสถ จำกัด www.herbalone.net)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น