Banana

วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2554

ข่าว ; มช.ถวายปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่เจ้าชายอะกิชิโนะ แห่งญี่ปุ่น


ศูนย์ข่าวจิ๊บจิ๊บ ; มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีกำหนดจัดพิธีทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม แด่เจ้าชายอะกิชิโนะ แห่งประเทศญี่ปุ่น 9 มีนาคม 2554

ในโอกาสที่เจ้าชายอะกิชิโนะ แห่งประเทศญี่ปุ่น เสด็จฯ เยือนจังหวัดเชียงใหม่นี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะได้จัดพิธีถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม แด่เจ้าชายอะกิชิโนะ ในวันพุธที่ 9 มีนาคม 2554 เวลา 14.30 น. ณ ศาลาธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เจ้าชายอะกิชิโนะ แห่งประเทศญี่ปุ่น ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 2 แห่งสมเด็จพระจักรพรรดิ อะกิฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน คริสต์ศักราช 1965 ทรงอภิเษกกับเจ้าหญิงคาวะชิมะ คิโกะ มีพระโอรสและธิดา 3 พระองค์ ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยงะคุชูอิน และมีความสนพระทัยด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ จึงได้ทรงศึกษาต่อที่สหราชอาณาจักร จนสำเร็จปริญญาโทด้านสัตววิทยาจากวิทยาลัยเซ็นต์จอห์นแห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด

ในการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านปักษีวิทยา ณ มหาวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาชั้นสูงแห่งคะนะงะวะ ประเทศญี่ปุ่น  ทรงมีผลงานการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสายพันธุ์ไก่ อาทิ ไก่พื้นเมือง ไก่ป่า ไก่เลี้ยง ตลอดจนวงศ์ไก่ฟ้า ความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมเชิงวิวัฒนาการของไก่พื้นเมืองและนก โดยทรงศึกษาสายพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังทรงมีผลงานการศึกษาสายพันธุ์สัตว์ปีกของยุโรป ด้วยพระปรีชาสามารถทางวิชาการและพระเมตตาธรรม ทรงรับดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์สถาบันปักษีวิทยาแห่งยะมะชินะ ประธานสมาคมสวนสัตว์และสัตว์น้ำแห่งประเทศญี่ปุ่น และประธานกิตติมศักดิ์แห่ง World Wide Fund for Nature แห่งประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้ทรงมีความสนพระทัยเป็นพิเศษทางด้านมีนวิทยา โดยระหว่างศึกษาทรงมีพระอาจารย์ทางมีนวิทยาที่มีชื่อเสียงทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวอังกฤษ ทรงมีผลงานทางมีนวิทยาเป็นที่ยอมรับของนักมีนวิทยาทั่วโลก โดยเฉพาะงานวิจัยเชิงเปรียบเทียบ ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลทางสรีรวิทยาและข้อมูลทางพันธุกรรม จึงได้ทรงงานอย่างใกล้ชิดกับสถาบันอุดมศึกษาของไทยรวมทั้งกรมประมง และได้เสด็จทรงงานในประเทศไทยร่วมกับนักวิชาการประมงของไทยหลายครั้ง โดยทรงสนพระทัยพันธุ์ปลาในลุ่มแม่น้ำโขงเป็นพิเศษ และได้เสด็จทรงงานภาคสนามอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ จากการที่พระองค์ทรงมีพื้นฐานทางการศึกษาด้านสังคมวิทยา ได้ส่งผลให้ทรงสนพระทัยเกี่ยวกับประเพณีท้องถิ่น โดยเฉพาะพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประมง ทรงมีพระปฏิสันถารอย่างไม่ถือพระองค์กับประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อความสัมพันธ์และความเข้าใจในระดับชาติของพสกนิกรทั้งสองประเทศ

ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระปรีชาสามารถ พระวิริยะอุตสาหะอันเนื่องมาจากความสนพระทัยในการวิจัยทางวิชาการ ทรงอุทิศพระองค์เพื่อการศึกษาทางด้านปักษีวิทยา ได้ทรงศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ  ดังปรากฏในงานวิจัยเรื่อง ไก่กับคน ซึ่งผลงานวิจัยนี้ได้ก่อให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความสลับซับซ้อนของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม นับเป็นงานวิจัยที่ทรงคุณค่าที่จะทำให้วงวิชาการของไทยได้เห็นถึงความสำคัญและความหมายของการศึกษาที่ผสมผสานระหว่างศาสตร์ต่างๆ เพื่อให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งของสังคม จากการที่พระองค์ทรงอยู่ในฐานะผู้นำทางวิชาการที่มีผลงานเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ พระองค์ทรงมีบทบาทในการวิจัยร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทย ซึ่งส่งผลต่อการศึกษาวิจัยในปัจจุบัน อันแสดงถึงความร่วมมือร่วมใจของประเทศทั้งสองจากอดีตถึงปัจจุบัน

เพื่อเป็นสัญลักษณ์ทางพระราชไมตรีอันดีระหว่างราชอาณาจักรไทยและญี่ปุ่น ซึ่งได้ดำเนินมาครบ 120 ปี ในปี พ.ศ. 2550 นับตั้งแต่ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ ดังนั้น  ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นจึงถือเป็น “120 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น” และในโอกาสพิเศษนี้ สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม แด่เจ้าชายอะกิชิโนะ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติคุณให้เป็นที่ประจักษ์ รวมทั้งเพื่อความเป็นสิริมงคลและเป็นเกียรติอันสูงสุดแก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่สืบไป

(ภาพประกอบข่าวจากเว็บไซต์ กระทรวงการต่างประเทศ http://www.mfa.go.th/web/2662.php?id=21728)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น