Banana

วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2563

ข่าว ; Thai Sky Doctor รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ รับ HERO Award

บุคลากรประจำทีมแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ (Thai Sky Doctor) โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้รับรางวัล “HERO Award for Sky Doctor” ซึ่งช่วยเหลือลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินพื้นที่ห่างไกลในเขตสุขภาพที่ 1 โดยพิธีมอบรางวัลมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน

นายเชิดพงษ์ ปัญญา บุคลากรประจำทีมแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวว่า Sky Doctor คือการช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลให้รอดชีวิต ซึ่งตนเองได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมแพทย์ฉุกเฉินที่ต้องผ่านการอบรมการบิน โดยมีแพทย์และพยาบาลที่ผ่านการอบรมโดยทุนของ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ผ่านทางโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ซึ่งได้รับทุนอย่างต่อเนื่องทั้งแพทย์ พยาบาล และนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ รวมประมาณ 20 คน

สำหรับขั้นตอนการส่งต่อผู้ป่วยทางอากาศยานของเขตสุขภาพที่ 1 หากจะมีการส่งต่อผู้ป่วยมายังโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ แพทย์ทั้งต้นทางและปลายทางของทั้ง 2 โรงพยาบาล จะมีการประสานกันว่าสมควรส่งมารักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่หรือไม่ และจะมีการพิจารณาตามความจำเป็น ถ้าหากประเมินร่วมกันแล้วว่าต้องการเร็วที่สุด ก็อาจจะพิจารณาส่งต่อผู้ป่วยทางอากาศยาน หลังจากนั้นจึงจะพิจารณาว่าในขณะนั้นอากาศยานมีที่ไหนว่างและสะดวกเหมาะสมที่สุด เนื่องจากทางโรงพยาบาลไม่มีอากาศยานเป็นของตัวเอง ต้องอาศัยหน่วยงานทหาร ตำรวจ หรือหน่วยงานอื่นที่มีอากาศยาน และได้ทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ สพฉ. ไว้แล้ว

จากนั้น หากร่วมกันพิจารณาแล้วว่าจะใช้อากาศยาน ก็จะต้องมีแพทย์อำนวยการปฏิบัติการฉุกเฉิน (พอป.) ของเขต มีหน้าที่ในการพิจารณาความเหมาะสมของผู้ป่วย ที่จะลำเลียงทางอากาศ  เป็นผู้พิจารณาอนุมัติว่าผู้ป่วยรายนี้มีความจำเป็นจริงและไม่มีข้อห้ามอื่นใด ซึ่งแพทย์อำนวยการปฏิบัติการฉุกเฉินจะให้คำปรึกษารวมทั้งสั่งการทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยและผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินได้รับความปลอดภัยสูงสุดตลอดการปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ ซึ่งในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา ทีมแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศได้ช่วยลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ห่างไกล เข้าถึงยาก ส่งโรงพยาบาลขนาดใหญ่เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว เพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตและลดเวลาการขนส่งลำเลียงยา เวชภัณฑ์ ทางรถยนต์ที่มีความลำบาก ใช้เวลานาน สามารถลดระยะเวลาการเดินทางจากกว่า 5 ชั่วโมง หรือเป็นวัน เหลือเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน ออกปฏิบัติการไปแล้ว 489 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยกลุ่มกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจหยุดเต้น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และผู้ป่วยบาดเจ็บทางศีรษะรุนแรง ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการรักษา ปลอดภัย กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ


****************


www.jupjib.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น