ศูนย์เตือนภัยธุรกิจภาคเหนือ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยผลการสำรวจสิ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs ในจังหวัดเชียงใหม่ต้องเตรียมรับมือมากที่สุดในการทำธุรกิจ ในเดือนกรกฎาคม 2554
ศูนย์เตือนภัยธุรกิจภาคเหนือ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย อ.ดร.ชัยวุฒิ ตั้งสมชัย และ ผศ.ปิยพรรณ กลั่นกลิ่น โดยมี รศ.บุญสวาท พฤกษิกานนท์ คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่ปรึกษา สรุปผลการสำรวจสิ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs ในจังหวัดเชียงใหม่ต้องเตรียมรับมือมากที่สุดในการทำธุรกิจ ประจำเดือนกรกฎาคม 2554 ดังนี้
สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือในการทำธุรกิจมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ (1) ปัญหาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 30.25 (2) ปัญหาสภาพเศรษฐกิจ ร้อยละ 23.75 (3) ปัญหาการท่องเที่ยวซบเซา ร้อยละ 9.50 (4) ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงและคู่แข่งที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.25 และ (5) ปัญหาด้านความไม่แน่นอนทางการเมือง ร้อยละ 6.00 สิ่งที่น่าสนใจ คือ ผู้ประกอบการให้ความสำคัญหรือเตรียมพร้อมที่จะรับมือในการทำธุรกิจในอันดับต้น ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาจากสภาวะแวดล้อมภายนอกที่ผู้ประกอบไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะปัญหาด้านต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งต้นทุนด้านการดำเนินงาน ต้นทุนด้านพลังงาน และต้นทุนวัตถุดิบ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระสูงขึ้นและมีอัตรากำไรลดลง ดังนั้นปัญหาเรื่องต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นผู้ประกอบการจึงให้ความสำคัญมากเป็นอันดับแรก รองลงมาคือปัญหาสภาพเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่าภาวะเศรษฐกิจในประเทศยังไม่มีเสถียรภาพ ทำให้ผู้ประกอบการต้องเตรียมพร้อมที่จะปรับตัวในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน และผู้ประกอบการบางกลุ่มให้ความสนใจกับการเมืองและผลการเลือกตั้ง เพราะอยากรู้ว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมีแนวทางในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในทิศทางใด ส่วนปัจจัยภายในกิจการที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ การจัดการกับสภาพคล่องเรื่องเงินทุนหมุนเวียน การรักษาและพัฒนาคุณภาพของสินค้าและการให้บริการแก่ลูกค้า และความพร้อมในเรื่องของเงินทุน
ทางด้านผลการสำรวจแยกตามประเภทหมวดธุรกิจทั้ง 6 หมวดนั้น หมวดผ้าทอและเครื่องนุ่งห่มจากผ้าทอ พบว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการผ้าทอและเครื่องนุ่งห่มจากผ้าทอต้องเตรียมรับมือมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ (1) ปัญหาสภาพเศรษฐกิจ ร้อยละ 31.58 (2) ปัญหาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 28.95 และ (3) นโยบายของรัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง ร้อยละ 10.53
หมวดการผลิตหัตถกรรมจากไม้ พบว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการหมวดการผลิตหัตถกรรมจากไม้ต้องเตรียมรับมือมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ (1) ปัญหาสภาพเศรษฐกิจ ร้อยละ 37.84 (2) ปัญหาการท่องเที่ยวที่ซบเซา ร้อยละ 27.03 และ (3) ปัญหาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นและปัญหาด้านความไม่แน่นอนทางการเมืองเท่ากัน ร้อยละ 10.81
หมวดการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป พบว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการหมวดการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปต้องเตรียมรับมือมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ (1) ปัญหาเรื่องสภาพเศรษฐกิจ ร้อยละ 21.54 (2) ปัญหาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 18.46 และ (3) ปัญหาเรื่องสภาพอากาศ ร้อยละ 16.92
หมวดการบริการซ่อมบำรุงรถยนต์ พบว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการหมวดการบริการซ่อมบำรุงรถยนต์ต้องเตรียมรับมือมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ (1) ปัญหาสภาพเศรษฐกิจ ร้อยละ 35.00 (2) ปัญหาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 18.33 และ (3) ปัญหาขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะแรงงานฝีมือ ร้อยละ 11.67
หมวดการบริการอาหารและเครื่องดื่ม พบว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการหมวดการบริการอาหารและเครื่องดื่มต้องเตรียมรับมือมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ (1) ปัญหาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 65.00 (2) ปัญหาสภาพเศรษฐกิจ ร้อยละ 20.00 และ (3) ปัญหาเรื่องเงินทุน ร้อยละ 6.00
หมวดการบริการที่พักแรมสำหรับนักท่องเที่ยว พบว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการหมวดการบริการที่พักแรมสำหรับนักท่องเที่ยวต้องเตรียมรับมือมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ (1) ปัญหาการท่องเที่ยวที่ซบเซา ร้อยละ 25.00 (2) ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงและคู่แข่งที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.00 และ (3) ปัญหาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 18.00
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น