สำหรับองค์ประกอบที่ใช้ในการจัดทำดัชนีได้แก่การคาดการณ์ในด้าน กำไร ยอดขาย ต้นทุนธุรกิจ การจ้างงาน การลงทุน มีค่าอยู่ระหว่าง 0 – 100 ถ้าค่าดัชนีมีค่ามากกว่า 50 หมายถึง ผู้ประกอบการโดยรวมคาดการณ์ว่าองค์ประกอบนั้นๆ มีการปรับตัวในทิศทางที่เพิ่มขึ้น ถ้าค่าดัชนีมีค่าเท่ากับ 50 หมายถึง ผู้ประกอบการโดยรวมคาดว่า องค์ประกอบนั้น ๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือคงอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ถ้าค่าดัชนีมีค่าน้อยกว่า 50 หมายถึง ผู้ประกอบการโดยรวมคาดว่า องค์ประกอบนั้นๆ มีการปรับตัวในทิศทางที่ลดลง ดัชนีนี้เป็นการรวบรวมความคิดเห็นและการคาดการณ์ผู้ประกอบการโดยการสุ่มตัวอย่าง สามารถใช้ข้อมูลนี้ซึ่งมาจากผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงและมีประสบการณ์ในธุรกิจเป็นตัวชี้วัดภาพรวมได้
สำหรับไตรมาสที่ 3/2554 ช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2554 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวในทิศทางที่ลดลงเมื่อเทียบกับ ไตรมาสที่ผ่านมา 2 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าภาวะธุรกิจในภาพรวมของจังหวัดเชียงใหม่ไตรมาสที่ 3 มีการหดตัวลงอย่างต่อเนื่องหลังจากไตรมาสที่สอง ส่วนหนึ่งมาจากผู้ประกอบการเชื่อมั่นว่าสภาวะเศรษฐกิจในจังหวัดเชียงใหม่ และเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศยังไม่ถูกกระตุ้นเท่าที่ควร และอำนาจซื้อของประชาชนลดลง ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองยังอยู่ในช่วงของการเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้งใหม่ อีกทั้งช่วงไตรมาสนี้ยังอยู่ในช่วงที่มีความต้องการซื้อต่ำ (Low Season) ทำให้ผู้ประกอบการคาดว่าภาวะธุรกิจด้านต่าง ๆ ยังไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ที่มียอดขายและรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นด้านการจ้างงานและกำลังการผลิตลดลงอยู่ที่ระดับ 48.4 และ 56.1 ซึ่งปรับตัวลดลงตามปริมาณความต้องการของผู้บริโภคที่มีความต้องการลดลงด้วย
ในส่วนของดัชนีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนปรับตัวในทิศทางที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 52.6 ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการการขยายการลงทุนเพิ่ม เพราะคาดหวังว่าเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงปลายปีจะดีขึ้น จากการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นด้านต้นทุนธุรกิจยังคงปรับตัวในทิศทางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสนี้ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 82.5 เนื่องจากผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากต้นทุนทางด้านต้นทุนวัตถุดิบ พลังงาน ราคาน้ำมันและค่าขนส่ง รวมถึงแนวโน้มค่าแรงขั้นต่ำที่จะปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือมากที่สุดในการทำธุรกิจ 3 อันดับแรกคือ (1) ปัญหาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 30.25 (2) ปัญหาสภาพเศรษฐกิจ ร้อยละ 23.75 และ (3) ปัญหาการท่องเที่ยวที่ซบเซา ร้อยละ 9.50
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นแยกตามหมวดธุรกิจพบว่า หมวดธุรกิจบริการที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวและหมวดธุรกิจบริการอาหารและเครื่องดื่ม มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นด้านยอดขายปรับลดลงมากเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว ทำให้การจ้างงานลดลงตามไปด้วย สำหรับหมวดการผลิตผ้าทอและเครื่องนุ่งห่มจากผ้าทอ และหมวดการผลิตหัตถกรรมจากไม้ ค่าดัชนีมีการปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนเช่นกัน แต่ผู้ประกอบการยังมีความต้องการแรงงานที่มีฝีมือและทักษะความชำนาญ ส่วนหมวดธุรกิจการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปและหมวดธุรกิจซ่อมบำรุงรถยนต์ ดัชนีด้านยอดขายและการลงทุนเพิ่มยังอยู่ในระดับที่มากกว่า 50.0 ถึงแม้จะปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น