Banana

วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2567

ข่าว ; อาจารย์แพทย์ มช.เตือน “ฝีดาษลิง” กลับมาระบาด แนะเฝ้าระวัง หากมีอาการรีบพบแพทย์ทันที


อาจารย์แพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เตือนประชาชน จับตากระแสโรคฝีดาษลิงหวั่นแพร่ระบาดอีกครั้ง แนะให้เฝ้าระวังสังเกตอาการ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง แต่หากผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องสามารถมีการดำเนินโรคที่รุนแรงได้ หากมีอาการให้รีบพบแพทย์ทันที

อ.พญ.อาทิตยา หลวงนรา อาจารย์ประจำหน่วยโรคติดเชื้อและเวชศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า โรคฝีดาษลิง หรือ โรคฝีดาษวานร เป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Monkeypox Virus ซึ่งเป็นไวรัสกลุ่มเดียวกับ Variola Virus ที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษสมัยก่อน และเป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1958 ขณะนั้นได้ค้นพบเชื้อไวรัสชนิดนี้ในประชากรลิงในห้องทดลอง จึงเป็นที่มาของโรคดังกล่าว นอกเหนือจากนี้ยังมีการรายงานการติดเชื้อดังกล่าวในมนุษย์ ในแถบประเทศทวีปแอฟริกามาเป็นระยะ โดยเฉพาะแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันตก สำหรับการรายงานการติดเชื้อนอกทวีปแอฟริกา มักจะสัมพันธ์เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายสัตว์ระหว่างประเทศ

การระบาดครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี ค.ศ 2022 เป็นการระบาดนอกทวีปแอฟริกาครั้งแรก มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกทั้งสิ้น 99,518 คน และมีผู้เสียชีวิต 208 คน โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และมีการติดเชื้อจากการสัมผัสอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามการระบาดครั้งนี้เกิดจาก monkeypox virus สายพันธุ์ clade II ที่มีความรุนแรงของโรคไม่มากและมีอัตราการเสียชีวิตน้อยเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ clade I ที่เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิม หลังจากการมีควบคุมโรคอย่างเหมาะสมและการรณรงค์การฉีดวัคซีนป้องกันจึงทำให้จำนวนผู้ป่วยลดลงอย่างมาก จนเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2023 WHO ได้ประกาศยกเลิก public health emergency of international concern ในโรคฝีดาษลิง

สถานการณ์การระบาดของโรคฝีดาษลิง กลับมาน่าเป็นห่วงอีกครั้งในปีนี้ เมื่อมีการระบาดมากขึ้นที่แถบทวีปแอฟริกาโดยเฉพาะที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกและประเทศใกล้เคียง ที่นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 13,000 คน และมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 450 คน การระบาดในครั้งนี้พบว่ามีการกลายพันธุ์ของไวรัส clade I ซึ่งการกลายพันธุ์ครั้งนี้ทำให้มีการแพร่เชื้อได้มากขึ้นและมีความรุนแรงของโรคมากขึ้น จึงทำให้ WHO ประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็น public health emergency of international concern อีกครั้งในวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 2024 ที่ผ่านมา

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย นับตั้งแต่มีการระบาดครั้งแรกจนถึงปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้นประมาณ 800 คน โดยพบว่าจำนวนผู้ป่วย ในช่วงปี 2567 ที่ผ่านมาลดลงมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยกรมควบคุมโรค ระบุว่าโรคฝีดาษวานรที่ระบาดในแอฟริกาขณะนี้เป็นคนละสายพันธุ์กับในไทย

อาการและการแสดงของผู้ป่วย จะแบ่งเป็น 3 ระยะด้วยกันคือ ระยะที่ 1 เป็นระยะฟักตัว จะอยู่ประมาณ 5-21 วัน หลังรับเชื้อ ระยะที่ 2 ระยะไข้ จะมีอาการ 1-5 วัน มีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ เมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งอาการของต่อมน้ำเหลืองโตเป็นอาการเด่นที่สำคัญ ที่ใช้แยกโรคฝีดาษลิงออกจากโรคอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่นอีสุกอีใส เป็นต้น ระยะที่ 3 ระยะผื่น มีอาการ 2-4 สัปดาห์ โดยผื่นจะมีการเปลี่ยนแปลงตามเวลา โดยจะเริ่มเป็นตุ่มนูนแดงก่อน จากนั้นจะเป็นตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง ตกสะเก็ดหลุดไป โดยลักษณะการกระจายของผื่นที่เด่นของโรคนี้มักจะเป็นบริเวณใบหน้า ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และบริเวณอวัยวะเพศ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง แต่หากผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องสามารถมีการดำเนินโรคที่รุนแรงได้

สำหรับการแพร่กระจายเชื้อ สามารถแพร่ได้หลายทาง ได้แก่การสัมผัสกับผื่นและสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อ ความใกล้ชิดอยู่ร่วมกันเป็นเวลานาน หายใจร่วมกันเป็นเวลานาน ใกล้ชิดพอสมควรถึงจะสามารถติดได้ นอกจากนี้การสัมผัสทางกายอย่างแนบชิด โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อก็สามารถทำให้ติดโรคนี้ได้ การสัมผัสสิ่งของของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ เช่น เสื้อผ้า หรือเครื่องนุ่งห่ม การติดเชื้อจากแม่สู่ลูกผ่านทางรก โดยปกติ โรคติดเชื้อนี้จะเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีอาการและนับไปจนกระทั่งตุ่มหลุดและตกสะเก็ด และมีผิวหนังชั้นใหม่ขึ้นมาแทนที่ จะไม่เหมือนกับโควิด-19 ที่สามารถแพร่ได้ตั้งแต่ก่อนผู้ป่วยมีอาการ

สำหรับการป้องกัน ที่ดีที่สุดในปัจจุบันคือการใช้วัคซีน โดยมีประสิทธิภาพป้องกันโรคถึง 85 เปอร์เซ็นต์ เมื่อฉีดครบ 2 เข็ม สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 18 ปีเป็นต้นไป จึงแนะนำฉีดวัคซีนโดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง คำแนะนำอื่นในการป้องกันการติดเชื้อ ได้แก่ ห้ามสัมผัสผื่นในผู้ที่มีผื่นคล้ายสงสัยหรือวินิจฉัยว่าเป็นโรคฝีดาษลิง ห้ามใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกันกับผู้ป่วยที่เป็นฝีดาษลิง ไม่ว่าจะเป็น ช้อนส้อม เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน เป็นต้น

หลีกเลี่ยงการหายใจร่วมกันหรือว่าการอยู่ร่วมกันเป็นระยะเวลานานและใกล้ชิด รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อไวรัส แนะนำให้ล้างมือให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นน้ำสบู่หรือแอลกอฮอล์ ในกรณีที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ โดยเฉพาะแอฟริกา แนะนำหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์กลุ่มฟันแทะและลิง เป็นต้น

เมื่อมีการติดเชื้อฝีดาษลิง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายได้เอง ไม่จำเป็นต้องรับยาต้านไวรัส โดยผู้ป่วยต้องกักตัวจนกว่าผื่นสุดท้ายตกสะเก็ดและมีผิวหนังใหม่มาปกคลุม แต่หากมีรอยโรคแถวบริเวณดวงตา เยื่อบุผิวหนัง มีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ หรือเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจะเป็นข้อบ่งชี้ของการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ประชาชนทั่วไปถ้าติดโรคส่วนใหญ่มักมีอาการที่ไม่รุนแรง หายเองได้ และอัตราการเสียชีวิตต่ำ

อีกหนึ่งช่องทางการติดตามข่าว

https://www.blockdit.com/posts/66be001eaa2fcd05d8f95a51

อ้างอิง

กลุ่มงานสื่อสารองค์กร งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

**************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น