นักวิจัย มช. ประสบความสำเร็จตรวจการเข้ากันได้ของเลือดและถ่ายพลาสม่าในช้างครั้งแรกของประเทศไทย พบว่าสามารถเก็บพลาสม่าช้างแช่แข็งได้นาน 1 ปี ยังคงประสิทธิภาพเพื่อใช้รักษาช้างยามฉุกเฉิน
รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม และ อาจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.ภัคนุช บันสิทธิ์ จากศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ ภาควิชาเทคนิคการแพทย์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันคชบาลแห่งชาติ สมาคมสหพันธ์ช้างไทย และ ปางช้างในจังหวัดเชียงใหม่ ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการถ่ายพลาสม่า ซึ่งเป็นองค์ประกอบของเลือดที่ประกอบไปด้วยโปรตีนและภูมิคุ้มกันต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของสัตว์ โดยเริ่มต้นจากงานวิจัยการตรวจสอบความเข้ากันได้ของเลือดในช้างเอเชีย และการพัฒนา Rabbit ant-elephant immunoglobulin G ที่ช่วยในการตรวจสอบความเข้ากันได้ของเลือดให้ชัดเจนมากขึ้น ผลการทดสอบพบว่ามีช้างหลายเชือกที่พบปัญหาการเข้ากันไม่ได้ ซึ่งถ้าต้องมีการถ่ายเลือดและพลาสม่าจะทำให้เกิดปัญหาตามมา ทำให้ต้องมีการวางแผนและระวังกันมากขึ้น
|
นายสัตวแพทย์ ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม |
และเนื่องจากการทำงานกับช้างต้องออกพื้นที่ห่างไกล ทำให้ไม่สามารถเก็บพลาสม่าของช้างได้ทันท่วงที รวมทั้งช้างที่ป่วยด้วยความผิดปกติบางอย่าง เช่น การติดเชื้อโรคไวรัสเฮอร์ปีส์ในลูกช้าง ซึ่งมีความรุนแรงสูง ทำให้ลูกช้างล้มภายในเวลา 24-48 ชั่วโมงหลังเริ่มแสดงอาการ และมีอัตราการล้มสูงถึง 70% ถึงแม้ว่าจะได้รับการรักษาแล้ว จึงต้องมีการวางแผนการรักษาเป็นอย่างดีและเร่งด่วน ทำให้เกิดงานวิจัยการเตรียมและทดสอบประสิทธิภาพของพลาสม่าแช่เย็นและแช่แข็ง (fresh-frozen plasma) เพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน ซึ่งผลการวิจัยพบว่าสามารถเก็บพลาสม่าของช้างแช่แข็งไว้ได้ถึง 1 ปี โดยที่ยังคงประสิทธิภาพในการรักษาได้
|
อาจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.ภัคนุช บันสิทธิ์ |
สำหรับพลาสม่าแช่เย็นและแช่แข็ง สามารถนำมาใช้ในการรักษาช้างหลายโอกาส เช่น การรักษาช้างที่ไม่กินอาหารและน้ำเป็นเวลา 20 วัน การรักษาช้างที่เกิดภาวะสูญเสียเลือดอย่างรุนแรงหลังคลอดลูก การรักษาลูกช้างที่สูญเสียเลือดจากการติดเชื้อโรคไวรัสเฮอร์ปีส์ในช้าง เป็นต้น ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยสามารถช่วยรักษาชีวิตช้างที่เป็นสัตว์สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และประเทศไทยได้หลายเชือก ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวจะได้มีการเผยแพร่เพื่อช่วยเหลือช้างทั่วโลกต่อไป
******************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น