นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการที่ได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำไหลหลาก และน้ำเอ่อล้นตลิ่งใน 7 จังหวัด รวม 14 อำเภอ 21 ตำบล 61 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 853 หลัง แยกเป็น ภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ กำจังหวัดแพงเพชร น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองกำแพงเพชร และอำเภอพรานกระต่าย บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 800 หลัง จังหวัดอุตรดิตถ์ น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอทองแสนขัน และอำเภอพิชัย บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 47 หลัง พื้นที่ทางการเกษตรเสียหาย 100 ไร่ จังหวัดเชียงใหม่ น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอจอมทอง อำเภอดอยเต่า และอำเภออมก๋อย สะพานเสียหาย 1 แห่ง จังหวัดพิษณุโลก น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอชาติตระการ และอำเภอวัดโบสถ์ บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 6 หลัง ถนนเสียหาย 1 สาย จังหวัดลำพูน เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอแม่ทา ส่งผลให้คอสะพานบ้านห้วยฮ่อมได้รับความเสียหาย ถนนในหมู่บ้านถูกดินเลื่อนไหลขวางเส้นทาง ปัจจุบันฝนหยุดตกสามารถสัญจรได้ตามปกติแล้ว
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเลย น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอภูกระดึง และอำเภอวังสะพุง ระดับน้ำสูง 10 – 40 เซนติเมตร จังหวัดอุดรธานี เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนายูง และอำเภอหนองวัวซอ ส่งผลให้ทางเบี่ยงจุดก่อสร้างสะพานได้รับความเสียหาย สถานการณ์โดยรวมยังมีฝนตกในพื้นที่ ระดับน้ำทรงตัว
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ประเทศไทยตอนบนจะยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่อีก 1 วัน โดยมีผลกระทบดังนี้ ภาคเหนือ บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก กำแพงเพชร เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง บริเวณจังหวัดราชบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก บริเวณจังหวัดปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ปภ.จึงได้ประสานจังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด อีกทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์และชุดเคลื่อนที่เร็วให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับเพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้ความช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
******************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น