มหาวิทยาลัยพายัพ และเอแบคโพลล์ พร้อมจัดการสำรวจผลการเลือกตั้ง ส.ส.54 ในการเลือกตั้งล่วงหน้า วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน นี้ ในทุกเขตเลือกตั้งของจังหวัดเชียงใหม่ แต่ยังเกรงประชาชนไม่เข้าใจและไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร จึงขอทำความเข้าใจเรื่องการทำโพลล์ ว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์สามารถใช้ประกอบการตัดสินใจในกิจกรรมสำคัญเพื่อส่วนรวมได้เป็นอย่างดี
ดร.รักษ์ พรหมปาลิต รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิทยบริการ มหาวิทยาลัยพายัพ กล่าวว่า ตามที่สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยพายัพ และ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้ร่วมกันทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2554 เพื่อสำรวจพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งบริเวณหน่วยเลือกตั้ง (Exit Poll) ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งในวันเลือกตั้งล่วงหน้า วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน 2554 และในวันเลือกตั้ง วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม 2554 นั้นถือเป็นการวิจัยเชิงสำรวจ ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อบริการวิชาการสู่สังคมของสถาบันอุดมศึกษาทั้งสองแห่ง
การทำ Exit Poll ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ครั้งนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาของทั้งสองสถาบัน รวมทั้งนักเรียน นักศึกษาในสถาบันการศึกษาเครือข่ายในจังหวัดเชียงใหม่กว่า 300 คน ร่วมเป็นพนักงานเก็บข้อมูลในบริเวณหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งทุกคนจะได้รับการอบรมเพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ดร.รักษ์ พรหมปาลิต กล่าวอีกว่า จากประสบการณ์ของการทำ exit poll ที่ผ่านมา พบว่าประชาชนที่มาลงคะแนนเสียงจะมีความกังวลเกี่ยวกับการตอบแบบสำรวจ ไม่ไว้วางใจผู้ปฎิบัติงาน ไม่อยากให้ความร่วมมือ และบางพื้นที่มีผู้ที่ไม่ทราบเรื่องการสำรวจมาขัดขวางการปฏิบัติงาน ดังนั้นการสำรวจครั้งนี้ ทีมงานเก็บข้อมูล จะมีบัตรแสดงตนระหว่างการปฏิบัติงาน และมีหนังสือแจ้งไปยังประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้ง โดยจะปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่บริเวณทางออกของหน่วยเลือกตั้ง ระยะห่างไม่น้อยกว่า 20 เมตรจากคูหาเลือกตั้ง เมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว และเดินออกนอกหน่วยเลือกตั้ง พนักงานเก็บข้อมูลก็จะส่งแบบสอบถามให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกรอกแบบสอบถามเพื่อสำรวจความคิดเห็น โดยข้อมูลของผู้ตอบแบบสอบถามแต่ละคนจะถูกเก็บเป็นความลับ ไม่มีการเปิดเผยว่าเก็บมาจากใครและหน่วยเลือกตั้งใด หลังจากนั้นจะนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดไปประมวลผลตามหลักวิชาการ ทำการเผยแพร่ผลการสำรวจ หลังเวลา 15.00 น. ซึ่งเป็นเวลาหลังจากปิดหีบเลือกตั้ง ในวันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม 2554 จึงขอความร่วมมือจากประชาชนชาวเชียงใหม่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในการตอบแบบสอบถามดังกล่าวและโปรดมั่นใจว่าการสำรวจข้อมูลดังกล่าวนี้จะไม่ส่งผลร้ายใด ๆ ต่อผู้ตอบ
ทั้งนี้เนื่องจากการจัดทำ Exit Poll ครั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญได้ทำหนังสือหารือถึงแนวปฏิบัติในการทำ Exit Poll ไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง และได้รับแจ้งตอบข้อหารือเป็นหนังสือจากเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2554 ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้งพิจารณาแล้วว่าการดำเนินโครงการสำรวจพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนบริเวณหน่วยเลือกตั้ง (Exit Poll) ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นสามารถทำได้ แต่มีข้อห้ามสำคัญคือ ห้ามเปิดเผยหรือเผยแพร่ผลการสำรวจดังกล่าวก่อนเวลาปิดการลงคะแนนเลือกตั้ง
นอกจากนั้น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มีหนังสือเวียน ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2554 แจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำหน่วยเลือกตั้งทราบการทำ Exit Poll ที่ดำเนินการโดย สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ทั้งนี้เพื่อความเรียบร้อยในการปฏิบัติงานของนักศึกษาอาสาสมัคร พนักงานอาสาสมัครเก็บข้อมูลในการสำรวจความเห็นของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
สำหรับการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน หรือ โพลล์ (Poll) นั้น ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า เกิดขึ้นมาแล้วหลายศตวรรษ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกามีการสำรวจอย่างเป็นทางการมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยมีสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ได้ทำโพลล์ด้านต่าง ๆ เช่น โพลล์ทางด้านสังคม เศรษฐกิจ หรือการเมือง บางโครงการทำการสำรวจโดยอาศัยระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่ถูกต้อง ผลของโพลล์จึงมีคุณภาพสูง ให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ มีความเที่ยงตรง เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์และมีคุณค่า สามารภใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจเกี่ยวกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือเป็นข้อมูลชี้นำสังคมในที่ทางถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น