เตรียมประกาศให้ถนนเชียงใหม่-ลำพูนสายต้นยางเป็นถนนอนุรักษ์ธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ หลังจากสมาคมสถาปนิกเสนอต่อกระทรวงทรัพย์มานานร่วม 5 ปี มีการศึกษา และประชุมฟังความคิดเห็นประชาชนสองจังหวัด ล่าสุดกำหนดจะประชุมครั้งใหม่เดือนหน้า หากเป็นไปได้จะออกกฎหมายคุ้มครองต้นยางยักษ์-ขี้เหล็กหลวง
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2554 นายอภิวัฒน์ คุณารักษ์ ผอ.สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดเชียงใหม่เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายวีรนิต ฐานสุพร ตัวแทนสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากระรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอโครงการกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม บริเวณทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 106 เชียงใหม่-ลำพูน (สายเก่า) ต่อที่ประชุมว่า สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรม และสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสมาคมนักผังเมืองไทน สมาคมสถาปนิกชุมชนเมืองไทย สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย ร่วมกันทำหนังสือถึง รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพื่อขอสนับสนุนแนวทางการปรับเปลี่ยนการใช้งานถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน ให้เป็น “ถนนสายอนุรักษ์ธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์”
นายวีรนิต ฐานสุพร ตัวแทนจากส่วนกลาง กล่าวถึงรายละเอียดโครงการ หลังจากสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรม และสถาปนิกต่างๆ เสนอต่อกระทรวงทรัพยากรฯแล้ว สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้พิจารณาวิเคราะห์ความสำคัญของพื้นที่พบว่า เอกลักษณ์ของเส้นทางสายดังกล่าว คือต้นยางนา และต้นขี้เหล็ก ตลอดแนวทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 จากจังหวัดเชียงใหม่ถึงลำพูน ซึ่งถือได้ว่าเป็นถนนที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เป็นสัญลักษณ์ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยง และแบ่งเขตเมือง มีคุณค่า และความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่มีอายุเกือบ 200 ปี และเป็นพื้นที่ที่เข้าข่ายในการประกาศเป็นเขตพื้นที่ และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา 43 มาตรา 44 และ 45 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เนื่องจากปัจจุบันพบการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินเริ่มมากขึ้น ส่งผลให้สถานภาพของถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน เริ่มหมดคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และจัดได้ว่ากำลังอยู่ในขั้นวิกฤต จึงจเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยทันที
ทั้งนี้ตามหลักฐานที่ปรากฏปัจจุบัน ต้นยางนา มีจำนวนลดลงอย่างมาก จากที่เคยปลูกไว้ 2,000 ต้น เหลืออยู่เพียง 995 ต้น และต้นขี้เหล็กเหลืออยู่เพียง 138 ต้น ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มว่าต้นยางนา และต้นขี้เหล็ก จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม จึงเสนอขอบเขตพื้นที่ และมาตรการโดยภาคส่วนต่างๆ ได้แก่หน่วยราชการ ประชาชน และท้องถิ่นได้ร่วมกันพิจารณา มีการประชุมหารือครั้งแรกตั้งแต่ พ.ศ. 2550 คณะอนุกรรมการมีมติเห็นชอบในหลักการในการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ต่อมาประชุมหารือที่ห้องประชุมสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 เชียงใหม่ ปี 2551 จากนั้นมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั้งสองจังหวัดเรื่อยมา โดยเฉพาะที่อยู่ในเขต อ.เมืองลำพูน และ อ.สารภี
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ นายวีรนิต ฐานสุพร กล่าวว่า การประชุมครั้งต่อมาได้พิจารณาร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเรื่องกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมบริเวณถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 ท้องที่ ต.หนองหอย (ไฟฟ้าบ้านเด่น) อ.เมืองเชียงใหม่ จนถึง ต.หนองผึ้ง ต.ยางเนิ้ง และ ต.สารภี อ.สารภี และในเขต ต.อุโมงค์ จนถึง ต.เหมืองง่า อ.เมืองลำพูน เพื่ออนุรักษ์ต้นยางนา และขี้เหล็กโบราณ ซึ่งล่าสุดกำลังเตรียมการประชุมรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่าง ๆ ต่อการกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมบนถนนสายเชียงใหม่-ลำพูนในเดือนกรกฎาคม 2554 ต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น