คณะอนุกรรมการดำเนินงานโครงการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม เพื่อพัฒนาบัณฑิตไทย โดยผ่านเครือข่ายบัณฑิตอุดมคติไทย(เครือข่ายภาคเหนือ) นำโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะแม่ข่ายเครือข่ายบัณฑิตอุดมศึกษาไทยเขตภาคเหนือ (17 จังหวัด 51 สถาบันอุดมศึกษา) จัดสัมมนากิจกรรมประชุมเชียร์และรับน้องใหม่อย่างสร้างสรรค์ สถาบันเครือข่ายอุดมคติไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 29 ถึงวันเสาร์ที่ 30 เมษายน 2554 ณ โรงแรมศิรินาถ การ์เด้นท์ จ.เชียงใหม่ เพื่อให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ด้านการพัฒนานักศึกษา และผู้นำนักศึกษาได้ร่วมกันสร้างมาตรการในการป้องกันการรับน้องประชุมเชียร์ที่ผิดกฎหมาย กฎกระทรวง และระเบียบของมหาวิทยาลัย ตลอดจนเป็นเวทีเพื่อการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการเพิ่มเติมความรู้ และเจตคติที่ส่งเสริมให้นักศึกษารุ่นพี่ที่รับผิดชอบด้านการจัดกิจกรรมรับน้องใหม่และกิจกรรมประชุมเชียร์ ได้มีแนวทางในการจัดกิจกรรมรับน้องใหม่ที่ถูกต้อง เหมาะสมและก่อให้เกิดประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ โดยมีเป้าหมาย คือ ทั้ง 51 สถาบันจะได้มีนโยบายและมาตรการด้านการรับน้องประชุมเชียร์ทั้งในด้านการป้องกัน การแก้ปัญหา ตลอดจนกฎระเบียบที่ชัดเจน และเป็นไปในทิศทางเดียวกันทุกสถาบัน และมีแบบปฏิบัติที่ดีจากสถาบันต่างๆในการนำไปประยุกต์ใช้ในสถาบันของตนเอง
ในการสัมมนากิจกรรมประชุมเชียร์และรับน้องใหม่อย่างสร้างสรรค์ครั้งนี้ มีผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (สโมสรนักศึกษา ,สภานักศึกษาและคณะกรรมการหอพักนักศึกษา) อาจารย์และบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านพัฒนาคุณภาพนักศึกษา (21 คณะ สำนักหอพักนักศึกษา และงานกิจกรรมเสริมหลักสูตร) นักศึกษาจาก 51 สถาบันเครือข่าย คณาจารย์และเจ้าหน้าที่หน่วยพัฒนาคุณภาพนักศึกษาจาก 51 สถาบันเครือข่าย เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกว่า 240 คน

ในวันดังกล่าว นักศึกษาจากทั้ง 51 สถาบัน ได้ร่วมปฏิญญาว่าด้วยการรับน้องใหม่และประชุมเชียร์ สถาบันอุดมศึกษาเครือข่ายบัณฑิตอุดมคติไทย ภาคเหนือ ปีการศึกษา 2554 นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายพิเศษ เรื่อง แนวทางการรับน้องใหม่ตามประกาศ สกอ และการรับน้องใหม่อย่างไรให้สร้างสรรค์ โดย รองศาสตราจารย์นายแพทย์อำนาจ อยู่สุข รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษาและกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กิจกรรมเติมหัวใจให้น้องใหม่ สู่ การเติมหัวใจให้สังคม กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ปัญหา ทางแก้ และการสร้างสรรค์กิจกรรมการรับน้องและประชุมเชียร์ โดยการใช้อภิปรายกลุ่มย่อย 4 กลุ่ม ได้แก่ การปกครองน้องอย่างไรไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน กิจกรรมสันทนาการอย่างไรให้สนุกสนาน โดยไม่ต้องลามก อนาจาร กิจกรรมส่งเสริมการปรับตัว โดยไม่ต้องลงโทษหรือทำร้ายร่างกาย จิตใจของน้องใหม่ และการนำร้องเพลงเชียร์อย่างไรให้น้องใหม่ภูมิใจในสถาบันของตน
รวมทั้งมีการเสวนา เรื่อง การรับน้องใหม่ในมุมมองของนักศึกษา โดย นายกสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพ นายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ และประธานคณะกรรมการดูแลการรับน้องและประชุมเชียร์(กนช) มหาวิทยาลัยนเรศวร ตลอดจนการระดมความคิดจากทุกสถาบันเพื่อร่วมวางแผนจัดกิจกรรม ภายใต้แนวคิด กิจกรรมการรับน้องและเข้าห้องเชียร์ยุคใหม่ โปร่งใส จริงใจ และตรวจสอบได้ เพื่อให้กิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ของ 17 จังหวัดภาคเหนือที่กำลังจะมาถึง ดำเนินไปด้วยความอบอุ่นจากรุ่นพี่สุ่รุ่นน้องอย่างแท้จริง
ปฏิญญาว่าด้วยการรับน้องใหม่และประชุมเชียร์
สถาบันอุดมศึกษาเครือข่ายบัณฑิตอุดมคติไทย ภาคเหนือ ปีการศึกษา 2554
นำกล่าวปฏิญญาโดย นายศีลวันต์ โสฬสลิขิต นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายกสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“ข้าพเจ้าขอให้สัจจะปฏิญญาว่า ข้าพเจ้าจะมีเจตนาอันแน่วแน่ ที่จะจัดกิจกรรมต้อนรับน้องใหม่และประชุมเชียร์ ปีการศึกษา 2554 อย่างสร้างสรรค์ มุ่งเน้นให้เกิดความอบอุ่น ประทับใจ เป็นประเพณีที่สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในหมู่พี่น้อง ก่อเกิดให้มีความรัก สามัคคี และความภูมิใจในสถาบันการศึกษา การจัดกิจกรรมมุ่งเน้นความสมัครใจ ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่มีความรุนแรง
ข้าพเจ้าจะขอประณามบุคคล หรือกลุ่มบุคคลใดๆ ที่จัดกิจกรรมรับน้องใหม่อย่างไม่สร้างสรรค์ เป็นอันตรายต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจของน้องใหม่ อันนำมาสู่การเสื่อมเสียชื่อเสียของสถาบันการศึกษาและจะร่วมสอดส่องดูแลให้เป็นไปตามปฏิญญานี้ร่วมกันนี้ต่อไป”
รองศาสตราจารย์ นพ.อำนาจ อยู่สุข
รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษาและกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กิจกรรมรับน้องใหม่ประชุมเชียร์เป็นกิจกรรมที่สำคัญของทุกสถาบัน ซึ่งเครือข่ายภาคเหนือตระหนักอย่างสูงว่า ในช่วงต้อนรับนักศึกษาใหม่หรือน้องใหม่ ทั้งผู้ปกครอง สังคม และสื่อมวลชน ต่างเฝ้าดูอยู่ว่าปีนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับน้องใหม่บ้าง หากทำได้ดีก็จะส่งผลดีกับมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นจึงเป็นแนวทางว่าเครือข่ายภาคเหนือจะทำอย่างไรให้เกิดความอบอุ่นประทับใจแก่น้องๆ และเชื่อว่ารุ่นพี่ทุกคนที่ร่วมกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ล้วนมีเจตนาดี มีความหวังดี มีความต้องการที่จะเห็นน้องใหม่อยู่ในมหาวิทยาลัยอย่างมีความสุข แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าในแต่ละปีบางพื้นที่บางมหาวิทยาลัยยังพบปัญหาการจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องมาหารือกัน เพื่อร่วมกันหาแนวทางที่ดีที่จะนำไปสู่การรับน้องประชุมเชียร์ของสถาบันการศึกษาใน 17 จังหวัดภาคเหนือ
รู้สึกดีใจที่ทุกสถาบันมาร่วมมือกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ที่ดี ในปีนี้ทุกคนคงคิดเหมือนกันว่า กลุ่มเครือข่ายภาคเหนืออยากให้มีการเชิญใจให้กับน้องใหม่ คือ มอบสิ่งดีๆ ให้กับน้องใหม่ ทั้งความรัก ความหวังดี ความปรารถนาดี ซึ่งกิจกรรมรับน้องใหม่นั้น ไม่เฉพาะรุ่นพี่เท่านั้นที่จะรับน้อง ทุกคนในมหาวิทยาลัยตั้งแต่คณาจารย์ บุคลากร ภารโรงและนักศึกษาทุกคนต่างมีหน้าที่ที่จะร่วมกันรับน้องใหม่ ดูแลน้องใหม่ให้เกิดความอบอุ่น
สำหรับในช่วงนี้ เชื่อว่าทุกสถาบันคงตระหนักอย่างสูง เพราะบ้านเมืองของเราตอนนี้มีปัญหาอยู่พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความขัดแย้งทางการเมือง หรือพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ หากกิจกรรมรับน้องของปัญญาชน คนหนุ่มสาว ยังคงมีแต่ความสนุกสนานรื่นเริงโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นคงเป็นเรื่องไม่เหมาะสมนัก กิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ในปีนี้ เครือข่ายภาคเหนือต้องมาช่วยกันคิดว่าจะทำให้น้องใหม่เกิดความตระหนักในการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมได้อย่างไร และเชื่อว่าการทำสัญญาร่วมกัน 17 จังหวัดภาคเหนือ ของ 51 สถาบันนี้ จะเป็นการช่วยกันดูแลซึ่งกันและกัน ให้การจัดกิจกรรมรับน้องใหม่และประชุมเชียร์ของกลุ่มภาคเหนือเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสร้างความตระหนักคิดที่ดีแก่น้องใหม่ที่กำลังจะเข้ามาเป็นปัญญาชนที่ดีต่อไป
มาฟังความคิดเห็นของตัวแทนนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ที่มาร่วมงานเริ่มที่ “ภูเขา” นายศีลวันต์ โสฬสลิขิต นายกสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า กิจกรรมรับน้องใหม่และประชุมเชียร์อย่างสร้างสรรค์ เป็นการออกไปทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม เมื่อรับน้อง รักน้องแล้ว ก็ปลูกฝังเรื่องการแบ่งปันให้กับชุมชน สังคมที่อยู่รอบตัวน้องๆ ด้วย เช่น พาน้องไปบำเพ็ญประโยชน์ ซึ่งลักษณะของกิจกรรมก็ขึ้นอยู่ความสร้างสรรค์ของแต่ละสถาบันจะคิดออกมา รวมถึงควรเป็นกิจกรรมที่ไม่มีความรุนแรง ไม่มีการดื่มแอลกอฮอล์ และไม่สร้างภาพลบต่อกิจกรรมรับน้อง ในส่วนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะทุกๆ ฝ่ายให้ความร่วมมือและมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง
อยากฝากถึงรุ่นพี่ว่ากิจกรรมรับน้องเป็นกิจกรรมที่จะสร้างความรัก ความสามัคคี ระหว่างพี่กับน้อง กิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นควรคำนึงถึงผลที่เกิดขึ้นให้มาก และสำหรับน้องๆ อยากฝากไว้ว่าการเข้าสู่มหาวิทยาลัยเป็นการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ พยายามตื่นตัวที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่จะเข้ามาผ่านกิจกรรมรับน้อง เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมที่จะตื่นตัวอีกครั้งในชีวิตการทำงานในอนาคต ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกมากมาย
ขณะเดียวกัน นายโรจนพันธ์ ไชยงาม “ปุ๊ก” นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพ เชียงใหม่ บอกว่า กิจกรรมประชุมเชียร์และรับน้องใหม่อย่างสร้างสรรค์ คำว่า “สร้างสรรค์” คือ รุ่นพี่ต้อนรับน้องใหม่ด้วยกระบวนการใดๆ ที่ทำให้เกิดความคิดหรือทัศนคติที่รุ่นน้องรู้สึกดีกับรุ่นพี่ สถาบัน คณะ รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่สอดแทรกสาระ และประโยชน์สูงสุดที่รุ่นน้องจะได้รับ กิจกรรมรับน้องใหม่อย่างสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย จะมีการต้อนรับน้องใหม่จากรุ่นพี่ที่ดี การแนะนำมหาวิทยาลัย คณะ และสิ่งจำเป็นต่างๆ ที่น้องใหม่ควรรู้เมื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัย กิจกรรมดีๆ รวมถึงรูปแบบของการประชุมเชียร์ต้องมีการวางรูปแบบให้เป็นไปในทางเดียวกัน หรือถ้าบริบทคณะไม่เหมือนกันก็ต้องควบคุมกิจกรรมนั้นๆ ทุกอย่างต้องมีการประชุม หาข้อตกลงให้เป็นไปในทางเดียวกัน และเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สำหรับการ “ว๊ากน้อง” ไม่เห็นด้วยสักเท่าไหร่ ถึงแม้จะมีพี่ที่เข้ามาปลอบก็ตาม ซึ่งยังมีอีกหลายวิธีที่ทำได้ เช่น กิจกรรมร่วมระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องและความดูแลที่พี่มีให้น้อง ส่วนระบบ “SOTUS” ตามความหมาย ถ้าปฎิบัติได้ถือว่าดี แต่ถ้าถอดไปปฎิบัติที่ผิดๆ จะเกิดผลเสียอย่างมาก ระบบ SOTUS ผมอยากให้เน้นเรื่องความเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งทุกวันนี้ที่แตกต่างกันอาจเพราะความไม่เหมือนกันเป็นส่วนมาก
ด้าน “แม็ค” นายพงศ์เดช อินทิยศ นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ กล่าวว่า ไม่อยากให้มีการว๊ากน้อง และใช้ระบบ SOTUS เนื่องจากเป็นกิจกรรมของแบบโบราณเป็นกิจกรรมที่คนยุคเก่าทำกัน ควรจะนำมาประยุกต์ให้เข้ากับระบบการรับน้องในปัจจุบัน ปัจจุบันมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ดีกว่าและทำให้พี่น้องรักกันมากกว่าการว๊ากน้องอีกมากมาย กิจกรรมประชุมเชียร์และรับน้องใหม่อย่างสร้างสรรค์ต้องเป็นการประชุมเชียร์และรับน้องในแนวทางการยึดในหลักสิทธิของนักศึกษา และในการรับน้องต้องไม่มีการบังคับ ให้น้องเข้าร่วมกิจกรรมด้วยความสมัครใจ และควรทำกิจกรรมในที่สาธารณะ รูปแบบของการประชุมเชียร์ควรมีความสนุกสนานมากกว่าที่จะดุด่าน้อง ควรมีกิจกรรมที่เป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ นันทนาการ มีความเป็นพี่น้องกัน พูดจาไพเราะ เช่น ร้องเพลงมหาวิทยาลัย กิจกรรมนันทนาการ กิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง
ทาง นายบัญชา วงษ์ถวิล “เจ๋ง” นายกสโมสรนักศึกษาห้องเรียนเครือข่าย วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ กล่าวว่า การรับน้องที่สร้างสรรค์น่าจะเป็นการรับน้องแบบอบอุ่น การแสดงออกของรุ่นพี่สื่อให้น้องใหม่เห็นว่าพี่สามารถช่วยเหลือน้องได้ และที่สำคัญรุ่นพี่ต้องเป็นแบบอย่างในการรักสถาบันของตนเองด้วย รูปแบบของการประชุมเชียร์จะเป็นในลักษณะการสันทนาการ กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ เกมส์เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง กิจกรรมที่จะก่อให้เกิดความรักในสถาบันของตนเอง รวมถึงนำประเพณีวัฒนธรรมไทยเข้ามา เช่น งานรับขวัญน้องใหม่(บายศรี) งานเลี้ยงขันโตก เป็นต้น หรืออาจจะเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยมุ่งเน้นเอกลักษณ์ของแต่ละสถาบัน เพื่อเป็นการปลูกฝังความรักสถาบันตนเอง สำหรับการว๊ากน้อง และระบบ SOTUS คิดว่าเป็นไปได้ 2 ทาง คือ หากน้องไม่ให้ความร่วมมือและมีเรื่องทะเลาะวิวาทกันเองน่าจะให้มีได้ แต่อีกทางคือการทำว๊ากไม่เหมาะสมหรือไม่สมเหตุสมผลก็ไม่น่าจะมี ขึ้นอยู่กับดุลย์พินิจของผู้นำกิจกรรมหรืออาจารย์ที่ปรึกษา
นายสรสิช ขันตรีมิตร หรือ ดอน นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบูรณ์ บอกว่า กิจกรรมประชุมเชียร์และรับน้องใหม่อย่างสร้างสรรค์ต้องไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ลามกอนาจาร โดยเน้นให้การประชุมเชียร์เป็นไปในทางที่สร้างสรรค์ และให้นักศึกษาใหม่เกิดความรักและความภาคภูมิใจในสถาบันของตนเอง การประชุมเชียร์กิจกรรมรับน้องใหม่ที่สร้างสรรค์ ควรจะเป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน มีสาระ ทำให้นักศึกษาใหม่เกิดความรักสถาบัน จะเป็นการฝึกฝนให้น้องได้คิดในทางสร้างสรรค์และมีความสนุกสนาน ตลอดจนปลูกจิตสำนึกในการรักมหาวิทยาลัย

ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น