ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ความร่วมมือตามโครงการนี้ เป็นการดำเนินการแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะสามารถสนับสนุนการศึกษาและเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาแพทย์กว่า 200 คน โดยเครื่องมืออัลตราซาวน์แบบพกพา เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในหลากหลายสาขาวิชา เช่น สาขาวิชารังสีรักษา สาขาศัลยศาสตร์ทั่วไป สาขาวิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังมีความสะดวกและรวดเร็วในการเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลและถิ่นธุรกันดารในภาคเหนือ รวมทั้งทีมแพทย์ลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศภาคเหนือ (Northern Sky Doctor) โดยสามารถทำการสแกนได้อย่างรวดเร็ว (Fast-Scanning) ในอวัยวะหลักที่สำคัญของร่างกาย ทั้งระบบหัวใจ ปอด และช่องท้อง และสามารถประมวลผลได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาเพียง 10 นาที โดยนักศึกษาแพทย์สามารถส่งภาพถ่ายจากเครื่องอัลตราซาวน์แบบพกพาเข้าสู่ระบบ ดิจิตัล คราวน์ ภายใต้การกำกับดูแลของอาจารย์แพทย์ผู้สอน และจะได้รับคำปรึกษาที่เหมาะสมในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อพัฒนาทักษะในด้านการแปลผลภาพถ่ายอัลตราซาวน์ได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น รวมถึงการเป็นประโยชน์ต่อแพทย์อีกด้วย
ทางด้าน มร. ชินตัน เดไซ กรรมการอำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ ประจำภูมิภาคอาเซียน จีอี เฮลท์แคร์ กล่าวว่า จีอี เฮลท์แคร์ ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะด้านสุขภาพ ได้มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับพัฒนามากถึง 1 พันล้านดอลล่าร์ ส่วนการเปิดความร่วมมือโครงการ “Ultrasound in Curriculum” กับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ครั้งนี้ของ จีอี เฮลท์แคร์ ซึ่งเป็นแห่งแรกของอาเซียน เชื่อว่าจะยังประโยชน์อย่างใหญ่หลวงกับภาคเหนือ เพราะเป็นการพัฒนาทั้งด้านความสะดวก รวดเร็ว การวิจัย การพัฒนา โดยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ จีอี เฮลท์แคร์ เคยจัดทำโครงการอื่นร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่นในประเทศไทยมาก่อน แต่การเลือกความร่วมมือในโครงการ “Ultrasound in Curriculum” กับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องจากมองเห็นความโดดเด่นและความแตกต่างด้านการสอน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นเพิ่มศักยภาพนักเรียนแพทย์ให้มีความสามารถและความเชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น สามารถยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางด้านสุขภาพ Medical Hub และจะเป็นการเปิดตลาดสำคัญในการทำเป็นต้นแบบพัฒนาไปสู่อาเซียนต่อไป
ในขณะที่ ดร.ราจาน คาลิดินดี ผู้จัดการใหญ่ จีอี แฮลท์แคร์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า เครื่องอัลตร้าซาวน์แบบพกพาที่ จีอี เฮลท์แคร์ สนับสนุนให้กับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ครั้งนี้ ได้เคยมีการสนับสนุนให้กับมหาวิทยาลัยในอเมริกาและยุโรปมาก่อนแล้วหลายแห่ง และแต่ละแห่งสามารถนำไปใช้ทั้งสำหรับการเรียนการสอน การรักษา และการวิจัยพัฒนาอย่างได้ผล เนื่องจากการตรวจด้วยการอัลตร้าซาวน์จากอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถตรวจได้ถึง 80 % ทั้งยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยเสริมภารกิจในทุกๆด้านของแพทย์ทุกระดับได้ดีขึ้น ง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้น
ต่อข้อถามที่ว่า อุปกรณ์อัลตราซาวด์ชนิดพกพา ดังกล่าวนี้ จีอี เฮลท์แคร์ มีแผนการที่จะพัฒนาให้เป็นเครื่้องมือแพทย์ประจำบ้านในอนาคตหรือไม่ ผู้จัดการใหญ่ จีอี แฮลท์แคร์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่น่าจะทำได้ เพราะในขณะนี้ที่ประเทศญี่ปุ่นก็เริ่มมีการใช้บ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม การจะไปสู่จุดนั้นได้ต้องมีการพัฒนาหลายอย่าง เช่น ต้องทำให้ใช้งานได้ง่าย การอ่านค่าและการประมวลผลต้องเข้าใจง่ายแม้ผู้ที่ไม่มีความรู้ด้านการแพทย์ ไม่ซับซ้อนอย่างปัจจุบัน และที่สำคัญ ต้องพัฒนาอุปกรณ์พร้อมเครื่องมือส่วนควบทั้งหลายให้มีราคาถูกลง เพื่อที่ประชาชนทั่วไปจะสามารถซื้อมาใช้งานภายในครอบครัวหรือชุมชนได้ ซึ่งคงต้องใช้เวลาจากนี้ไปอีกนานพอสมควร
*****************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น