ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "แม่โจ้โพลล์” สำรวจความคิดเห็นเรื่อง นโยบายรับจำนำข้าว...ชาวนาได้หรือเสีย
จากการที่รัฐบาลได้มีนโยบาย โครงการรับจำนำข้าว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยกำหนดโรงสีที่เข้าร่วมโครงการแล้วให้เกษตรกรนำข้าวมาขายให้กับโรงสี ซึ่งต้องมีความชื้นไม่เกิน 15 % โดยได้เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2554 จนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 นั้น ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (แม่โจ้โพลล์) จึงได้สำรวจความคิดเห็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำนวน 735 ราย (ภาคเหนือ 18.6 % ภาคกลาง 50.3 % ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 31.0 %) ในหัวข้อ “นโยบายรับจำนำข้าว ชาวนาได้หรือเสีย” ระหว่าง วันที่ 22 ธันวาคม 2554 ถึงวันที่ 20 มกราคม 2555 เพื่อให้ทราบถึงความพึงพอใจ ตลอดจนปัญหาต่าง ๆ ในโครงการรับจำนำข้าว โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ร้อยละ 88.6 มีความพึงพอใจต่อโครงการรับจำนำข้าว และมีเพียงร้อยละ 11.4 ที่ไม่พึงพอใจ เมื่อสอบถามถึงความเหมาะสมของราคาที่รับจำนำ เกษตรกรส่วนใหญ่เห็นว่าราคาที่รัฐบาลรับจำนำมีความเหมาะสม โดยข้าวปทุมธานี 1 มีความเหมาะสมมากที่สุด ที่ร้อยละ 95.2 ในขณะที่ข้าวเปลือกจ้าว 100%,5%,10%,15%,25% เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเห็นว่าไม่เหมาะสม ซึ่งควรเป็นตันละ 17,000 บาท สำหรับความเหมาะสมของระยะเวลาของโครงการรับจำนำข้าวที่เปิดไว้ 4 เดือนในปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.0 เห็นว่าเหมาะสม และมีเพียง ร้อยละ 13.0 ที่เห็นว่าไม่เหมาะสม โดยระบุว่าควรเปิดรับจำนำ ประมาณ 6 เดือน สำหรับสาเหตุที่ทำให้ราคาข้าวผันผวนภายในประเทศในปัจจุบัน เกษตรกรให้ความเห็นว่า อันดับที่ 1 เพราะพ่อค้าคนกลางกดราคา ร้อยละ 64.6 อันดับที่2 เพราะปัญหาทางการเมือง ร้อยละ 29.0 และอันดับที่ 3 เพราะคุณภาพข้าวไม่ได้มาตรฐานตามที่ต้องการ (มีความชื้นเกิน 15%) ร้อยละ 25.0
เมื่อสอบถามว่าเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวในครั้งต่อไปหรือไม่หากมีโครงการรับจำนำข้าวอีก เกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 93.1 สนใจจะเข้าร่วมโครงการอีก โดยให้เหตุผลว่าเป็นโครงการที่ดี ทำให้เกษตรกรมีรายได้หมุนเวียนคล่องตัวเพิ่มขึ้น มีเพียงร้อยละ 6.9 ไม่สนใจที่จะเข้าร่วมโครงการ โดยให้เหตุผลว่า ราคาที่รัฐบาลกำหนดยังไม่เหมาะสม หากเก็บไว้ขายตอนปลายปีจะได้ราคาสูงกว่าราคารับจำนำในปัจจุบัน รวมทั้งโครงการดังกล่าวเปิดรับจำนำล่าช้ากว่าผลผลิตข้าวที่ออก
ด้านปัญหาในการเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีในครั้งนี้พบว่า มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเพียงร้อยละ 27.8 ที่พบปัญหาจากโครงการดังกล่าว เช่นขั้นตอนในการรับใบประทวนยุ่งยากและล่าช้า การวัดน้ำหนักและความชื้นโดยโรงสีไม่น่าเชื่อถือ รัฐบาลกำหนดโควตารับจำนำน้อยเกินไป โรงสีข้าวในโครงการรับจำนำมีน้อยและได้รับเงินจากการรับจำนำข้าวล่าช้า ส่วนข้อเสนอแนะของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวต่อการแก้ไขปัญหาในการเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเกษตรกรร้อยละ 51.9 แนะว่า ควรตั้งหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบการรับซื้อข้าวของโรงสี ร้อยละ 25.9 แนะว่าควรลดขั้นตอนในการรับจำนำให้เกิดความรวดเร็วแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ และ ร้อยละ 22.2 แนะว่า ควรประชาสัมพันธ์รายละเอียดให้ชัดเจนและรวดเร็ว
จากผลการสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อโครงการรับจำนำข้าว และพอใจในราคารับจำนำที่รัฐบาลกำหนด แสดงให้เห็นว่า แนวทางที่รัฐบาลได้นำมาใช้แก้ไขปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนั้นได้ผลและเป็นที่ยอมรับ แต่เกษตรกรบางส่วนยังประสบปัญหาในการเข้าร่วมโครงการจากปัญหาในการบริหารจัดการและความน่าเชื่อถือของสถานที่รับจำนำข้าวบางแห่ง ซึ่งก็ถือเป็นงานอีกชิ้นหนึ่งที่รัฐบาลต้องหาทางแก้ไขเพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์จากการรับจำนำข้าวในครั้งต่อไปอย่างแท้จริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น