นักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัลชนะเลิศ Huawei Cloud Developer Contest 2020 ในงาน Powering Digital Thailand 2021 ซึ่งเป็นการแข่งขันการพัฒนาระบบโดยใช้เทคโนโลยีด้านสารสนเทศในการแก้ปัญหาในระดับประเทศ ในโครงการ ระบบวิเคราะห์ข้อมูลและกระจายภาพสัญญาณชีพทางไกลผ่านระบบคลาวด์ เพื่อการรักษาผู้ป่วยในหอผู้ป่วยหนัก ตามภารกิจด้าน Data Science ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่ นศพ.สิริกร ชลานันต์ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 5 และ นศพ.ศุภกฤษดิ์ ท่านมุข นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6
ผศ.ดร.นพ. ปิยพงษ์ คำริน อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ที่ปรึกษากล่าวว่า รางวัลชนะเลิศนี้เป็นรางวัลที่นักศึกษาแพทย์เข้าไปแข่งขันรายการ Huawei Cloud Developer Contest 2020 ซึ่งเป็นการแข่งขันในการพัฒนาระบบโดยใช้เทคโนโลยีของหัวเหว่ยบนคลาวด์ในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไร ซึ่งในงานจะเป็นปัญหาภาคธุรกิจ การคมนาคม การสื่อสาร การหางาน โดยในการแข่งขันได้มีทีมผ่านเข้ารอบจำนวน 6 ทีม และหนึ่งในนั้นคือ นักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้ส่งโครงการในการแก้ปัญหาทางการแพทย์โดยใช้เทคโนโลยีของหัวเหว่ย จะเห็นได้ว่า การแก้ไขปัญหาทางการแพทย์ในปัจจุบันจะนำเทคโนโลยีมาใช้ เนื่องจากสามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนและยุ่งยากได้ อย่างในโครงการนี้ จะสามารถถ่ายทอดสัญญาณชีพจากในห้องผู้ป่วยฉุกเฉินและห้องป่วยวิกฤติออกไปสู่แพทย์ในการดูแลผู้ป่วย จำเป็นที่จะต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง ดังนั้นจะต้องอาศัยองค์ความรู้ทางด้านวิทยาการข้อมูล วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยี ในการที่จะทำให้ได้โซลูชั่นนี้ออกมา ปกติแล้วด้านวิทยาการข้อมูล และองค์ความรู้ด้าน การนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ (Data Science) ในการนำมาประกอบในการสร้างระบบเพื่อที่จะแก้ปัญหาทางการแพทย์โดยใช้เทคโนโลยีในการนำมาช่วย ซึ่งนักศึกษาแพทย์ได้เรียนรู้ทักษะมาเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว
ในขณะที่ นศพ.สิริกร ชลานันต์ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 5 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้อธิบายว่า โจทย์ ในการแข่งขันในครั้งนี้ จะเป็นที่มาของปัญหา ซึ่งปกติผู้ป่วยในหอผู้ป่วยหนักจะมีการติดตามดูสัญญาณชีพ ดูคลื่นไฟฟ้าหัวใจอยู่ตลอดเวลา การดูแลผู้ป่วยตลอดเวลาให้ทันท่วงที จะเกิดผลดีกับการวิเคราะห์ วินิจฉัย และการประเมินผู้ป่วย ซึ่งส่งผลต่อการรักษา ปัญหาคือแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ได้มีระบบดูแลติดตามสัญญาณชีพผู้ป่วยทุกเตียงพร้อมกันได้ดีพอ จึงเป็นที่มาของการพยายามคิดหาวิธีการแก้ปัญหา ซึ่งวิธีการเดิมที่มีเป็นแบบโซลูชั่นที่ไปติดต่อบริษัท แล้วให้มาจัดการดึงข้อมูลแต่ละเตียง แต่ละจุด แล้วนำมารวมกันให้กับคอมพิวเตอร์กลาง ค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพง เนื่องจากมีการมอนิเตอร์หลายจุดเนื่องจากคิดเป็นจุด แต่ละจุดรูปแบบการเก็บข้อมูลของโปรแกรมสำเร็จแต่ละโปรแกรมของคอมพิวเตอร์ต่างกัน ยี่ห้อที่ใช้ต่างกัน เมื่อดึงสัญญาณมาอยู่ในหอผู้ป่วย หากมีอาจารย์แพทย์ที่อยากปรึกษาอยู่นอกหอผู้ป่วย หรือแพทย์เฉพาะทางที่อยากปรึกษาอาการเกี่ยวกับผู้ป่วยเหล่านี้ จะต้องถ่ายรูปส่งไป และรูปที่ถ่ายไม่ใช่รูปที่เรียลไทม์ เวลานั้นที่เกิดกับผู้ป่วย แต่หากระบบที่ใช้มอนิเตอร์ข้างเตียงผู้ป่วย ทำระบบให้เป็นนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย โดยส่งข้อมูลตรงนี้มารับส่งสัญญาณ ถ่ายทอดไฟล์มัลติมีเดียทั้งภาพและเสียงผ่านเครือข่ายระบบอินเทอร์เน็ตด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ด้วยเทคนิคสตรีมมิ่ง จะทำให้วิดีโอทั้งหมดที่ถูกส่งผ่านอินเทอร์เน็ตมายังอุปกรณ์ที่รองรับบนคลาวด์ แล้วสามารถล็อกอินผ่านมือถือเข้าไปในเครื่องคอมพิวเตอร์หรือระบบปฏิบัติการหรือโปรแกรมของเรา เพื่อดูข้อมูลแบบเรียลไทม์ของผู้ป่วยนั้นได้ ซึ่งในขณะนี้เป็นการสำเร็จขึ้นต้นในระดับทดลอง หากจะนำมาใช้จริงต้องมีการทดสอบระบบก่อนว่ามีความเสถียรหรือไม่ ซึ่งจะเริ่มทดสอบพัฒนารอบแรก ICU ศัลยกรรม จำนวน 8 เตียง, Sub-ICU ศัลยกรรม จำนวน 10 เตียง และ ICU อายุรกรรม จำนวน 10 เตียง
ทางด้าน นศพ.ศุภกฤษดิ์ ท่านมุข นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายเพิ่มเติมว่า เทคโนโลยีที่ทำเป็นส่วนเสริมให้การดูแลผู้ป่วยดียิ่งขึ้น เป็นการดูแลติดตามใกล้ชิด แค่มีสมาร์ทโฟนที่เข้าถึงได้ง่าย เนื่องจากเทคโนโลยีจะเป็นส่วนเติมเต็มให้แพทย์ได้ทันต่อยุคสมัยปัจจุบันโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ระบบคลาวด์อาจจะทำให้การเป็นแพทย์ของเราได้ทำงานง่ายยิ่งขึ้น การแข่งขันถือเป็นการเปิดมุมมองใหม่ เจอผู้คนต่างคณะ ต่างสถาบัน ทำให้เห็นมุมมองต่าง ๆ มากขึ้น ได้เห็นโลกกว้างว่าเทรนด์ปัจจุบันเราควรมีทิศทางไปในทางไหน ควรปรับตัวให้เข้ากับปัจจุบันมากขึ้น
****************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น