All online

วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ข่าว ; แม่โจ้เจ้าภาพประชุมปลาพลวง ปลาเวียน นานาชาติ

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดประชุมวิชาการปลาพลวง ปลาเวียน ระดับนานาชาติ ครั้งที่ 2  ของโลก ระดมนักวิชาการจาก 15 ประเทศ ร่วมต่อยอดองค์ความรู้ ส่งเสริมการเลี้ยงเชิงเศรษฐกิจ พร้อมร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563  รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล  ทองมา รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมทางวิชาการปลาพลวง ปลาเวียน ระดับนานาชาติ ครั้งที่ 2  (2nd International Mahseer Conference)  ซึ่งคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นโดยได้รับเกียรติจาก นายสายันต์ เอี่ยมรอด ผู้ตรวจการราชการกรมประมง ประเทศไทย , Dr. Tashi Samdup, อธิบดีกรมปศุสัตว์ ประเทศภูฏาน และ Dr. David Philipp องค์กรอนุรักษ์ประมง ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ มีผู้สนใจจาก 15 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมประชุม ณ ห้องพันตน โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จ.เชียงใหม่


รศ.ดร.อภินันท์  สุวรรณรักษ์  อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้  ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ ซึ่งเป็นผู้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องปลาพลวง ปลาเวียนมานานกว่า 20 ปี กล่าวว่า  จากพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เมื่อคราวเสด็จเยือนราษฎร ณ เขื่อนบางลาง จ.ยะลา ความว่า “ควรอนุรักษ์ปลาพันธุ์นี้ให้คงอยู่ และควรส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกร” โดยที่ปลาเวียน ปลาพลวง เป็นปลาในกลุ่มปลาตะเพียนที่มีขนาดใหญ่ อาศัยอยู่ในแม่น้ำขนาดใหญ่และพื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งได้รับความสนใจในระดับชาติและนานาชาติ ทั้งเพื่อเป็นอาหารและเลี้ยงเชิงเศรษฐกิจ เพราะเป็นปลาที่สวยงามและมีราคาสูง เช่นปลาพลวงชมพูราคากิโลกรัมละ 3,000 บาท อีกทั้งยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมเพราะเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ อยู่ในแหล่งน้ำที่สะอาด มีร่มเงา มีแหล่งอาหาร และแหล่งวางไข่ นั่นหมายถึงการมีปลาขนาดเล็กชนิดอื่นยังคงอยู่ได้ เพราะบนต้นไม้ที่เป็นร่มเงาเป็นที่อยู่ของแมลง แมลงบกส่วนใหญ่วางไข่ในน้ำ ตัวอ่อนของแมลงนั้นก็จะเป็นอาหารของปลาขนาดเล็ก รวมถึงลูกปลาพลวงด้วย ปลาพลวงเป็นปลาที่กินอาหารตามวัย เมื่อโตขึ้นก็กินผลไม้ที่หล่นลงมาในน้ำ ดังนั้นจึงต้องมีต้นไม่ใหญ่อยู่ด้วย จึงเป็นสิ่งที่บ่งชี้ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ


สำหรับการจัดประชุมครั้งนี้  เป็นครั้งที่ 2 ของโลก ในระหว่างวันที่ 11-15 กุมภาพันธ์ 2563  หลังจากที่ได้จัดครั้งแรกที่ประเทศภูฏาน  เป็นการยกระดับความรู้ทางวิชาการ พัฒนาผู้รู้รุ่นใหม่เพื่อเป็นกำลังสำคัญหลักในการพัฒนาประเทศ เปิดโอกาสให้นักวิชาการ เกษตรกร ผู้ประกอบการ นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไปจากสถาบันต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงนักวิชาการจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประมง ได้ร่วมฟังการบรรยายพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญ และได้นำเสนอผลงานทางวิชาการ แสดงแนวคิดเพื่อให้เกิดการระดมความคิด วิเคราะห์ วิจารณ์ และเผยแพร่ผลงานทางวิชาการให้แก่สาธารณชนได้รับทราบต่อไป ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วม 120 คน จาก 15 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ภูฏาน มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เมียนมาร์ เวียดนาม มาเลเซีย เนปาล ปากีสถาน เยอรมัน อังกฤษ สเปน แคนาดา สหรัฐอเมริกา และประเทศไทย ได้รับฟังบรรยายพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านปลาพลวงทั่วโลกกว่า 13 คน มีเนื้อหาทางวิชาการภาคบรรยายจำนวน 32 เรื่อง และภาคโปสเตอร์จำนวน 20 เรื่อง การเสวนาเพื่อสร้างความสัมพันธ์และเครือข่ายการอนุรักษ์ทรัพยากรทางน้ำในภูมิภาคเอเชีย และในโลก  โดยได้รับทุนการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ได้แก่ Fish Conservation Foundation, Mahseer Trust, Himalayan River United, International Section of Fisheries of the American Fisheries Society, World Wild Foundation international, World Fish Migration Foundation, International Finance Cooperation World Bank Group, Thailand Outdoor, Forest Coffee, Sun sweet, บริษัท ไทยลักซ์ มหาชน จำกัด, กรมประมง, คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้

****************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น