นักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จัดโครงการสัมมนา “การนำเสนอผลงานวิจัยทางภาษาไทยและส่งเสริมการศึกษาต่อเพื่อก้าวสู่อาเซียน”
หวังสร้างความตระหนัก ความสำคัญในคุณค่าของภาษาไทย พร้อมรองรับการสื่อสารในเวทีสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อาจารย์อิสริยาภรณ์ แสงปัญญา อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ในฐานะที่ปรึกษารายวิชาสัมมนาทางภาษาและวรรณกรรม กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่เป็นความมุ่งเน้นในการเรียนการสอนภาษาไทยคือความคาดหวังที่จะให้ผู้ที่ใช้ภาษาสามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งในด้านการประกอบกิจธุระ การงาน การดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุขโดยใช้ภาษาในการแก้ไขปัญหา
หมั่นแสวงหาความรู้ ประสบการณ์จากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อพัฒนาความรู้ กระบวนการคิด
วิเคราะห์ วิจารณ์ และสร้างสรรค์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม นอกจากนี้ภาษาไทยยังเป็นสื่อที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ
ในด้านวัฒนธรรม ประเพณี
และสุนทรียภาพทางวรรณคดี วรรณกรรมที่เปี่ยมด้วยคุณค่า ภาษาไทยจึงนับเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติที่ควรค่าแก่การเรียนรู้
อนุรักษ์ และสืบสานให้คงอยู่ตลอดไป
ในขณะที่นางสาวจริยา กุณะ หัวหน้าหมู่เรียนสาขาวิชาภาษาไทย
ชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวว่า นักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จึงได้จัดโครงการสัมมนาเพื่อพัฒนาศักยภาพนักศึกษา
เรื่อง “การนำเสนอผลงานวิจัยทางภาษาไทยและส่งเสริมการศึกษาต่อเพื่อก้าวสู่อาเซียน”
ในวันพุธที่ 19 กันยายน 2555 เวลา 08.00 – 12.00 น. ณ ห้องประชุมเอื้องคำ ชั้น 3
อาคารราชภัฏเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เพื่อนำเสนอผลงานของนักศึกษาด้านภาษา วรรณกรรม และปรัชญา
พร้อมส่งเสริมกระตุ้นให้เห็นความสำคัญในการสืบสาน การต่อยอดองค์ความรู้ทางภาษาไทยให้ก้าวไกลในสังคมอาเซียนเพื่อการศึกษาต่อ
และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดทางวิชาการระหว่างนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ
และผู้เข้าร่วมสัมมนา ภายในงานได้จัดให้มีการบรรยายเรื่อง “ภาษาไทยก้าวไกลในอาเซียน”
โดย รศ.โกชัย สาริกบุตร การบรรยายเรื่อง “การสร้างสรรค์งานวิจัยนักศึกษาเพื่อการศึกษาต่อ”
โดย รศ.สนิท สัตโยภาส พร้อมการนำเสนอผลงานวิจัยของนักศึกษา
อาทิ “การศึกษาภาพพจน์ในบทเพลงลูกทุ่งของบ่าววี (อาร์สยาม)” , “มาลัยสามชาย : จากนวนิยายสู่ละครโทรทัศน์” และ
“การศึกษาเปรียบเทียบหลักการดำเนินชีวิตและปรัชญาเหลาจื่อกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”
ทั้งนี้คาดว่าโครงการดังกล่าว จะช่วยให้นักศึกษาและผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับความรู้
แนวคิดเกี่ยวกับองค์ความรู้ทางด้านภาษาไทย
สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ทางการศึกษา การประกอบอาชีพ รวมถึงการศึกษาต่อ
ขณะเดียวกันก็เป็นการกระตุ้นให้มีการส่งเสริม อนุรักษ์ และใช้ภาษาไทยอย่างกว้างขวาง
โดยเฉพาะในสังคมอาเซียนซึ่งประเทศไทยถือได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกที่มีบทบาทสำคัญ
ฉะนั้นการสื่อสารในด้านต่างๆ ระหว่างประเทศสมาชิกก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย ภาษาไทยจึงเป็นอีกหนึ่งภาษาที่มีความสำคัญ
โดยเฉพาะการได้รับความสนใจจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนาม สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมงานสัมมนาได้ตามวันและเวลาดังกล่าว
โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น