จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดงานมหกรรมไม้ดอกไม้ประดับ ครั้งที่ 35 ประจำปี 2554 ระหว่างวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ 2554 ใช้สถานที่หลายแห่งด้วยกัน โดยพิธีเปิดงานพร้อมด้วยการประกวดนางงามบุปผชาติและนางงามบุปผชาตินานาชาติ รวมทั้งการจัดประกวดและการแสดงต่างๆ ที่สวนสาธารณะหนองบวกหาด เริ่มดำเนินการไปแล้ว ตั้งแต่ช่วงเย็นๆ ของวันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา มีประชาชนชาวเชียงใหม่รวมทั้งนักท่องเที่ยวเข้าไปร่วมชม ร่วมพิธีจำนวนมากทีเดียว โดยเฉพาะหลายคนไปถ่ายรูปกับดอกไม้ ถ่ายรูปไม้ดอกไม้ประดับตามแบบฉบับมุมมองของตนเอง ซึ่งเขาได้จัดแสดงไม้ดอกไม้ประดับที่ผ่านการประกวดและชนะจากในงาน ไว้ให้ผู้สนใจชมกันอย่างมากมาย ที่สำคัญ มีการจัดซุ้มสำหรับถ่ายรูปโดยเฉพาะ เป็นซุ้มดอกไม้ มีรูปหัวใจ แต่ต้องทำใจหน่อยนะถ้าจะถ่ายรูปตรงนี้ เพราะคิวยาวมาก
ส่วนในช่วงเช้าของกันที่ 5 ก.พ.54 ที่จริงแม้จะเริ่มเช้า แต่กว่าจะจบก็ปาเข้าไปหิวข้าวท้องกิ่วตามๆกัน คือการจัดขบวนแห่รถบุปผชาติ จากจุดเริ่มต้นที่เชิงสะพานนวรัฐ หน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ไปตามถนนท่าแพ วนตามคูเมือง ไปสิ้นสุดที่สวนสาธารณะหนองบวกหาด แล้วจอดไว้ที่นั่นให้ประชาชนได้ชมกันจนสิ้นสุดการจัดงาน ในเวลา 24.00 น.ของวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งในการจัดขบวนแห่นี้มีการประกวดด้วย โดยมีคณะกรรมการให้คะแนนแต่ละขบวนที่เข้าร่วมการประกวด ณ จุดเริ่มต้นนี้แหละ แต่ก็ใช่ว่าขบวนทั้งหมดจะเข้าร่วมประกวด เพราะบางขบวนจัดเข้ามาร่วมโดยไม่ประกวดก็มี
ตามปกติแล้ว ทุกปีที่ผ่านมาขบวนแห่รถบุปผชาติในงานไม้ดอกไม้ประดับจังหวัดเชียงใหม่ จะได้รับความสนใจจากประชาชนและนักท่องเที่ยวติดตามชมกันอย่างมากตลอดสองข้างทางที่ขบวนผ่านอยู่แล้ว เพราะมีความสวยงามน่าชมเป็นอย่างมาก ยิ่งในปีนี้ มีการเพิ่มสีสันเข้าไปอีกเมื่อการท่องเที่ยวเทียวแห่งประเทศไทยได้นำเอาสาวงามผู้ประกวด Miss India Princess ซึ่งเดินทางมาเก็บตัวทำกิจกรรมส่วนหนึ่งของการประกวดที่เชียงใหม่มาเข้าร่วมขวนด้วย ก็ยิ่งเพิ่มสีสันให้แปลกใหม่และน่าดูยิ่งขึ้น ปรากฏว่าวันนี้มีประชาชนและนักท่องเที่ยว เฝ้าติดตามชมขบวนแห่ตลอดสองข้างทางอย่างเนืองแน่น มีการประมาณอย่างไม่เป็นทางการว่า น่าจะมีผู้ชมไม่น้อยกว่า 100,000 คน
การจัดขบวนแห่รถบุปผชาติในระยะหลังนี้ ดูจะมีปัญหาที่สร้างความหงุดหงิดให้กับประชาชนที่ไปชมงาน โดยเฉพาะที่เชิงสะพานนวรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นจัดสำคัญของงาน เท่าที่พอจะประมวลจากเสียงของผู้เข้าชม 2 ประการด้วยกันคือ
เรื่องความล่าช้าของขบวน เนื่องจากขบวนรถแห่มีมากถึง 30 คัน แต่ละคันไปตั้งจุดเตรียมอยู่อีกฝั่งของแม่น้ำปิง โดยคาดว่าน่าจะไปรอตั้งแต่ไก่โห่ เพราะขบวนแรกต้องผ่านเวลาประมาณ 08.00 น. แต่ละขบวนใช้เวลาที่จัดนี้ประมาณ 5-10 นาที รวม 30 ขบวน ก็ประมาณ 150-300 นาที หรือ 2 ชั่วโมงครึ่ง ถึง 5 ชั่วโมง ซึ่งที่ผ่านมากว่าจะครบทุกขบวนก็ประมาณ เที่ยงวัน ผู้เข้าร่วมขบวนบางคนเป็นลมแล้วเป็นลมอีก สาวสวยบางคนแต่งหน้ามาดีๆ กว่าจะถึงจุดหมาย คิ้วกลายเป็นขนหน้าอกไปก็มี ส่วนสาเหตุของการช้าคงมาจากหลายปัจจัย คณะกรรมการคงต้องหาวิธีการเร่งให้กระชับมากกว่านี้ ส่วนจะได้มากน้อยเพียงใดก็ค่อยว่ากันอีกที
อีกเรื่องคือความวุ่นวายสับสนในพื้นที่เป้าหมาย ตรงเชิงสะพานนวรัฐแม้จะมีการตำเอาแผงเหล็กมากั้นไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไปพื้นที่ขบวนผ่านและแสดง แต่จากการสังเกตหลายปีที่ผ่านมา ผู้คนเข้าไปเกือบเต็มพื้นที่ คนอยู่ข้างนอกที่ทำตามระเบียบเป็นอย่างดี กลับมองไม่เห็นขบวนและการแสดงอย่างชัดเจน ที่ชัดที่สุดคือก้นของผู้ที่ทะลักเข้าไปข้างใน ซึ่งส่วนใหญ่อ้างว่าเป็นสื่อมวลชนเข้าไปถ่ายรูปถ่ายวิดีโอ ถ้าจะให้ดี ในปีต่อไปควรมีมาตรการอย่างจริงจังในการจัดระเบียบ จะสื่อไม่สื่อ ห้ามเข้าทั้งหมด จะว่าไปสื่อที่มีคุณภาพเขาไม่ต้องเข้าไปเกะกะข้างในเขาก็สามารถใช้อุปกรณ์ชั้นสูงเก็บภาพเก็บข้อมูลได้ ที่ชอบขออภิสิทธิ์ยกเว้นกฎระเบียบเข้าไป ส่วนมากจะเป็นสื่อแอบอ้างกับสื่อระดับล่างๆ และชาวบ้านบางคนที่เล่นลูกมั่วเข้าไปถ่ายรูปตัวเอง
ในพิธีเปิดขบวนแห่รถบุปผชาติ งานมหกรรมไม้ดอกไม้ประดับครั้งที่ 35 มีหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธาน มีรถเข้าขบวนแห่จำนวน 30 ขบวน จาก 27 หน่วยงาน ทั้งขบวนแห่ที่เข้าร่วมประกวดและไม่เข้าประกวด สำหรับประเภทของการประกวดขบวนแห่แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ ประเภทสวยงาม ใช้แนวคิด เชียงใหม่ มิ่งเมืองรัตนบุปผานครพิงค์ ประเภทอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ใช้แนวคิด อลังการนครล้านนา เมืองแห่งศิลปวัฒนธรรม และประเภทความคิดสร้างสรรค์ มีแนวคิดให้เลือก 4 แนวคือ เชียงใหม่ นครแห่งเศรษฐกิจพอเพียง ตามรอยพระยุคลบาท เชียงใหม่ นครนานาชาติ ความประสานกลมกลืนวัฒนธรรมหลากหลาย เชียงใหม่ นครแห่งความปรองดองสามัคคี และ เชียงใหม่ นครแห่งความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
ขบวนรถเข้าประกวดของ อ.เมืองเชียงใหม่
ผลการตัดสินการประกวดประกาศออกมาในช่วงเย็นๆ ของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2554 โดยขบวนแห่ทุกประเภททุกรางวัลจะได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล ดังนี้ ประเภทสวยงาม ชนะเลิศ อ.ดอยสะเก็ด ได้รับรางวัลเงินสด 35,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 อ.สันป่าตอง รับเงินรางวัล 25,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 2 อ.แม่แตง รับเงินรางวัล 20,000 บาท ประเภทอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ชนะเลิศ อ.เมือง รับเงินรางวัล 30,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ รับเงินรางวัล 20,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 2 บริษัท เชียงใหม่ฟิล์ม รับเงินรางวัล 15,000 บาท และประเภทความคิดสร้างสรรค์ ชนะเลิศ อ.สันกำแพง รับเงินรางวัล 30,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รับเงินรางวัล 20,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับ 2 อ.หางดง รับเงินรางวัล 15,000 บาท
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น