พัทยา, 26 มกราคม
2567 – สี่นักกอล์ฟมือสมัครเล่นสาวดาวรุ่งนำโดย
มามิกะ ชินจิ อันดับ 33 ของโลกจากญี่ปุ่น, เรนเน่
มิคาเอล่า มาลิซี่ จากฟิลิปปินส์, อาวานี
ปรัสนันท์ จากอินเดีย และ ยูอึนซอ ซอย จากนิวซีแลนด์ ถูกยกให้เป็นหนึ่งในบรรดาตัวเต็งลุ้นแชมป์ศึก
Women's Amateur Asia-Pacific ครั้งที่
6 ขณะที่
แอลล่า แกลิทสกี้ เป็นหนึ่งในแปดผู้เล่นชาวไทย และจะลงป้องกันแชมป์ที่สนามสยามคันทรีคลับ
วอเตอร์ไซด์ พัทยา จังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ 1-4 กุมภาพันธ์ 2567 นี้
นักกอล์ฟวัยทีนทั้งสี่รายล้วนผ่านประสบการณ์ในเวทีการแข่งขันกอล์ฟมาอย่างโชกโชน
และต่างมีประสบการณ์ในการแข่งขันกอล์ฟรายการ วีเมนส์ อเมเจอร์ เอเชีย-แปซิฟิก 2022 ที่สนามสยามคันทรีคลับมาแล้ว
จัดเป็นกลุ่มผู้เล่นที่น่าจับตามองในการช่วงชิงแชมป์จากผู้เล่นสาวไทย โดย เรนเน่ มิคาเอล่า
มาลิซี่ จบอันดับ 3 ร่วม, มามิกะ ชินจี อันดับ 9 ร่วม
และ ยูอึน ชอย อันดับ 27 ร่วม ส่วน อาวานี ปรัสนันท์ มีปัญหาอาหารเป็นพิษไม่ผ่านการตัดตัว
ทั้ง
มามิกะ ชินจิ, เรนเน่ มิคาเอล่า มาลิซี่, อาวานี ปรัสนันท์ และยูอึนซอ ซอย ทำผลงานได้ดีในการออกสตาร์ตฤดูกาล
2024 และต่างพัฒนาฝีมือและพร้อมกลับมาล่าแชมป์สมัครเล่นหญิงรายการใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
ซึ่งกลับมาชิงชัยที่พัทยาอีกครั้งในสัปดาห์หน้า
โดย
มามิกะ ชินจิ และ เรนเน่ มิคาเอล่า มาลิซี่ พกความมั่นใจมาเต็มเปี่ยม ตั้งแต่เปิดปี
2024 ด้วยการคว้าแชมป์ในการแข่งขันที่ออสเตรเลีย
ทั้งคู่มีอายุ 16 ปีเท่ากัน
โดย ชินจิ เริ่มเล่นกอล์ฟตอนอายุ 7 ขวบ ส่วน มาลิซี่ หัดตีกอล์ฟครั้งแรกเมื่ออายุ 8 ขวบ ขณะที่ อาวานี ปรัสนันท์ และยูอึน ชอย อายุ 17 ปีเท่ากัน โดย ปรัสนันท์ เริ่มจับไม้กอล์ฟตั้งแต่วัย 3 ขวบ 10 เดือน
ส่วน ชอย เริ่มเล่นกอล์ฟในวัย 8 ขวบ
เรนเน่
มิคาเอล่า มาลิซี่ เปิดศักราชใหม่ได้สวยหรูด้วยการคว้าแชมป์ ออสเตรีเลียน มาสเตอร์
ออฟ ดิ อเมเจอร์ส ต่อด้วยการจบอันดับ 3 ร่วมรายการถ้วยพระราชทาน ควีนสิริกิติ์ คัพ ที่มะนิลา เซาธ์วูดส์ และ อันดับ 3 ร่วมรายการเดอะ
รอยัล จูเนียร์ ในญี่ปุ่น ก่อนไปได้อันดับ 4 ในการแข่งขันซีเกมส์ จากนั้นรั้งรองแชมป์รายการ ยูเอส เกิลด์ จูเนียร์ แชมเปี้ยนชิพ
และมาครองแชมป์สำเร็จในสัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคม ปี 2024 ในรายการ ออสเตรเลียน มาสเตอร์ส ที่สนามเซาเทิร์น กอล์ฟ คลับ
ส่วน
มามิกะ ชินจิ ได้ครองโทรฟี่รายการออสเตรเลียน อเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพ หลังจากโชว์ฟอร์มได้อย่างโดดเด่นในรอบสุดท้าย
ทำวันเดียว 10 เบอร์ดี้
ปิดฉากที่ 7 อันเดอร์พาร์
66 เทียบเท่าสถิติสนามยาร์รา
ยาร์รา กอล์ฟคลับ และพลิกสถานการณ์จากที่ตามหลัง 6 สโตรก แซงคว้าแชมป์ด้วยสกอร์รวม 10 อันเดอร์พาร์ 282
มาลิซี่
กล่าวถึงการคว้าแชมป์ครั้งนั้นว่า “ก่อนหน้านี้ฉันมีลุ้นแชมป์เสมอ แต่มักพลาดอย่างน่าเสียดายในท้ายที่สุด
จึงมีความสุขมากที่สามารถคว้าแชมป์สำเร็จที่ออสเตรเลีย ต้องขอบคุณประสบการณ์ที่สั่งสมมา”
ส่วน ชินจิ กล่าวว่า “ฉันสู้เต็มที่เสมอไม่เคยถอดใจ มุ่งมั่นที่จะปรับปรุงฟอร์มการเล่นให้ดีต่อเนื่อง
และพยายามสนุกกับเกมการแข่งขันเสมอ”
จากผลงานที่โดดเด่นทำให้
ชินจิ, ปรัสนันท์ และมาลิซี่ ขยับขึ้นมาติดในท็อป
50 มือสมัครเล่นโลก
ขณะที่ ชอย พุ่งขึ้น 20 อันดับมาติดในท็อป 150 โดยปัจจุบัน ชินจิ เป็นมือสมัครเล่นอันดับ 33 ของโลก, ปรัสนันท์ รั้งอันดับ 42, มาลิซี่ อยู่อันดับ 43 และ
ชอย อยู่ที่ 146 ซึ่งนักกอล์ฟทั้งสี่รายหวังทำผลงานให้โดดเด่นในศึก
วีเมนส์ อเมเจอร์ เอเชีย-แปซิฟิก เพื่อขยับอันดับโลกให้ดีที่สุด
ทั้งนี้แชมป์วีเมนส์
อเมเจอร์ เอเชีย-แปซิฟิก ครั้งนี้จะได้รับโอกาสสำคัญในการร่วมแข่งขันรายการระดับเมเจอร์
3 รายการ
ได้แก่ เอไอจี วีเมนส์ โอเพ่น 2024 ที่สนามเซนต์แอนดรูส์, อามุนดิ
เอวิยอง แชมเปียนชิพ ที่ฝรั่งเศส และ เชฟรอน แชมเปี้ยนชิพ ที่สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังได้รับเชิญร่วมแข่งขันรายการ
ฮานา ไฟแนนเชียล กรุ๊ป แชมเปี้ยนชิพ, ไอเอสพีเอส
ฮันดะ วีเมนส์ ออสเตรเลียน โอเพ่น รวมถึงกอล์ฟสมัครเล่นรายการใหญ่อย่าง วีเมนส์ อเมเจอร์
แชมเปี้ยนชิพ ครั้งที่ 121 และ ออกัสต้า เนชันแนล วีเมนส์ อเมเจอร์ อีกด้วย
สำหรับการแข่งขันปีนี้มีนักกอล์ฟสมัครเล่น
90 คน
จาก 22 ประเทศทั่วโลกร่วมชิงชัย
รวมถึง เฟธ วิว วัย 18 ปี จากประเทศซามัว ดีกรีแชมป์ นิวซีแลนด์
วีเมนส์ อเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพ เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งจะร่วมแข่งขันเป็นครั้งแรก และยังมี
ฮาร์โมนี่ หยิน จากกัมพูชา และ ซาบริน่า หว่อง วัย 12 ปีจากฮ่องกง ซึ่งเป็นนักกอล์ฟอายุน้อยที่สุดในการแข่งขันครั้งนี้ รวมทั้งคู่พี่น้อง
2 คู่จากปากีสถาน
ประกอบด้วย สองพี่น้อง ปาร์คา กับ ริมชา อิจาซ และคู่พี่น้อง อบิฮา และดานิฮา ไซเยด
ลงประชันวงสวิงในรายการเดียวกัน
ขณะที่นักกอล์ฟสมัครเล่นสาวฝีมือดีของไทยลงแข่งขัน
8 คน
ประกอบด้วย แพงกี้-เอลล่า แกลิทสกีย์ (แชมป์เก่า), แซนวิช-ภิมพิศา สีสุธรรม, ฝ้าย-พิมพ์พิศา
รับรอง, หยิน-นิชา กันภัย, วันออน-อชิรญาณ์ ศรีวงษ์, เจนนี่-ณภัทร เลิศศาสตร์วัฒนา, น้ำผึ้ง-นวพร สุนทรียภาส และ ฮัท-สุวิชยา
วินิจฉัยธรรม
สามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวและรายละเอียดเพิ่มเติมของการแข่งขัน
วีเมนส์ อเมเจอร์ เอเชีย-แปซิฟิก ได้ที่เว็บไซต์ www.randa.org/WAAP
การแข่งขันกอล์ฟรายการ
Women's Amateur Asia-Pacific จัดขึ้นจากความร่วมมือของ
The R&A และสมาพันธ์กอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก
-Asia-Pacific Golf Confederation เพื่อพัฒนาศักยภาพนักกอล์ฟสมัครเล่นในภูมิภาคก้าวสู่เวทีระดับโลกและเป็นเวทีที่มอบโอกาสสำคัญในการลงเล่นกอล์ฟรายการใหญ่ระดับเมเจอร์
3 รายการ
กอล์ฟ วีเมนส์ อเมเจอร์
เอเชีย-แปซิฟิก แชมเปี้ยนชิพ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 ณ สนามสยามคันทรีคลับ วอเตอร์ไซด์ พัทยา ระหว่างวันที่ 1-4 กุมภาพันธ์
2567 โดยแชมป์รายการนี้จะได้สิทธิ์รับเชิญร่วมแข่งขันกอล์ฟเมเจอร์รายการ AIG Women’s
Open, Amundi Evian Championship และ
The Chevron Championship รวมถึงรายการ Hana
Financial Group Championship, ISPS HANDA Women’s Australian Open, The 121st
Women’s Amateur Championship และ Augusta National Women’s Amateur -ANWA
ติดตามความเคลื่อนไหวและรายละเอียดของการแข่งขันได้ทางเว็บไซต์
www.randa.org
ทำเนียบแชมป์Women's Amateur Asia-Pacific
ปี 2018 สนามเซนโตซ่า
กอล์ฟคลับ, สิงคโปร์ แชมป์ อาฒยา ฐิติกุล (ไทย)
ปี 2019 สนาม
เดอะรอยัล กอล์ฟ คลับ, ญี่ปุ่น
แชมป์ ยูกะ ยาสุดะ (ญี่ปุ่น)
ปี 2020 ไม่มีการแข่งขัน
เนื่องจากปัญหาการระบาดของ โควิด 19
ปี 2021 สนาม
อาบูดาบี กอล์ฟ คลับ, สหรัฐอาหรับอีมีเรส
แชมป์ มิซูกิ ฮาชิโมโต้ (ญี่ปุ่น)
ปี 2022 สนาม
สยามคันทรี คลับ, ไทย
แชมป์ ฮวง ถิง-ชวน (ไต้หวัน)
ปี 2023 สนาม
สิงคโปร์ ไอส์แลนด์ คันทรี คลับ, สิงคโปร์
แชมป์ แอลล่า แกลิทสกีย์ (ไทย)
ข้อมูลเกี่ยวกับเดอะ
อาร์แอนด์เอ
เดอะ
อาร์แอนด์เอ กรุ๊ป ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2004 รับผิดชอบและทำหน้าที่ของเดอะ รอยัล แอนด์ เอนเชียน กอล์ฟคลับ ออฟ เซนต์แอนดรูว์ส
ในการจัดทำกฎข้อบังคับกีฬากอล์ฟ เป็นผู้จัดการแข่งขันกอล์ฟ ดิ โอเพน กอล์ฟเมเจอร์รายการเก่าแก่ที่สุดในโลก
รวมทั้งพัฒนากีฬากอล์ฟ พิพิธภัณฑ์กอล์ฟโลกที่สนามเซนต์แอนดรูว์สก็เป็นส่วนหนึ่งของอาร์แอนด์เอ
กรุ๊ป
เดอะ
อาร์แอนด์เอ ร่วมกับยูเอสจีเอ ทำหน้าที่เป็นองค์กรกำกับดูแลกีฬากอล์ฟทั่วโลก กำหนดกฎข้อบังคับกีฬากอล์ฟ
ข้อบังคับสถานภาพนักกอล์ฟสมัครเล่นและมาตรฐานอุปกรณ์การแข่งขัน โดยเดอะ อาร์แอนด์เอ
รับผิดชอบกำกับดูแลกีฬากอล์ฟทั่วโลก ในนามนักกอล์ฟกว่า 61 ล้านคนจาก 145 ประเทศ
จากสมาคมกอล์ฟสมัครเล่นและสมาคมกอล์ฟอาชีพ 164 แห่ง นอกเหนือจากสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก ซึ่งอยู่ในความดูแลของยูเอสพีจีเอ
เดอะ
อาร์แอนด์เอ ยังเป็นผู้จัดการแข่งขันกอล์ฟชายและกอล์ฟหญิงรายการใหญ่ทั้งระดับสมัครเล่นและระดับอาชีพหลายรายการ
รวมถึงกอล์ฟเมเจอร์หญิงรายการ เอไอจี วีเมนส์ โอเพ่น และทำงานร่วมกับ ดีพี เวิลด์ ทัวร์
จัดการแข่งขันกอล์ฟ ซีเนียร์ โอเพ่น พรีเซนเต็ดบาย โรเล็กซ์ ซึ่งเป็นรายการเมเจอร์ระดับซีเนียร์ทัวร์
ตลอดช่วงระยะเวลา
10 ปีที่ผ่านมา
เดอะ อาร์แอนด์เอ ทุ่มเงินลงทุนจำนวน 200 ล้านปอนด์ ในการพัฒนาและสนับสนุนการเจริญเติบโตของกีฬากอล์ฟในระดับสากล รวมถึงการพัฒนาและการจัดการสนามกอล์ฟแบบยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์
www.randa.org.
ข้อมูลเกี่ยวกับสมาพันธ์กอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก
สมาพันธ์กอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก
(เอพีจีซี) เป็นตัวแทนของสมาคมกอล์ฟชายและสตรี จำนวน 47 ชาติทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเป็นภูมิภาคที่กีฬากอล์ฟเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง
โดยปัจจุบันมีนักกอล์ฟประมาณ 18 ล้านคน สนามกอล์ฟกว่า 4,000 แห่ง เอพีจีซีร่วมเป็นพันธมิตรจัดการแข่งขันกอล์ฟสมัครเล่นรายการสำคัญๆ ในภูมิภาค
สนับสนุนประเทศสมาชิกในการพัฒนากีฬากอล์ฟ และกำกับดูแลให้ปฏิบัติตามกฎกติกาข้อบังคับกีฬากอล์ฟตามที่ได้รับความเห็นชอบจาก
เดอะ อาร์แอนด์เอ รวมทั้งร่วมมือกับเดอะ มาสเตอร์ส ทัวร์นาเมนต์ และสหพันธ์กอล์ฟนานาชาติ
หรือไอจีเอฟ ในการส่งเสริมสนับสนุนกีฬากอล์ฟ
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ www.apgc.online
อีกหนึ่งช่องทางติดตามข่าว
https://www.blockdit.com/posts/65b4d8fd118ab114ba1da59c
**************