กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงและความเข้าใจ (MOU) พร้อมร่วมกันแถลงข่าวโครงการ “เกษียณมีดี” ของวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขับเคลื่อนระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เพื่อพัฒนาทักษะงานในยุคดิจิทัลสำหรับผู้สูงวัยและระบบสนับสนุนเชิงเทคนิคของคนรุ่นใหม่ สู่การนำไปใช้ที่ยั่งยืน
วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน 2565 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 201 ชั้น 2 อาคารสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในความร่วมมือของโครงการ “เกษียณมีดี พลังเกษียณสร้างชาติ ระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาทักษะงานในยุคดิจิทัลสำหรับผู้สูงวัย และระบบสนับสนุนเชิงเทคนิคของคนรุ่นใหม่ สู่การนำไปใช้ที่ยั่งยืน” ดำเนินการโดย วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเป็นการร่วมมือระหว่าง 6 หน่วยงานประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลงนามโดย ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, กรมกิจการเด็กและเยาวชน ผู้ลงนามคือ นายจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน, กรมกิจการผู้สูงอายุ ลงนามโดย นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ, สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ลงนามโดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยเเห่งชาติ และ เครือข่ายโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ผู้ลงนามคือ พระครูปิยวรรณพิพัฒน์, ดร. ประธานเครือข่ายโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย, เครือข่าย YEN-Dx พี่สอนน้องคล่องธุรกิจ ลงนามโดย นายกิตติ์รเมศ อธิกรธีรพัฒน์ ประธาน YEN-D Frontier Thailand-Laos ผู้แทนเครือข่าย YEN-Dx
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงการดำเนินงาน ในการเตรียมความพร้อมการเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทยอย่างเต็มตัวว่า ได้มีการขับเคลื่อนเพื่อสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้รับโอกาสและสร้างแรงจูงใจในการหาความรู้ เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ สู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนสูงวัย โดยร่วมหนุนเสริมกับโครงการความร่วมมือ “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนแนวทางการพัฒนาทักษะของผู้สูงวัย สู่การเป็นผู้ประกอบการสมัยใหม่ในยุคเทคโนโลยี ทำให้สามารถพึ่งพาตนเองทางรายได้ จึงมีความร่วมมือกับวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการดำเนินงานโครงการ “เกษียณมีดี พลังเกษียณสร้างชาติ” ที่ได้สร้างแนวทางการเรียนรู้ด้านดิจิทัลสำหรับผู้สูงวัย โดยเฉพาะระบบนิเวศแบบบูรณาการที่จะเอื้อให้ประชากรกลุ่มผู้สูงวัยสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้แบบดิจิทัลได้ในวงกว้าง พร้อมทั้งฟูมฟักทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ให้เกิดการเสริมทักษะเดิม เพิ่มทักษะใหม่ จากแหล่งเรียนรู้ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา สามารถพัฒนาต่อยอดการเป็นผู้ประกอบการออนไลน์ของผู้สูงวัย เพื่อเป็นหนึ่งในกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้ต่อไปในอนาคต
ด้านปลัดกระทรวง พม. นางพัชรี อาระยะกุล ได้กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า ในการร่วมดำเนินโครงการ “เกษียณมีดี” ที่ผ่านมานั้น กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) และ กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ร่วมมือกันในการขับเคลื่อนระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาทักษะงานในยุคดิจิทัลสำหรับผู้สูงวัย และระบบสนับสนุนเชิงเทคนิคของคนรุ่นใหม่สู่การนำไปใช้ที่ยั่งยืน อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การสร้างแนวทางการจัดกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายโรงเรียนผู้สูงอายุ และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำจังหวัด เพื่อให้การดำเนินงานของโครงการฯ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและเกิดประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น โดยได้ร่วมจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) การใช้ระบบนิเวศการเรียนรู้ “มีดี” สำหรับผู้สอนโรงเรียนผู้สูงอายุในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ
สำหรับกรมกิจการเด็กและเยาวชนนั้น ก็ได้มีความร่วมมือกับวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผ่านเครือข่าย “YEN-Dx พี่สอนน้อง คล่องธุรกิจ” โดยจัดให้มีการอบรมหัวข้อ “สูตรสู่การเป็นผู้ประกอบการ” ให้แก่เยาวชนในสถานสงเคราะห์ฯ เพื่อสร้างเสริมองค์ความรู้ด้านการเป็นผู้ประกอบการเบื้องต้น รวมทั้งแนะแนวการเข้าเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านระบบออนไลน์บนแพลตฟอร์มของวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อมอบโอกาสทางการเรียนรู้ให้กับเยาวชนในความดูแลของสถานสงเคราะห์ฯ
ดังนั้น ในการลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจในครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการร่วมมือขับเคลื่อนและดำเนินงานต่อยอด ส่งเสริมสนับสนุนผลงานวิจัยและนวัตกรรมการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งสู่การเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมสูงอายุของประเทศไทย และร่วมพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับคนรุ่นใหม่ ในการดำรงชีวิตและการทำงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดงานในปัจจุบัน โดยอาศัยการบูรณาการและร่วมมือกันขับเคลื่อนกับทุกภาคส่วน
ทางด้านศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงโครงการ “เกษียณมีดี” ที่ได้รับสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่า มช. ได้ดำเนินการจัดทำบทเรียนดิจิทัล “เกษียณมีดี” สำหรับผู้สูงวัย พื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างคนต่างวัย “ชุมชนคนมีดี” และ พื้นที่ปฏิบัติการฝึกเป็นผู้ประกอบการออนไลน์ “ตลาดคนมีดี” การดำเนินงานที่ผ่านมาของโครงการได้ก่อให้เกิดการพัฒนาทักษะงานในยุคดิจิทัลสำหรับผู้สูงวัย พร้อมระบบสนับสนุนเชิงเทคนิคของคนรุ่นใหม่สู่การนำไปใช้ที่ยั่งยืน พร้อมด้วยระบบสนับสนุนและพื้นที่ค้าขายสินค้าผลิตภัณฑ์และบริการในออนไลน์ มาร์เก็ตเพลส รวมทั้งเครือข่ายประสานงานร่วมกันกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนผู้สูงวัยหรือผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณ ให้สามารถพึ่งพาตนเองในเชิงการประกอบอาชีพในโลกปัจจุบันได้
ขณะที่ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวถึงการสนับสนุนโครงการดังกล่าวว่า วช. มุ่งหวังให้ความร่วมมือที่เกิดขึ้นภายใต้แผนงาน “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” ในระยะที่ 1 ซึ่งพร้อมก้าวเข้าสู่ในระยะที่ 2 นี้ สามารถนําไปสู่การขับเคลื่อนและขยายผลในระยะต่อ ๆ ไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของกระทรวง อว. ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนเข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งสู่การพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ให้สามารถต่อสู้กับความยากจน และสามารถดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตัวเองได้ เพื่อเป็นกําลังขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
นอกจากนี้ยังได้มีการตอบข้อซักถามเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่าง 6 หน่วยงาน โดยนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้ตอบคำถามแก่สื่อมวลชน และมีการแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์ในหัวข้อ “อนาคตประเทศไทยกับพลังต่างวัยสร้างชาติ” ที่มีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมให้ข้อมูลทิศทางในการดำเนินงานความร่วมมือต่อไป โดย รองศาสตราจารย์ ดร.นัทธี สุรีย์ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แถลงถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของโครงการพลังเกษียณสร้างชาติฯ รวมทั้งแผนการขับเคลื่อนในอนาคตว่า โครงการได้ทำการรับสมัครผู้เข้าร่วมผ่านเครือข่ายของโรงเรียนผู้สูงอายุและกลุ่มบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจ ให้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ภายในระบบนิเวศ “มีดี” โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มเป้าหมาย ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดของระบบนิเวศการเรียนรู้ “มีดี” ที่เป็นผู้สูงวัย (อายุ 55 ปีขึ้นไป) จำนวนมากกว่า 11,000 คน และเป็นผู้เข้าร่วมทุกช่วงวัยรวมทั้งสิ้นกว่า 18,000 คน
ความสำเร็จสำคัญที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานโครงการนี้ ส่วนหนึ่งคือการสร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่น (Multi-Sector Collaboration) โดยได้จับมือกับสถาบันการศึกษา ภาครัฐ เอกชนและชุมชนที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับผู้สูงวัย รวมถึง สำนักงาน พม.จังหวัด และ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ในพื้นที่ภาคต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินกิจกรรม เพื่อเสริมสร้างทักษะสำหรับผู้สูงวัยในการเป็นผู้ประกอบการ ทำให้เกิดการรับรู้และเข้าสู่ระบบนิเวศ “มีดี” โดยจากการดำเนินงานพบว่า องค์กรเหล่านี้ได้เข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักของโครงการ ที่จะสามารถนำเอาระบบการสนับสนุนหรือหลักสูตรออนไลน์ที่ได้พัฒนาจากโครงการนี้ไปใช้ในโรงเรียนผู้สูงอายุทั่วประเทศ และเป็นผู้ที่ช่วยอนุเคราะห์สื่อสารประชาสัมพันธ์พร้อมทั้งประสานงานกิจกรรมของโครงการ
ส่วนความสำเร็จจากการดำเนินงานโครงการในปีที่ 1 ที่ผ่านนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นและรากฐานอันมั่นคงสำหรับการขยายผลระบบนิเวศการเรียนรู้ “มีดี” ให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้นในระดับประเทศในอนาคต พร้อมทั้งเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายเดิมให้สามารถขับเคลื่อนการสนับสนุนและพึ่งตนเองได้ อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยแบบยั่งยืนมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี พบว่ายังมีช่องว่างด้านความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีของผู้สูงวัยในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งการเข้าถึงของเครือข่ายชุมชนผู้สูงวัย อันจะได้เป็นประเด็นในการร่วมหาทางออกต่อไปผ่านความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เป็นพันธมิตรของโครงการ โดย มช.หวังเป็นอย่างยิ่งว่า “มีดี” จะกลายเป็นระบบนิเวศของการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแบบบูรณาการผ่านโรงเรียนผู้สูงอายุออนไลน์ ที่มีการฝึกนำไปใช้จริง สร้างธุรกิจจริง เสนอขายจริง และมีระบบการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรม เกิดโอกาสในการทำงานในเศรษฐกิจใหม่ เป็นพลังของคนสูงวัยที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทำให้คนกลุ่มนี้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ลดการเป็นภาระในการดูแลของครอบครัวหรือของภาครัฐ พร้อมทั้งเป็นส่วนช่วยเอื้อเศรษฐกิจฐานรากให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้ในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้น การเสริมพลังของคนรุ่นใหม่ในชุมชนก็จะเอื้อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ระหว่างทั้งสองกลุ่มคนต่างวัย และนำไปสู่ความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างวัยที่ดีมากยิ่งขึ้นได้ในภายภาคหน้า.
****************
www.jupjib.com