ชมรมสื่อมวลชนอาวุโสเชียงใหม่ รักษาวัฒนธรรมการปรุงและบริโภคอาหารพื้นเมือง จัดกิจกรรมงานเทศกาลลาบเมือง 64 พร้อมมีการประกวดเทพี-เทพบุตร ลาบเมือง 64 เน้นรักษาประเพณีวัฒนธรรมล้านนา รับปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ เช่นการรับประทานอาหารพื้นเมือง การแต่งกายพื้นเมือง และอู้กำเมือง พร้อมพบกับศิลปินล้านนาชื่อดังอีกหลายคนบนเวที
วันที่ 23 มีนาคม 2564 เวลา 14.00 น. ณ โรงแรมสมายล์ ล้านนา จ.เชียงใหม่ นายอำนาจ จงยศยิ่ง ประธานชมรมสื่อมวลชนอาวุโสเชียงใหม่ นายสินชัย พชรธนาพร ประธานจัดงาน เทศกาลลาบเมือง 64 นายจิรชัย คงคาดิษฐ ประธานจัดประกวดเทพี-เทพบุตร ลาบเมือง พร้อมด้วยคณะกรรมการผู้เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันแถลงข่าว การจัดงาน เทศกาลลาบเมือง 64 โดยมีสื่อมวลชนและผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมงานจำนวนมาก
นายอำนาจ จงยศยิ่ง ประธานชมรมสื่อมวลชนอาวุโสเชียงใหม่กล่าวว่า งานเทศกาลลาบเมือง 64 จัดขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีการปรุงอาหารพื้นเมือง เช่น ลาบ อาหารจานโปรดของคนล้านนาที่ขึ้นชื่อ เป็นที่นิยมบริโภคของคนทั่วไป จึงต้องส่งเสริมให้มีการปรุงรส และบริโภค เพื่อสืบสานให้คงอยู่กับชาวล้านนาตลอดไป ทั้งนี้ เมื่อประมาณ 40 ปีก่อน มีนักข่าวกลุ่มหนึ่งชื่นชอบกับรสชาติของลาบเป็นอย่างมาก ดังนั้น ทุกเย็นหลังปิดข่าวแล้วก็ไปร่วมกันรับประทานอาหารประเภทลาบ หลู้ ตามร้านต่างๆ เช่นร้านลาบต้นยาง ร้านลาบชาวทุ่ง ร้านลาบดีขม แต่ต่อมาก็ได้คิดริเริ่มรวมตัวกันไปปรุงลาบรับประทานกันเอง หมุนเวียนผลัดกันเป็นเจ้าภาพไปตามบ้านของแต่ละคน และบางครั้งเปลี่ยนสถานที่ พากันไปทำลาบบนโขดหิน ลำธารน้ำตกห้วยแก้ว บริเวณขัวขาว (สะพานขาว) ถนนศรีวิชัย
ต่อมา เมื่อนายอำนาจ จงยศยิ่ง ได้ดำรงตำแหน่งประธานชมรมสื่อมวลชนเชียงใหม่ ได้เปลี่ยนชื่อ ชมรมสื่อมวลชนเชียงใหม่ เป็นชื่อ ชมรมผู้สื่อข่าวเชียงใหม่ จึงริเริ่มจัดงาน มหกรรมลาบเมือง อย่างเป็นทางการที่ร้านอาหารคุ้มขันโตก ของ จรัล มโนเพ็ชร ซึ่งกำลังโด่งดังมีชื่อเสียงจากเพลงอุ้ยคำในขณะนั้น เป็นบรรยากาศบ้านโบราณ มีบรรเลงดนตรี สะล้อ ซอ ซึง จนกลายเป็นงานประเพณี ของสื่อมวลชนเชียงใหม่ มานานถึง 40 ปี
สำหรับปีนี้ และในปี 2562-2563 ชมรมผู้สื่อข่าวเชียงใหม่ ได้งดจัดกิจกรรมงานมหกรรมลาบเมือง เนื่องจากประธานฯเสียชีวิต และสถานการณ์โควิด 19 ทางชมรมสื่อมวลชนอาวุโสเชียงใหม่ เห็นว่าการว่างเว้นกิจกรรมไป 2 ปีติดต่อกัน จะทำให้ผู้คนลืมงานประเพณียิ่งใหญ่นี้ไปได้ คณะกรรมการ ชมรมสื่อมวลชนอาวุโสเชียงใหม่ ที่อดีตเป็นผู้ริเริ่มงานนี้มา ทุกคนล้วนมีประสบการณ์สูงอยู่แล้ว เห็นว่าไม่ควรหยุดงานนาน จึงมีมติจัดงานโดยใช้ชื่องานว่า เทศกาลลาบเมือง 64 ทั้งนี้เพื่อคงไว้ซึ่งประเพณีวัฒนธรรม การปรุงลาบอาหารเมือง ของคนล้านนาสืบไป โดยเน้นให้ผู้ร่วมงาน แต่งกายพื้นเมืองงาม และ การอู้กำเมือง ในงาน บรรยากาศล้านนาจริงๆ
ในขณะที่ นายสินชัย พชรธนาพร ประธานจัดงานเทศกาลลาบเมือง 64 กล่าวว่า การจัดแข่งขันลาบเมืองครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ การประกอบการปรุงลาบ ทีมละ 3 คน การแข่งขันลาบลีลา ทีมละ 2 คน และประกวดจัดผักกับลาบสวยงาม ซึ่งจะต้องใช้ผักที่ใช้กับลาบและต้องมากชนิด โดยทีมชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 3,000 บาท พร้อมเขียงทองเกียรติยศ รองชนะเลิศ อันดับ 1 เงิน 2,000 บาท รองชนะเลิศ อันดับ 2 เงิน 1,000 บาท พร้อมเขียงทองเกียรติยศ และชมเชย 2 รางวัลๆละ 500 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ ทั้งนี้ ค่าสมัครเข้าแข่งขัน ทีมลาบ 500 บาท ส่วนการแข่งขันลาบลีลา และแข่งจัดผักกับลาบ ไม่เสียค่าสมัคร โดยคณะกรรมการจะมอบเนื้อหมูปลอดโรคให้ 1 กิโลกรัม ซึ่งจะไม่อนุญาตให้ใช้เนื้อหมูจากที่อื่น เพื่อความปลอดภัยในการป้องกันโรคติดต่อ
ทางด้านนายจิรชัย คงคาดิษฐ ประธานจัดประกวดเทพี-เทพบุตร ลาบเมือง 64 กล่าวว่า การจัดประกวดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือเทพี และเทพบุตร เทพีชิงมงกุฎเพชร สายสะพาย ขันน้ำพานรอง พร้อมเงินสด 7,000 บาท รอง 3,000 บาท 2,000 บาท 1,500 บาท และขวัญใจสื่อมวลชน 1,000 บาท ส่วนรางวัลเทพบุตรลาบเมืองซึ่งจัดเป็นครั้งแรกก็มีรางวัลเช่นเดียวกับเทพีลาบเมือง โดยการประกวดรายการนี้ในอดีตที่ผ่านมา สาวงามที่เคยได้รับตำแหน่งนี้ สามารถไปคว้ามงกุฎนางสาวไทยมาแล้ว คือ อรอนงค์ ปัญญาวงค์ และยังมีอีกหลายคนที่ได้เป็นรองนางสาวเชียงใหม่
งานเทศกาลลาบเมือง 64 กำหนดจัดในวันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน 64 ณ ลานอเนกประสงค์ อุทยานการค้ากาดสวนแก้ว เริ่มตั้งแต่เวลา 12.00 น.เป็นต้นไป มีรายการบันเทิง นักร้องชื่อดังมาร่วมงานอย่างมากมาย เช่น ศิลปินระดับประเทศและล้านนา นำโดย บุญศรี รัตนัง ศิลปินแห่งชาติ, เดวิด อินธี, วิฑูรย์ ใจพรหม, ครูแอ๊ด ภาณุทัต, มุกดา ญาใจ, ครูเหมียว ธนภร, บุษบา ล้านนา และ ชาชา (น้องตุลย์) นอกจากนี้ยังมีการแสดงศิลปะพื้นเมืองจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยงานเปิดให้ชมฟรี ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่
**************
www.jupjib.com