พิธีหลวงในส่วนกลาง คงจะทราบดีจากสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ แต่พิธี และเรื่องราวบางประการที่พสกนิกรต่างจังหวัดควรทราบเกี่ยวกับงานพระราชพิธีนี้ยังมีอีกมาก จากการที่สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 ได้จัดบรรยายพิเศษโดยนายเชื้อพร รังควร ผู้ช่วยผู้บริหารงานในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนสุดา สิริโสภาพัณณวดี และ ดร.ชัชพล ไชยพร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬา และข้าราชบริพารในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เมื่อ 15 มีนาคมที่โรงแรมดิเอ็มเพรส เชียงใหม่มีหลายตอนน่าสนใจยิ่ง
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 กับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ประสูติเมื่อวันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน 2468 เวลา 12.55 น. ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาส ซึ่งอยู่เบื้องหลังของพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง ในหมู่มหามณเฑียร พระบรมมหาราชวังก่อนก่อนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จสวรรคตเพียงวันเดียว
เมื่อคณะแพทย์ระบุว่า พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี (พระนามเดิม “เครือแก้ว อภัยวงศ์” ครั้งยังทรงเป็นเจ้าจอมสุวัทนา จะมีพระประสูติการ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหฤทัยโสมนัสยิ่ง โปรดเกล้าฯให้จัดเตรียมประสูติการอย่างเต็มที่ แต่แล้วพระองค์ก็ทรงประชวร จากบาดแผลการผ่าตัดพระอันตะ(ไส้ติ่ง) และสวรรคตลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2468วันรุ่งขึ้นพระราชธิดาจึงถือประสูติกาล ...
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เริ่มการศึกษาที่พระตำหนักสวนหงส์ พอทรงเจริญพระวัยขึ้นได้ทรงพระอักษร ณ โรงเรียนราชินี และต่อที่สวนรื่นฤดี โดยพระวรราชเทวีทรงจ้างมิสซิสเดวีส์ อดีตครูโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยมาถวายพระอักษรวิชาภาษาอังกฤษ และการคำนวณ จนมีพระชนมายุย่างเข้า 13 พรรษา จึงเสด็จไปทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ พร้อมกับพระชนนี โดยรถไฟขบวนพิเศษไปปีนัง จากนั้นประทับเรือเดินสมุทรชื่อยุตแลนเดียต่อไปฝรั่งเศส ก่อนจะเสด็จไปอังกฤษ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเหตุการณ์ต่างๆ ในประเทศอยู่ในภาวะปกติ กอปรกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จนิวัติประเทศไทยแล้ว สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระชนนี จึงตัดสินพระทัยเสด็จนิวัตประเทศไทยเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2500
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2502 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเพิ่มพูนขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะการสืบสานพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และการแบ่งเบาพระราชภารกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทั้งยังทรงพระอุปการะและทรงอุปถัมภ์องค์กรสาธารณกุศลทุกแขนงไว้เป็นจำนวนมาก เช่นที่จังหวัดเชียงใหม่ทรงอุปถัมภ์โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย และปรินสรอยแยลส์วิทยาลัย ที่พระบรมชนกนาถทรงวางศิลาฤกษ์เปิดโรงเรียนไว้เมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จพระยุพราช นอกจากนั้นยังทรงบำเพ็ญพระองค์เป็นแบบอย่างอันดีงามแก่ประชาชน ทั้งด้านความเป็นไทย ความประหยัดมัธยัสถ์ เป็นต้น
นายเชื้อพร รังควร (รังคะวร) วิทยากรบรรยายถึงพระกรณียกิจในจังหวัดเชียงใหม่ว่า พระองค์พอพระราชหฤทัยมาก เสด็จมาเป็นประจำ ตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2502 โดยทางรถไฟ ทรงสนพระทัยศิลปวัฒนธรรมของภาคเหนือ และทรงไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายแห่ง เช่นเดียวกับการไปทรงงานช่วยเหลือคนยากไร้ในภาคใต้ตอนบน ก็ประทับรถไฟ เมื่อขบวนรถถึงสถานีใดก้มีพสกนิกรมารอเฝ้ารับเสด็จ ส่วนข้าราชบริพารที่ตามเสด็จ ก็นั่งนอนตามทางเดินนั่นเอง
ส่วน ดร.ชัชพล ไชยพร อธิบาย “งานพระราชทางเพลิงพระศพฯ เป็นงานใหญ่ พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงถือเป็นเทพเทวดา เมื่อสิ้นพระชนม์จึงจำลองพระเมรุเป็นเข้าพระสุเมรุ สถิตอยู่ในที่สูง และต้องมีโกศหรือภานชนะอย่างนั่ง ปกติศพทั่วไปเป็นศพนอน แต่เจ้าฟ้าเมื่อมีการกลับไปก็ไปอย่างเทวดา ไม่มีไม้ ไม่มีเหล็กอย่างที่พูดกันไปน่ากลัว สำหรับเขาพระสุเมรุ อยากเห็นเป็นอย่างไรมีภาพจำลองไว้ที่วัดพระธาตุหริภุญชัย ลำพูนนี่เอง งานพระสุเมรุถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ฉลุลาย ซ่อนไม้ ทำพระโศกอย่างงดงาม คนทั้งหลายมาช่วยกันทำสนองพระเดชพระคุณ สานงานศิลป์ แม้มหรสพต่างๆ ก้มีการสมโภช คนไทยจึงถือว่า..ไปที่ชอบ..คือสรวงสวรรค์ จึงมีการสมโภชอย่างใหญ่โต”
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเลื่อนฉัตรจากห้าชั้นเป็นเจ็ดชั้น สัตตปฏลเศวตฉัตร และวันที่ 8 เมษายน จะมีพิธีเชิญพระศพสู่พระมหาเวชยันต์ราชรถ สำหรับสมเด็จเจ้าฟ้า โดยใช้คนเดิน 6,000 คน ในจำนวนนั้นก็มีลูกเสือจากโรงเรียนปรินสรอลแยลส์วิทยาลัย ก็จะเข้าร่วมพิธีด้วย
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 16.37 นาฬิกา ณ ตึก 84 ปี โรงพยาบาลศิริราช สิริพระชันษา 85 พรรษา ข้าราชบริพารใกล้ชิดพระองค์ กล่าวว่า ความคิดของพระองค์ท่าน “ชอบทำดี เพื่อความดี ไม่ใช่เพื่อการป่าวร้อง” การที่ประชาชนจะไปยังวัด วางดอกไม้จันทน์ธรรมดา จะไม่มีความหมายอะไร แต่ถ้ามีการประชาสัมพันธ์ ก็จะมีความหมาย การจัดงานออกพระเมรุในครั้งนี้ พระองค์เป็นเทวดาที่มีชีวิต ใครทำงานกับพระองค์ท่าน เห็นประโยชน์งานทุกอย่าง รู้ว่าเจ้านายทำอะไร โดยผรุสวาทวาจาไม่เคยใช้ วาจาหยาบคายไม่เคยมี...
“พระองค์ท่านไปแล้ว แต่พระนามยังคงอยู่ องค์กรในพระอุปถัมภ์ยังคงอยู่ มูลนิธิเพชรัตน์-สุวัทนา ก็ยังอยู่สิ่งของพระราชทาน ก็ยังมีชื่อเดิมอยู่ สิ่งของไม่ได้ตกอยู่กับใคร ฉากชีวิตเจ้าหญิงพระองค์นี้ งดงามทั้งกาย วาจา และใจ” ดังนั้น วันที่ 9 เมษายน 2555 หากอยู่ส่วนกลางเชิญไปร่วมงานพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่หรือรับชมการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ต่างจังหวัดเช่นที่เชียงใหม่ ไปร่วมพิธีถวายดอกไม้จันทน์ เพื่อแสดงความอาลัยพระองค โดยพร้อมเพรียงกัน
เรื่อง/ภาพ โดย บุญญฤทธิ์ ตุลาพันธ์พงศ์