All online

วันอังคารที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ข่าว ; ทภ.3 เตรียมแผนบูรณาการลดปัญหาไฟป่าและหมอกควัน


กองทัพภาคที่ 3 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 9 จังหวัดภาคเหนือ แถลงแผนการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ประจำปีงบประมาณ 2561 เพื่อบูรณาการการปฏิบัติให้สามารถลดปริมาณฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือ

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 เวลา 09.00 น. พล.ท.สมพงษ์ แจ้งจำรัส แม่ทัพน้อยที่ 3 และรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาค ส่วนหน้า (ศอ.ปกป.ภาค สน.) เป็นประธานการประชุมแถลงแผนการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ประจำปีงบประมาณ 2561 ที่สโมสรกาวิละ มทบ.33 ค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ สำนักงานป้องกันและสาธารณภัยจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตำรวจ และหน่วยงานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจาก 9 จังหวัดภาคเหนือ เข้าร่วมการประชุม

แม่ทัพน้อยที่ 3 และรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาค ส่วนหน้า (ศอ.ปกป.ภาค สน.) กล่าวว่า ในช่วงหน้าแล้ง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงเมษายน ของทุกปี มักพบการเพิ่มสูงขึ้นของฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยของประชาชน ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ กระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจของพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจการท่องเที่ยว ทั้งนี้ จากการบูรณาการของทุกภาคส่วน ส่งผลให้สถานการณ์หมอกควันภาคเหนือคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในปีงบประมาณ 2560 ซึ่งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัด อำเภอ และชุมชน ได้บูรณาการการแก้ไขปัญหาและระดมสรรพกำลัง งบประมาณ และอุปกรณ์เครื่องมืออย่างเต็มที่ ส่งผลให้จำนวนจุดความร้อนลดลงกว่าร้อยละ 40 ซึ่งในปีงบประมาณ 2561 รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องเร่งด่วน จึงกำหนดให้การแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันเป็นวาระแห่งชาติ

แม่ทัพน้อยที่ 3 และรอง ผอ.ปกป.ภาค สน. กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทัพภาคที่ 3 ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทพภาคที่ 3 จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาค (ศอ.ปกป.ภาค) โดยมีแม่ทัพภาคที่ 3 เป็นผู้บังคับบัญชา มีภารกิจในการอำนวยการ ปฏิบัติการเฝ้าระวัง สั่งการ ควบคุม กำกับดูแล ทุกหน่วยงานในส่วนภูมิภาคและ 9 จังหวัดภาคเหนือ (ศอ.ปกป.จว.) เพื่อบูรณาการงานทุกภาคส่วน เข้าร่วมกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่รับผิดชอบ ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาค การวางแผน อำนวยการ ควบคุมและกำกับดูแลการปฏิบัติของชุดรณรงค์ป้องกันไฟป่าและหมอกควัน ทั้ง 14 ชุด และชุดดับไฟ 116 ชุด รวมทั้งอำนวยการและบูรณาการการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ร่วมกับศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับจังหวัด ในห้วงวันที่ 1 ธ.ค.60 - 30 เม.ย.61 ในการประสานงานกับหน่วยราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ รณรงค์สร้างจิตสำนึก ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ราษฎร ในการเฝ้าระวัง แจ้งเตือนการเกิดไฟป่าและป้องกัน มิให้เกิดไฟป่าขั้นรุนแรง

ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาค ส่วนหน้า (ศอ.ปกป.ภาค สน.) จะใช้กลไกประชารัฐ โดยทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และ อปท. ต้องเข้ามาร่วมมือกันแก้ไขปัญหาโดยมุ่งเน้นการรณรงค์สร้างจิตสำนึกและใช้การประชาสัมพันธ์ด้วยสื่อทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานีวิทยุในเครือข่ายของ ทภ.3 เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากไฟป่าและหมอกควัน รวมไปถึงวิธีการป้องกันและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมทั้งให้ประชาชนได้เตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวังตั้งแต่เริ่มต้น ผลลัพธ์ที่ต้องการคือ พื้นที่การเผาป่าลดน้อยลง ปัญหาหมอกควันลดระดับความรุนแรงลงจนไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อการคมนาคมทั้งทางบก และทางอากาศ

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของสำนักงานพัฒนาเทคโลโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ได้ประเมินสถานการณ์ จากสถิติจุดความร้อน (Hotspot) ในห้วงปี 2555-2560 และสถานการณ์ของสภาพอากาศในห้วง ปีงบประมาณ 2560 จึงคาดการณ์ได้ว่า จุดความร้อน (Hotspot) ในปีงบประมาณ 2561 มีแนวโน้มลดลงจากปี 60 โดยน่าจะมีจุดความร้อน (Hotspot) อยู่ที่ประมาณ 4,448 จุด หรือช่วงระหว่าง 3,559 – 5,338 จุด ทั้งนี้หากเปรียบเทียบการตรวจพบปริมาณฝุ่นละออง ในพื้นที่ 9 จังหวัด ภาคเหนือ ในช่วงเวลาเดียวกัน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 30 เม.ย. ของปี 59 และ ปี 60 เมื่อพิจารณาจำนวนวันที่ค่าฝุ่นละอองสูงเกินมาตรฐาน พบว่า 9 จังหวัดภาคเหนือ มีจำนวนวันที่ปริมาณฝุ่นละอองสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานสูงสุด คือ จังหวัดลำปาง จำนวน 25 วัน แต่ในปี 59 มีจำนวนวันที่ค่าฝุ่นละอองสูงเกินมาตรฐานสูงสุดคือ จว.ช.ร. จำนวน 38 วัน และในปี 60 ทุกจังหวัดมีจำนวนวันที่ค่าฝุ่นละอองสูงเกินมาตรฐานลดลงจากปี 59 ยกเว้น จังหวัดลำปาง มีจำนวนวันที่ค่าฝุ่นละอองสูงเกินมาตรฐานเพิ่มขึ้นจาก ปี 59 จำนวน 4 วัน หากเปรียบเทียบการตรวจพบ Hotspot ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ในช่วงเวลาเดียวกัน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 30 เม.ย. ของปี 59 และ 60 พบว่าในปี 60 เกิด Hotspot รวมทั้งหมดจำนวน 4,136 จุด แต่ในปี 59 เกิด Hotspot รวมทั้งหมดจำนวน 8,648 จุด ลดลง 4,512 จุด

******************
ส.ปชส.เชียงใหม่-ข่าว/ภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น