Banana

วันอังคารที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2567

ข่าว ; ศึกกอล์ฟสมัครเล่นหญิงแห่งภูมิภาค Women’s Amateur Asia-Pacific กำหนดดวลสวิงที่เวียดนามปี 2568


R&A หรือองค์กรกำกับดูแลกอล์ฟระหว่างประเทศ ร่วมกับสมาพันธ์กอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Golf Confederation -APGC) ประกาศเลือกสนาม Hoiana Shores Golf Club ในเมืองฮอยอัน ประเทศเวียดนาม เป็นสนามแข่งขันกอล์ฟสมัครเล่นหญิงรายการใหญ่ของภูมิภาคศึก Women’s Amateur Asia-Pacific หรือ WAAP ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 6-9 มีนาคม 2568

นับเป็นครั้งแรกที่เวียดนามได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกอล์ฟสมัครเล่นหญิงรายการ “วีเมนส์ อเมเจอร์ เอเชีย-แปซิฟิก”  ซึ่งเป็นเวทีสานฝันสู่การแข่งขันระดับโลกส่งนักกอล์ฟก้าวไปคว้าแชมป์ระดับเมเจอร์มาแล้วถึง 3 คน ได้แก่ ยูกะ ซาโสะ, ปภังกร ธวัชธนกิจ, อายากะ ฟูรูเอะ รวมถึงเคยขึ้นเป็นมือหนึ่งโลกอย่าง อาฒยา ฐิติกุล นักกอล์ฟสาวไทยที่เป็นแชมป์ดับเบิ้ลยูเอเอพีคนแรก


สำหรับสนามฮอยอันนา ชอร์ กอล์ฟ คลับ ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเล  นำเสนอทิวทัศน์ที่สวยงามของทะเลตะวันออกและเกาะจาม ถือเป็นสนามสุดท้าทาย ด้วยบททดสอบสำคัญสำหรับนักกอล์ฟคือลมทะเลและบังเกอร์ที่เป็นอุปสรรคสำคัญในช่วง 9 หลุมหลัง

มาร์ติน สลัมเบอร์ ซีอีโอของอาร์แอนด์เอ เผยว่า “กอล์ฟวีเมนส์ อเมเจอร์ เอเชีย-แปซิฟิก เป็นเวทีการแข่งขันระดับโลกสำหรับกับนักกอล์ฟสมัครเล่นหญิงชั้นนำได้แข่งขันในสนามกอล์ฟที่โดดเด่นมีชื่อเสียงที่สุดในภูมิภาค ทั้งนี้กีฬากอล์ฟกลายเป็นที่นิยมและเติบโตอย่างมากในเวียดนามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เรารู้สึกตื่นเต้นและเฝ้ารอวันที่จะได้นำรายการนี้มาจัดที่สนามฮอยอันนา ชอร์ กอล์ฟ คลับ ซึ่งเป็นสนามที่ยอดเยี่ยมและท้าทายสำหรับนักกอล์ฟ และรอว่าใครจะเป็นผู้ขนะในครั้งนี้และได้สิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันกอล์ฟระดับเมเจอร์ 3 รายการ”

ด้านไทมัวร์ ฮัสซัน อามิน ประธานสมาพันธ์กอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก เผยว่า “เรารู้สึกยินดีที่การแข่งขันกอล์ฟวีเมนส์ อเมเจอร์ เอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 7 ได้มาจัดแข่งขันที่ประเทศเวียดนามเป็นครั้งแรก ณ สนามกอล์ฟที่โดดเด่นอย่างสนามฮอยอันนา ชอร์ กอล์ฟ คลับ ทั้งนี้เวียดนามเป็นหนึ่งในตลาดกอล์ฟที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก และการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกอล์ฟดับเบิลยูเอเอพีจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของกีฬากอล์ฟในประเทศนี้ด้วย”

“ต้องขอขอบคุณพันธมิตรของเราอย่างอาร์แอนด์เอและสมาคมกอล์ฟเวียดนาม รวมถึงทีมผู้บริหารของฮอยอันนา ชอร์ที่ให้การสนับสนุนอย่างดีเยี่ยม ทำให้เรามั่นใจว่าการแข่งขันกอล์ฟวีเมนส์ อเมเจอร์ เอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเป็นเวทีแข่งขันของนักกอล์ฟชั้นนำของภูมิภาคในครั้งนี้จะเป็นสัปดาห์ที่น่าจดจำ” ประธานสมาพันธ์กอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวเพิ่มเติม

ขณะที่ วู เหงียน รองประธานและเลขานุการสมาคมกอล์ฟเวียดนาม กล่าวเสริมว่า “สมาคมกอล์ฟเวียดนามมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่การแข่งขันกอล์ฟวีเมนส์ อเมเจอร์ เอเชีย-แปซิฟิก จะจัดขึ้นในเวียดนามที่ฮอยอันนา ชอร์ ที่สวยงาม แม้การแข่งขันรายการนี้จัดขึ้นได้ไม่นานมาก แต่มีชื่อเสียงโด่งดังในการเป็นเวทีปั้นดาวสู่แชมป์ระดับโลก”

สำหรับการแข่งขัน วีเมนส์ อเมเจอร์ เอเชีย-แปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเป็นเวทีที่มอบโอกาสเปลี่ยนชีวิตให้กับนักกอล์ฟสมัครเล่นหญิงชั้นนำของเอเชีย โดยแชมป์จะได้รับเชิญเข้าร่วมแข่งขันรายการใหญ่ระดับเมเจอร์ 3 รายการ ได้แก่ เอไอจี วีเมนส์ โอเพ่น, อามุนดี เอวิยอง แชมเปี้ยนชิพ และ เซฟรอน แชมเปี้ยนชิพ รวมถึงรายการ ฮานา ไฟแนลเชียล กรุ๊ป แชมเปี้ยนชิพ และ ไอเอสพีเอ ฮานดะ วีเมนส์ ออสเตรเลียน โอเพ่น นอกจากนี้ยังได้รับสิทธิ์ร่วมแข่งขันกอล์ฟสมัครเล่นรายการวีเมนส์ อเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพ ครั้งที่ 122 และกอล์ฟสมัครเล่นรายการใหญ่อย่าง ออกัสต้า เนชั่นแนล วีเมนส์ อเมเจอร์

การแข่งขันกอล์ฟรายการวีเมนส์ อเมเจอร์ เอเชีย-แปซิฟิก แชมเปี้ยนชิพ จัดขึ้นจากความร่วมมือของอาร์แอนด์เอ และสมาพันธ์กอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อพัฒนาศักยภาพนักกอล์ฟสมัครเล่นในภูมิภาคก้าวสู่เวทีระดับโลกและเป็นเวทีที่มอบโอกาสสำคัญในการลงเล่นกอล์ฟรายการใหญ่ระดับเมเจอร์ 3 รายการ

กอล์ฟ วีเมนส์ อเมเจอร์ เอเชีย-แปซิฟิก แชมเปี้ยนชิพ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 ณ สนามฮอยอันนา ชอร์ กอล์ฟ คลับ ในเมืองฮอยอัน ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 6-9 มีนาคม 2568 โดยแชมป์รายการนี้จะได้สิทธิ์รับเชิญร่วมแข่งขันกอล์ฟเมเจอร์รายการ เอไอจี วีเมนส์ โอเพ่น และ อามุนดี เอวิยอง แชมเปี้ยนชิพ และเชฟรอน แชมเปียนชิพ รวมถึงรายการ ฮานา ไฟแนลเชียล กรุ๊ป แชมเปี้ยนชิพ, ไอเอสพีเอส ฮันดะ วีเมนส์ ออสเตรเลียน โอเพ่น, วีเมนส์ อเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพ ครั้งที่ 122 และได้รับสิทธิ์ร่วมแข่งขันกอล์ฟสมัครเล่นสตรีรายการใหญ่ ออกัสต้า เนชั่นแนล วีเมนส์ อเมเจอร์ หรือเอเอ็นดับเบิลยูเอ


ทำเนียบแชมป์ Women’s Amateur Asia-Pacific

ปี 2018 สนามเซนโตซ่า กอล์ฟคลับ, สิงคโปร์ แชมป์ได้แก่ อาฒยา ฐิติกุล (ไทย)

ปี 2019 สนามเดอะรอยัล กอล์ฟ คลับ, ญี่ปุ่น แชมป์ได้แก่ ยูกะ ยาสุดะ (ญี่ปุ่น)

ปี 2020(ไม่มีการแข่งขัน)

ปี 2021 สนามอาบูดาบี กอล์ฟ คลับ, ยูเออี แชมป์ได้แก่ มิซูกิ ฮาชิโมโต้ (ญี่ปุ่น)

ปี 2022 สนามสยามคันทรี คลับ, ไทย แชมป์ได้แก่ ฮวง ถิง-ชวน (ไชนีส ไทเป)

ปี 2023 สนามสิงคโปร์ ไอส์แลนด์ คันทรี คลับ, สิงคโปร์ แชมป์ได้แก่ แอลล่า แกลิทสกีย์ (ไทย)

ปี 2024 สนามสยามคันทรี คลับ, ไทย แชมป์ได้แก่ หวู่ ชุนเหวย (ไชนีส ไทเป)

อีกหนึ่งช่องทางการติดตามข่าว

https://www.blockdit.com/posts/66fbe9d06da83b28fdff0376

Reference

randa.org/WAAP

www.apgc.online

*****************

ข่าว ; “สุธีพัทธ์” นำรวดม้วนเดียวจบ คว้าแชมป์ หยางเต๋อ ทีพีซี ที่ไต้หวัน เมื่อ 29 กันยายน 2567

สุธีพัทธ์ ประทีปเธียรชัย หวดรอบสุดท้ายได้อีก 3 อันเดอร์พาร์ 69 จบด้วยสกอร์รวม 21 อันเดอร์พาร์ 267 คว้าแชมป์หยางเต๋อ ทีพีซี ที่สนามหลิงกั๋ว อินเตอร์เนชั่นแนล กอล์ฟ แอนด์ คันทรี คลับ ประเทศไต้หวัน เมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา โดยทำสกอร์ชนะ จอห์น แคทลิน จอมแกร่งจากสหรัฐฯ สองสโตรค

เอเชียน ทัวร์ จัดการแข่งขันกอล์ฟรายการ หยางเต๋อ ทีพีซี ชิงเงินรางวัลรวม 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 33 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 26-29 กันยายนที่ผ่านมา ณ สนามหลิงกั๋ว อินเตอร์เนชั่นแนล กอล์ฟ แอนด์ คันทรี คลับ ระยะ 7,108 หลา พาร์ 72 ประเทศไต้หวัน โดยมีนักกอล์ฟชาวไทยผ่านตัดตัวเข้ามาเล่นในสองวันสุดท้ายได้ 14 คน

ผลการแข่งขันปรากฎว่า โปรตี้-สุธีพัทธ์ ประทีปเธียรชัย ซึ่งทำสกอร์ขึ้นนำมาตลอด 3 วัน รอบสุดท้ายเก็บเพิ่มได้อีก 3 อันเดอร์พาร์ 69 จากการทำ 5 เบอร์ดี้ เสีย 2 โบกี้ จบด้วยสกอร์รวม 21 อันเดอร์พาร์ 267 คว้าแชมป์เอเชียน ทัวร์ เป็นรายการที่สองให้กับตัวเอง พร้อมรับเงินรางวัล 180,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6 ล้านบาท โดยมี จอห์น แคทลิน มือหนึ่งคะแนนสะสมออร์เดอร์ ออฟ เมอริต จากสหรัฐฯ ที่เร่งเครื่องหวดวันเดียวถึง 7 อันเดอร์พาร์ 65 แต่ไล่ไม่ทัน รั้งรองแชมป์ไปด้วยสกอร์รวม 19 อันเดอร์พาร์ 269

สุธีพัทธ์ โปรวัย 31 ปี ซึ่งคว้าแชมป์แรกในเอเชียน ทัวร์ ที่ไต้หวันเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เผยว่า “เกมวันนี้ยากมาก เพราะมีลมแรงและมีผู้เล่นหลายคนไล่จี้ผมอยู่ โดยเฉพาะแคทลินทำให้ผมหวั่นทีเดียว พอผมไปพลาดเสียสองโบกี้ติดที่หลุม 15-16 ก็พยายามนึกเสมอว่าตัวเองยังนำอยู่ และต้องเล่นต่อไป ชัยชนะครั้งนี้ทำให้ได้สิทธิเล่นเอเชียน ทัวร์ สองปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมและมีความหมายกับผมมาก ผมรักไต้หวันจริงๆ”

อันดับสามเป็นของ มิเกล ทาบัวน่า จากฟิลิปปินส์ ทำสกอร์รวม 18 อันเดอร์พาร์ 270 โดยมี ลี ชีห์-โป นักกอล์ฟเจ้าถิ่นตามมาที่อันดับ 4 ด้วยสกอร์ 17 อันเดอร์พาร์ 271 ขณะที่ผลงานผู้เล่นไทยคนอื่นอาทิ ปวิธ ตั้งกมลประเสริฐ รั้งอันดับ 5 สกอร์รวม 16 อันเดอร์พาร์ 272, สาริศ สุวรรณรัตน์ สกอร์รวม 14 อันเดอร์พาร์ 274 อยู่อันดับ 6 ร่วม, แดนไท บุญมา และ สดมภ์ แก้วกาญจนา สกอร์รวมคนละ 11 อันเดอร์พาร์ 277 รั้งอันดับ 16 ร่วม, อติรุจ วินัยเจริญชัย และ เศรษฐี ปรคองเวช สกอร์รวมคนละ 9 อันเดอร์พาร์ 279 อยู่อันดับ 23 ร่วม

อีกหนึ่งช่องทางการติดตามข่าว

https://www.blockdit.com/posts/66fbe29314ec1bc3066617ce

Reference

asiantour.com

*******************

คอลัมน์ ; “บนกรีนกอล์ฟ” หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ วันที่ 30 กันยายน - 4 ตุลาคม 2567

มาพบกับ “บนกรีนกอล์ฟ” โดย “ยล พัตเยี่ยม” ที่หน้ากีฬา “ไทยนิวส์” กันแล้ว.....การแข่งขันกอล์ฟการกุศลของ ชมรมกอล์ฟ นักเรียนนายสิบทหารบก รุ่นที่ 10/2520 เมื่อ 21 กันยายน 2567 สนามกอล์ฟ กฟผ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ เพื่อนพ้องญาติมิตร มาร่วมงานมากเกินจำนวนที่ตั้งเป้าไว้ แม้ว่าจะอยู่ในช่วงพายุฝนตกต่อเนื่อง แต่ทุกคนก็เดินหน้าต่อไปด้วยแรงศรัทธาในความเป็นเพื่อน นอกจากนั้นยังมีผู้ใหญ่และเพื่อนพ้องที่ไม่ได้มาร่วมกิจกรรม ให้การสนับสนุนทั้งเป็นเงินและของรางวัลจนทำให้ได้ของจับฉลากมากเกินจำนวนคน ต้องแจกกันสองรอบ ในขณะที่ฝ่ายจัดการแข่งขัน ซึ่งเป็นสมาชิกชมรมและครอบครัวรวมกว่า 40 คน มาจากทั่วทุกภาคของประเทศ ยังได้พบปะสังสรรค์ ท่องเที่ยวในพื้นที่ มีความสุขกันถ้วนหน้า ส่งเสริมการท่องเที่ยวของลำปางอีกทางหนึ่ง.....สรุปผลการแข่งขัน ชนะเลิศประเภททีม ได้แก่ทีม กองพลทหารช่าง รองชนะเลิศ ทีมกรมรบพิเศษที่ 5 ประเภทบุคคล ชนะเลิศ Overall Low Gross ได้แก่ พ.อ.เรวัช สายสวย ชนะเลิศ Overall Low Net ธนพ บุญพ่วง Flight A ชนะเลิศ  Low Gross ได้แก่ ร.อ.เอกวดินทร์ นาต๊ะ ชนะเลิศ Low Net คุณกิ๊ฟ Flight B ชนะเลิศ Low Gross ได้แก่ คุณกิตติพล ชนะเลิศ Low Net พ.ต.ท.กิตติพงษ์ กังวาลไกล รองชนะเลิศ Low Net พ.อ.ทินกร วงค์ศรี Flight C ชนะเลิศ Low Gross ได้แก่ พ.ท.เสรี มะลิวัลย์ ชนะเลิศ Low Net พ.อ.เรืองโรจน์ เสนาราง รองชนะเลิศ Low Net พ.ต.ยุทธศักดิ์  ขยันหา Flight Lady ชนะเลิศ Low Gross ได้แก่ วิจิตรา กิตติขจร ชนะเลิศ Low Net พรลิขิต มะลิวัลย์ และรางวัลบู้บี้ ได้แก่ สำรวม จิตระยนต์.....

ส่วนการแข่งขัน Chiang Mai Golf Festival 2024 นัดพิเศษ แชมป์ออฟเดอะแชมป์ เมื่อ 21 กันยายน 2567 สนามกัซซันเลกาซี่ กอล์ฟคลับ จ.ลำพูน สรุปผล Champion ชนะเลิศ ได้แก่ รุ่งวิทย์ พลดี รองอันดับ 1  Ryan Brooksbank รองอันดับ 2 ดิษฐวัฒน์ มั่นเกียรติยศ ชนะเลิศ Overall Low Gross ได้แก่ ชัยภัทร์ ณัฐสกุลพงษ์ Flight A ชนะเลิศ อภิวิชญ์ เปียจำปา รองอันดับ 1 Kim Jung Joon รองอันดับ 2 เอกอุทัย อุปะละกุล Flight B ชนะเลิศ ได้แก่ วีระพันธ์ จันทร์หอม รองอันดับ 1 ฉัตรชัย สื่อพานิชย์ รองอันดับ 2 กิตติฬัฒน์ เจนวรพจน์ Flight C ชนะเลิศ ได้แก่ บัญชา จำรูญวรกุล รองอันดับ 1 วสันต์ รังสีโสภณอาภรณ์ รองอันดับ 2 ปริทรรศน์ ล่องชูผล Flight Lady ชนะเลิศ ได้แก่ ชะนิตภา แลเช่อ รองอันดับ 1 ปานตะวัน ปาลี รองอันดับ 2 สุภานัน คำหลิ้ม Flight Senior ชนะเลิศ ได้แก่ สิทธิรัตน์ จรลธรรมรัตน์ รองอันดับ 1 วิชัย วิทยากรโกมล รองดับ 2 MARK ROBERTSON.....พบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดีครับ.....

ยล พัตเยี่ยม

yodsup@gmail.com