เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2567 ที่ห้องประชุมชั้น 15 อาคารเฉลิมพระบารมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดงานแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำปี 2567 และเนื้องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 65 ปี คณะแพทยศาสตร์ มช. เน้นย้ำถึงบทบาทและความก้าวหน้าในการเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันการแพทย์ชั้นนำของประเทศไทย พร้อมนำเสนอข้อมูลและความสำเร็จที่ผ่านมาในด้านต่าง ๆ และแนวทางการพัฒนาในอนาคต ภายใต้ความร่วมมือของ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ศูนย์ศรีพัฒน์ และ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ซึ่งสารถสำคัญที่มีการนำเสนอพอสังเขปดังนี้
ศ. (เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. ซึ่งเป็นประธานเปิดการแถลงข่าวและเป็นผู้นำในการเสนอข้อมูลที่น่าสนใจกล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ มช. มีผลงานเด่นที่สร้างความภาคภูมิใจทั้งในด้านวิชาการ การวิจัย และการให้บริการสุขภาพ อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศทางการแพทย์ในภาคเหนือ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาวิชาการ การวิจัย การผลิตบุคลากรทางการแพทย์ และการบริการสุขภาพ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนและสังคมในทุกมิติ โดยได้กำหนดทิศทางและแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ผ่านนโยบายหลักที่สำคัญ ได้แก่
การพัฒนาศักยภาพด้านการศึกษา โดยเสริมสร้างหลักสูตรแพทยศาสตร์ให้ทันสมัยและตอบสนองความต้องการของสังคม สนับสนุนการเรียนรู้แบบบูรณาการและใช้เทคโนโลยี AI ในการศึกษาการแพทย์ สร้างบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญและจริยธรรม ส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ ผลักดันงานวิจัยที่มีผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม เพิ่มโอกาสความร่วมมือด้านวิจัยในระดับนานาชาติผ่านศูนย์วิจัยระดับมาตรฐานโลก พัฒนานวัตกรรมที่ตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพของประชาชน ยกระดับคุณภาพการบริการทางการแพทย์ ปรับปรุงโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และศูนย์ศรีพัฒน์ ส่งเสริมศูนย์ความเป็นเลิศ (Centers of Excellence) ให้มีความทันสมัย
มีนโยบายการรักษาเฉพาะทางที่มีความซับซ้อนสูง และขยายบริการทางการแพทย์ให้เข้าถึงชุมชนในพื้นที่ห่างไกล ด้วยคุณภาพระดับมาตรฐานสากล ยกระดับชื่อเสียงของคณะแพทยศาสตร์ มช. สู่ระดับโลก พัฒนาความร่วมมือกับสถาบันการแพทย์ชั้นนำในต่างประเทศ เพื่อต่อยอดพันธกิจหลักทั้งการศึกษา การวิจัย และการบริการ
ในปี 2567 คณะแพทยศาสตร์ มช. ได้ขับเคลื่อนโครงการเชิงรุกต่าง ๆ ที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ การเปิดตัวเทคโนโลยีขั้นสูงทางการแพทย์ใหม่ในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ความสำเร็จของศูนย์วิจัยที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ การเพิ่มจำนวนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญผ่านโครงการพัฒนาบุคลากร และในปี 2568 จะมีแผนสร้างเครือข่ายด้านสุขภาพระดับภูมิภาคที่มีศูนย์กลางในเชียงใหม่ ผลักดันการวิจัยที่ต่อยอดเชิงพาณิชย์ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในระบบสาธารณสุข เพื่อขยายบทบาทของคณะแพทยศาสตร์ มช. ในฐานะผู้นำด้านสุขภาพของประเทศไทย และเดินหน้าสร้างความเป็นเลิศในทุกด้านเพื่อประโยชน์ของสังคมและประเทศชาติ
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวด้วยว่า จากการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้คณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้รับรางวัลแห่งความภาคภูมิใจและผ่านการรับรองมาตรฐานจากองค์กรต่างๆระดับนานาชาติ ที่สำคัญและที่น่าสนใจได้แก่
รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ Thailand Quality Class+ (TQC+ customer 2024) The Best Quality Leadership Award 2024 จากองค์กร European Society for Quality Research , รางวัล Certificate of Merit in Faculty Development 2024 , รางวัลนวัตกรรมการบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ปี 2023และ2024 , Thailand Social Award 2024 , รางวัลสถานศึกษาปลอดภัย ประจำปี 2567 ระดับดีเด่น , การรับรองมาตรฐาน HAIT level 2 ,การรับรองมาตรฐานสากล ด้านความ มั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ISO/IEC และ Nursing Quality Assessment Award (NQA Award) 2024 นับเป็นหลักฐานที่สร้างความมั่นใจในการเป็นโรงเรียนแพทย์ในดวงใจ ของคณะแพทยศาสตร์ มช.
ในขณะที่ รศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวถึงผลการปฏิบัติงานของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ในปี 2567 ว่า ได้ปรับปรุงพื้นที่ให้บริการของโรงพยาบาล โดยได้ปรับปรุงอาคารสุจิณฺโณ อาคารผู้ป่วยและอาคารที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หอผู้ป่วยสามัญ ชั้น 3,4,5,6,7,8,9,11 และหอผู้ป่วยพิเศษ ชั้น 12,13,14 อาคารสุจิณฺโณ , ห้องประชุมชั้น 15 สุจิณฺโณ , พิพิธภัณฑ์หลวงปู่แหวน “สุจิณฺโณ” , โถงชั้น 1 สุจิณฺโณ , ห้อง ICU ออร์โทปิดิกส์ ชั้น 4 ,
ศูนย์โรคทางเดินอาหาร ชั้น 2 , ห้องพิเศษ Palliative Care ชั้น 3 , ห้องผ่าตัดศัลยกรรมชั้น 2 อาคารผ่าตัด , ห้องผ่าตัดสูตินรีเวช ชั้น 3 , ห้องฉุกเฉิน One Stop Service , ห้องสวนหัวใจและหลอดเลือดและห้องเอ็มอาร์ไอหัวใจ , ปรับปรุงท่อแนวดิ่ง-ส่วนอาคารห้องงานระบบไฟฟ้า ดับเพลิง และห้องเก็บก๊าซทางการแพทย์และท่อลมขนส่ง 105 สถานี ทางโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มุ่งเน้นการเป็นโรงพยาบาลในดวงใจ เพื่อคุณภาพและการให้บริการที่เป็นเลิศระดับมาตรฐานสากล
ทางด้านศูนย์ศรีพัฒน์ โดย ผศ.นพ. กสิสิน กลั่นกลิ่น รองผู้อำนวยการศูนย์ศรีพัฒน์ ผู้แทน ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์ศรีพัฒน์ เปิดเผยว่า การให้บริการในปี 2567 ที่ผ่านมามีจำนวนเพิ่มขึ้น ได้แก่ การเพิ่มบริการคลินิกสูตินรีเวช เพิ่มบริการ O-shot PRP เพื่อฟื้นฟูสุขภาพและความมั่นใจของผู้หญิงด้วยเทคโนโลยี PRP (Platelet Rich Plasma) ,Wound Center เพิ่มบริการรักษาบาดแผลเรื้อรังด้วยเทคโนโลยี Vacuum Dressing ที่ช่วยเร่งกระบวนการหายของบาดแผล , Sleep Clinic เริ่มให้บริการ Home Sleep Test ซึ่งเป็นเครื่องมือตรวจการนอนหลับที่สามารถใช้งานได้ที่บ้าน เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ป่วย
สำหรับแผนการเพิ่มบริการใหม่ในปี 2568 ห้องผ่าตัด (Operating Room - OR) นำเสนอเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยลดความเสี่ยงระหว่างการผ่าตัด เช่น ระบบนำทางผ่าตัด (Surgical Navigation) หรือเครื่องมือที่มีความแม่นยำสูง, Wellness Center เพิ่มบริการที่ตอบโจทย์การดูแลรูปร่างและสุขภาพ ได้แก่ เทคโนโลยีกระชับสัดส่วน การฟื้นฟูภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อนสำหรับทั้งผู้หญิงและผู้ชาย , Resuscitation Unit วางแผนขยายพื้นที่ให้บริการสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน และจัดตั้ง ทีมฉุกเฉินเคลื่อนที่เร็ว เพื่อตอบสนองกรณีฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ แผนดังกล่าวมุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้ป่วยด้วยการใช้เทคโนโลยีและการบริการที่ทันสมัย
ในขณะที่ รศ.พญ.อรินทยา พรหมินธิกุล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ เปิดเผยว่า ผลงานตลอดการดำเนินงานระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 – 2568 ภายใต้ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ 4 ข้อ ได้แก่ ความเป็นเลิศด้านสุขภาพ การวิจัยและนวัตกรรม ความเป็นเลิศด้านบริการวิชาการ และความเป็นเลิศด้านการจัดการทรัพยากรและผลลัพธ์
สำหรับด้านความเป็นเลิศด้านสุขภาพ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการโดยที่มุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าเป็นสำคัญ และยกระดับการให้บริการให้มีมาตรฐานตามมาตรฐานสากล ตั้งศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุมีปริมาณผู้รับบริการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบให้ผู้ใช้บริการได้รับบริการที่ไม่ทั่วถึง มีระยะเวลาการรอตรวจนาน มีปัญหาตามจุดบริการต่างๆ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์จึงจัดตั้งศูนย์บริการผู้ป่วย หรือ Customer Service Center ขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกต่างๆแบบครบวงจร
ซึ่งภายในศูนย์บริการผู้ป่วยประกอบไปด้วย เจ้าหน้าที่เวชระเบียน เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ และพยาบาลวิชาชีพ โดยจะทำหน้าที่ให้ข้อมูลต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการ ลงทะเบียนตรวจ ออกใบนัดตรวจ รับข้อร้องเรียนการให้บริการ ประสานงานเรื่องในกรณีคนไข้ที่ไม่สะดวกเดินทางมาโรงพยาบาล เช่น ส่งยาทางไปรษณีย์ เจาะเลือดที่บ้าน (Mobile LAB) และเยี่ยมคนไข้ที่บ้าน (Home visit) รวมไปถึงคัดกรองอาการของผู้รับบริการเพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับการดูแลที่ทั่วถึง สะดวกสบาย รวดเร็วและเข้าถึงการบริการมากยิ่งขึ้น
สามารถทำการติดต่อสอบถามได้ทั้งโทรศัพท์ ข้อความเฟสบุ๊ค และแอปพลิเคชันไลน์ ยกระดับการให้บริการให้มีมาตรฐานสากล ผ่านการรับรองมาตราฐาน HA ขั้น 3 อาคารเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ , ผ่านการรับรองจาก สรพ. โปรแกรมการดูแลภาวะทางเดินหายใจ การอุดกั้นขณะหลับ (OSA) (ศูนย์วิเคราะห์สุขภาพการนอนหลับ) ,ผ่านการรับรองการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลเฉพาะโรค หรือเฉพาะระบบคลินิคเบาหวานครบวงจรสําหรับผู้สูงอายุ (PDSC DM) ,ผ่านการรับรองมาตรฐานสุขาภิบาลอาหาร SAN Plus “สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน”
มาตรฐานสุขาภิบาลอาหารภายใต้วิถีใหม่แบบยกระดับรับรองโดยสำนักงานสาธารณสุข จังหวัดเชียงใหม่ ,ห้องปฏิบัติการผ่านการรับรองความสามารถตามมาตรฐาน ISO 15190: 2020 และ ISO 15190: 2003 จากสำนักมาตรฐาน ห้องปฏิบัติการ กระทรวงสาธารณสุข ,ผ่านการเยี่ยมสำรวจขององค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมโรงพยาบาล ระบบยาและงานเภสัชกรรม จากสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย)
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ดำเนินการตามวิสัยทัศน์ในการผลิตบัณฑิตแพทย์ สร้างสรรค์งานวิจัย และดูแลผู้ป่วยด้วยมาตรฐานสากล ตลอด 65 ปี ที่จะมุ่งมั่นในการเป็นโรงเรียนแพทย์ในดวงใจ เพื่อยกระดับสุขภาวะของมวลมนุษยชาติด้วยความเป็นเลิศทั้งการศึกษา การวิจัย และการบริการ ภายใต้เกณฑ์รางวัลคุณภาพระดับมาตรฐานสากล
อีกหนึ่งช่องทางการติดตามข่าว
https://www.blockdit.com/posts/676e9131c1f9661c7e691a1e
*******************