All online

วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ข่าว ; ยันรณรงค์ลดบุหรี่ไม่ได้ล้มเหลว เพราะหากไม่รณรงค์จะมีผู้สูบมากกว่านี้


เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ยืนยันว่าการที่จำนวนผู้สูบบุหรี่ในเมืองไทยไม่ลดลงนั้น การรณรงค์ลดการสูบบุหรี่ไม่ได้ล้มเหลว แต่หากไม่มีการรณรงค์จะมีคนสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นมากกว่านี้

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่เปิดเผยว่า ในวันงดสูบบุหรี่โลกที่เพิ่งผ่านไป ได้มีสื่อมวลชนถามคำถามมากที่สุดคือ ทำไมรณรงค์กันมาตั้งนานแล้ว แต่จำนวนคนสูบบุหรี่จึงยังคงมีมากอยู่ อีกทั้งวัยรุ่นและผู้หญิงก็สูบกันมากขึ้น โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าการรณรงค์ลดการสูบบุหรี่ล้มเหลว ทำให้รัฐสูญเงินเปล่านั้น หากมองเฉพาะจำนวนผู้สูบบุหรี่ก็อาจเข้าใจเช่นนั้นได้ เพราะเมื่อกว่า 20 ปีก่อน จำนวนคนไทยที่สูบบุหรี่มีประมาณ 11-12 ล้านคน และจากการสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2552 ก็มีคนไทยที่สูบบุหรี่ประมาณ 12 ล้านคน คล้ายกับว่ารณรงค์มายี่สิบปีจำนวนคนสูบบุหรี่ยังเท่าเดิม การทำงานไม่ได้ผล

เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่กล่าวว่า ในความเป็นจริง หากไม่มีการรณรงค์หรือรณรงค์ไม่ได้ผล เชื่อว่าจำนวนคนไทยที่สูบบุหรี่ในขณะนี้จะมี 16-17 ล้านคน หากเทียบกับการเพิ่มขึ้นของประชากร กล่าวคือ อัตราการสูบบุหรี่ในเพศชายร้อยละ 60 เมื่อยี่สิบปีก่อน ขณะนี้ลดลงมาเป็นร้อยละ 40 ส่วนเพศหญิงเดิมร้อยละ 5 เหลือเพียงร้อยละ 3 ในขณะที่บุคลากรด้านการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่มีจำนวนน้อยมาก อีกทั้งประเทศไทยก็ใช้งบประมาณน้อยในการสนับสนุนการรณรงค์ลดการสูบบุหรี่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข และ สสส. ใช้เงินรวมกันไม่ถึง 200 ล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ย 3 บาท ต่อหัวประชากรต่อปี เทียบกับสหรัฐอเมริกา ที่ศูนย์ควบคุมโรคกลางแนะนำให้รัฐต่าง ๆ ใช้งบประมาณ 12.34 ดอลลาร์ต่อหัวประชากรต่อปี หรือคิดเป็น 376 บาทต่อหัวประชากรต่อปี 

นอกจากนั้น การรณรงค์ควบคุมการสูบบุหรี่ในเมืองไทยเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยมีสาเหตุมาจากปัจจัย 3 ประการคือ บุหรี่เป็นสิ่งเสพติดที่มีอำนาจการเสพติดเทียบเท่าเฮโรอีน คนไทยที่ติดบุหรี่จะมีเพียง 3 ใน 10 คนเท่านั้นที่เลิกได้ ที่เหลือติดไปจนเสียชีวิต ประการที่ 2 ความพยายามทุ่มเทกลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัทบุหรี่ในการหาลูกค้าใหม่ที่เป็นเยาวชน มาทดแทนผู้สูบที่เลิกสูบหรือเสียชีวิต และประการที่ 3 บริษัทบุหรี่รวมทั้งโรงงานยาสูบไทย พยายามขัดขวางมาตรการควบคุมยาสูบที่เสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข เช่นการคัดค้านการขึ้นภาษี คัดค้านการพิมพ์คำเตือนขนาดใหญ่ขึ้น คัดค้านการห้ามใช้สารปรุงแต่งที่ล่อให้คนสูบ เช่น เมนทอล สำหรับประเทศไทย นอกจากการสนับสนุนด้านงบประมาณในการควบคุมยาสูบน้อยแล้ว การบังคับใช้กฎหมายควบคุมการตลาดของบริษัทบุหรี่ และกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ก็ยังมีการละเลย จึงทำให้ยังมีคนไทยสูบบุหรี่ 12 ล้านคน และจะยังมีเช่นนี้อีกต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น