กรมสุขภาพจิตเตรียมสำรวจอุณหภูมิใจของคนไทยทั่วประเทศ เดือนกรกฎาคม 2554 โดยพื้นที่ภาคเหนือกำหนดสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เชียงใหม่ เชียงราย พะเยาและพิจิตร ระบุระยะนี้คนไทยมีความเครียดลดลงต่อเนื่อง
นายทวี ตั้งเสรี รองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสุขภาพจิตแจ้งว่า กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขได้สำรวจความเครียดของคนไทยรายไตรมาสภายใต้ชื่อ “การสำรวจอุณหภูมิใจของคนไทย” โดยสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในผู้ที่มีโทรศัพท์บ้าน 16 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร จังหวัดละ 210 คน รวม 4,200 คน เก็บข้อมูลทุก 3 เดือนคือ มกราคม เมษายน กรกฎาคม และตุลาคม ของทุกปี ซึ่งในเดือนกรกฎาคม 2554 นี้ กำหนดดำเนินการระหว่าง 4-10 กรกฎาคม 2554 ในทุกพื้นที่ของประเทศประกอบด้วย
กรุงเทพมหานคร และตัวแทนของแต่ละภาคคือ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และพิจิตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา อุบลราชธานี มหาสารคาม และสกลนคร ภาคกลาง จังหวัดปทุมธานี สระบุรี ราชบุรี และระยอง ภาคใต้ จังหวัดภูเก็ต สุราษฎร์ธานี สตูล และนครศรีธรรมราช โดยการสัมภาษณ์จะใช้เวลา 3-7 นาที ในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ความเครียด สาเหตุและวิธีแก้ไข พลังสุขภาพจิต และความมีคุณค่าในตนเอง ซึ่งผู้สัมภาษณ์เป็นพยาบาล นักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์จากโรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิต ผลสำรวจที่ได้จะนำไปใช้เป็นข้อมูลในการส่งเสริม ป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของประชาชน และเผยแพร่ผ่านหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งเว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต จึงขอให้ประชาชนที่ได้รับการติดต่อ ได้ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลและตอบข้อซักถาม เพื่อกรมสุขภาพจิตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้นำไปใช้เป็นประโยชน์ในการดูแลสุขภาพจิตของประชาชนโดยส่วนรวมต่อไป
สำหรับสถานการณ์ความเครียดของคนไทย จากรายงานของกลุ่มงานระบาดวิทยาสุขภาพจิต สำนักสุบภาพจิตสังคม กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พบว่าปัจจุบันมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 11.7 เมื่อเดือนเมษายน 2552 ขึ้นไปสูงสุดถึงร้อยละ 16.3 เมื่อเดือนมกราคม 2553 แล้วลดลงเป็นร้อยละ 7.8 ในเดือนตุลาคม 2553 ต่อมาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแล้วลดลงเป็นร้อยละ 7.3 เมื่อเดือนเมษายน 2554 ทั้งนี้ สาเหตุความเครียดของคนไทยที่พบมากประกอบด้วยปัญหาการเงิน ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว ปัญหาการทำงาน และปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์สังคมที่เกิดขึ้น
กรมสุขภาพจิตรายงานด้วยว่า ความเครียดถือเป็นเรื่องปกติของคนทุกเพศทุกวัยไม่เว้นแม้แต่เด็กเล็กๆ เพียงแต่ทุกคนต้องมีสติ ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ก็จะสามารถฟันฝ่าปัญหาไปได้ ไม่ว่าจะประสบปัญหาหรือเหตุการณ์รุนแรงเพียงใด ก็จะสามารถปรับตัวไม่ให้มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตประจำวันของตนเองและครอบครัว ผู้สนใจสามารถสืบค้นรายละเอียดข้อมูลด้านสุขภาพจิตเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข www.dmh.go.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น