Banana

วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2561

ข่าว ; ติดตามผล 51 วันไม่เผา เพื่อเชียงใหม่ไร้หมอกควัน

จังหวัดเชียงใหม่ ประชุมติดตามผลการดำเนินงานช่วง "51 วันไม่เผา เพื่อเชียงใหม่ไร้หมอกควัน" ผ่านมา 4 วัน ยังอยู่ในภาวะปกติ แต่ต้องเฝ้าระวังในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ขณะที่ รองผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ขอให้แต่ละอำเภอใช้สรรพกำลังให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ย้ำอย่าคิดว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ แล้วปล่อยให้เกิดไฟลุกลาม

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2561 นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานศูนย์อำนวยการสั่งการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ครั้งที่ 5/2561 ที่ ห้องศูนย์อำนวยการสั่งการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยประชุมทางไกล Video Conference ไปยังทั้ง 25 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามผลการดำเนินงานและสามารถแจ้งปัญหาอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าของแต่ละพื้นที่ช่วงเริ่มมาตรการ "51 วันไม่เผา เพื่อเชียงใหม่ไร้หมอกควัน" ซึ่งสถานการณ์หมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่ ค่า PM 10 ไม่เกินค่ามาตรฐาน เฉลี่ยแล้วตั้งแต่วันที่ 1 – 4 มีนาคมที่ผ่านมา ยังอยู่ในภาวะปกติ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังในพื้นที่อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ เตือนประชาชนให้เฝ้าระวังในช่วงวันที่ 8 - 9 มีนาคม 2561 มวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน จะก่อให้เกิดพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง หรืออาจมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่ อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินได้ แต่อาจจะเป็นผลดีต่อการลดมลพิษและคลายความร้อนได้บางส่วน โดยสภาพอากาศโดยรวมในภาคเหนือจะมีลักษณะอากาศค่อนข้างร้อนอบอ้าว อุณหภูมิจะสูงขึ้นระหว่าง 35 – 40 องศาเซลเซียส ซึ่งประชาชนควรติดตามพยากรณ์อากาศอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ คณะทำงานศูนย์อำนวยการสั่งการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่ ได้ทำหนังสือสั่งการไปยังอำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ในการเพิ่มการตรวจสอบมาตรการการก่อสร้างให้มีการปิดคลุมให้มิดชิด และสอดส่องดูแลพื้นที่เสี่ยงที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองในอากาศ รวมทั้งให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจควันดำที่มีค่าเกิดมาตรฐานห้ามวิ่งในเขตอำเภอเมือง เพื่อช่วยให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กตามจุดต่างๆ ลดลง

รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปีเป็นช่วงที่มีปัญหาหนักที่สุด โดยย้ำให้แต่ละอำเภอนำสถิติมาประกอบในการวางแผนปฏิบัติงาน จุดใดเป็นจุดเสี่ยงต่อการเกิดไฟหรือจุดควรเฝ้าระวังต้องให้ความสำคัญ พร้อมทั้งให้ใช้สรรพกำลังให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เช่น การนำกำลัง อปพร. สนับสนุนในการลาดตระเวน เป็นต้น รวมทั้งต้องประสานกับกำนันผู้ใหญ่บ้านในชุมชนสอดส่องและเฝ้าระวังคนในพื้นที่ที่หาของป่าเป็นพิเศษ อย่าคิดว่าการเกิดไฟเป็นเรื่องของธรรมชาติ แล้วก็ปล่อยให้เกิดเหตุเป็นวงกว้างขึ้น หากพบเห็นให้รีบนำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุแล้วทำการดับไฟอย่างรวดเร็วที่สุด

******************
ส.ปชส.เชียงใหม่-ข่าว/ภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น